ในทางธรรม ชะตากรรมหมายความว่าอย่างไร
คำว่า ชะตากรรม มีพบเห็นบ่อยๆ อยากทราบว่าในทางธรรม คำว่าชะตากรรม หมายความว่าอย่างไร มีกล่าวไว้ในหลักฐานบาลีใดบ้าง
กรุณาด้วยครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กรรม หมายถึง เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิต ที่แสดงออกมาทางกาย วาจา หรือ ทางใจ ก็ชื่อเป็นกรรม ส่วน ชะตากรรม เป็นคำที่บัญญัติขึ้นของชาวโลก ไม่ได้มีแสดงในพระธรรมที่พระุพทธเจ้าทรงแสดง แต่ชาวโลกมุ่งหมายถึง ชะตากรรม คือ การจะได้รับผลที่ดี หรือ ไม่ดี ซึ่งในทางพระพุทธศาสนา คือ เป็นเรื่องของวิบาก คือ ผลของกรรม
สำหรับวิบาก ก็ได้แก่ ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทำสัมผัสทางกาย ตลอดจนถึงขณะที่หลับสนิท กล่าวว่าเป็นวิบาก ซึ่่งก็คือ จิต และเจตสิกธรรม เกิดขึ้นเป็นการรับผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว นั่นเอง วิบากทั้งหมด ต้องมาจากเหตุ คือ กรรมที่กระทำแล้ว ทั้งหมด
เพราะฉะนั้น ชะตากรรม ก็เป็นเรื่องของวิบากในพระพุทธศาสนา จึงไม่มีใครจะไปกำหนดชะตากรรม แต่เป็นไปตามเหตุที่ทำมา และ กรรมในปัจจุบันที่เป็นเหตุในปัจจุบันเป็นสำคัญด้วย ครับ
การรู้เรื่องกรรมและผลของกรรม ย่อมทำให้รู้ความจริงว่า เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องร้าย หรือ เรื่องดีก็ตาม ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หรือไม่ได้เกิดขึ้นเพราะผู้อื่นเป็นผู้กระทำให้ แต่แท้ที่จริงแล้ว เกิดขึ้นเพราะตัวเราเอง เป็นผู้กระทำเหตุไว้แล้ว เหตุ ก็คือ กุศลกรรม และ อกุศลกรรม อาจจะเป็นเหตุในชาตินี้ หรือเป็นเหตุในอดีตชาติที่ผ่านๆ มา ก็ได้ ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะล่วงรู้ได้เลย
ความเป็นผู้มีปัญญาเข้าใจอย่างนี้ ย่อมจะทำให้เป็นผู้มีความมั่นคงในเรื่องกรรมและผลของกรรม อันจะเป็นเหตุทำให้กุศล (ความดี) ประการต่างๆ เจริญขึ้นในชีวิตประจำวันได้ กล่าวได้ว่า เป็นการสะสมเหตุใหม่ที่ดี หลีกเลี่ยงจากเหตุที่จะทำให้จิตใจเดือดร้อนในภายหลัง ครับ.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กรรม จำแนกบุคคลให้ต่างกันตั้งแต่เกิด คือ ต่างกันด้วยกำเนิด ชาติ ตระกูล ยศ ทรัพย์สมบัติเป็นต้นและ กรรมที่ได้สะสมมาทั้งในอดีต และ ในปัจจุบันชาติ นั้น ก็มีมากมายหลากหลายนับไม่ถ้วน, การเกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกุศลกรรม คือ กรรมใดกรรมหนึ่ง ที่ได้กระทำแล้วในอดีต และในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น ถ้ากรรมใดมีโอกาสให้ผล กรรมนั้นก็ให้ผล แล้วแต่ว่าจะเป็นโอกาสของกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรม
ควรอย่างยิ่งที่จะเข้าใจในเหตุและผล ว่า กรรมที่ดี ย่อมเป็นเหตุ ให้ได้รับผลที่ดี กรรมชั่วย่อมเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ไม่ดี โดยไม่มีใครทำให้เลย
บรรดาสิ่งที่ดีทั้งหลายที่ได้รับในชีวิตของแต่ละบุคคล ย่อมมาจากเหตุ คือ กรรมดี ที่ได้กระทำแล้ว นั่นเอง เหตุที่ดีย่อมให้ผลที่ดีเท่านั้น ส่วนเหตุที่ไม่ดี จะทำให้เกิดผลที่ดีเป็นไปไม่ได้เลย จิตใจที่ดีย่อมเป็นเหตุให้เกิดการกระทำที่ดีทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ ซึ่งจะเป็นเหตุที่ทำให้เกิดผลที่ดีในกาลต่อไป
เมื่อมีความเข้าใจถูกตามความเป็นจริงอย่างนี้ ก็ย่อมจะมีความเพียรในการขจัดขัดเกลากิเลสของตนเอง ด้วยการเจริญกุศลทุกประการเท่าที่จะมีโอกาส และความสามารถที่จะกระทำได้ตามเหตุตามปัจจัย โดยไม่ต้องไปคำนึงถึงคำว่า ชะตากรรม แต่ขอให้ตั้งใจเป็นคนดี และศึกษาพระธรรมให้เข้าใจครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...