การไหว้บุคคล (รวมถึงการไหว้สวัสดีบุคคลด้วย)

 
Thawesak
วันที่  18 มิ.ย. 2557
หมายเลข  25000
อ่าน  4,663

ผมได้อ่านกระทู้ในเว็บนี้ เกี่ยวกับเรื่องการไหว้มาพอสมควร ก็พอจะเข้าใจบ้างแล้วว่าเราควรไหว้บุคคลที่อาวุโสกว่า เคารพในความอาวุโส ในสังคมที่ผมอยู่ต้องพบปะกับผู้ใหญ่หน้าเดิมๆ กันตลอด ผมมีข้อสงสัยเพิ่มดังนี้

1. บุคคลหรือผู้อาวุโสบางคนไม่รับไหว้เรา หรือไม่เต็มใจรับไหว้เรา ด้วยการแสดงอาการหยิ่ง หรือแสดงอาการรังเกียจเรา หรืออาการที่ไม่ดีอื่นใดก็ตาม เราควรจะต้องไหว้สวัสดีต่อไปหรือไม่ เพราะสถานการณ์เช่นนี้ เสี่ยงต่อการเกิดอกุศลจิตของทั้งผู้ไหว้และผู้รับไหว้ คือผู้รับไหว้ก็หยิ่ง ผู้ไหว้ก็ไม่สบายใจ

2. บุคคลหรือผู้อาวุโสผู้มีความประพฤติไม่ดี หรือไม่ดีมากๆ หรือทำร้ายเราด้วยกาย วาจา หลายๆ ครั้ง เราควรต้องไหว้และสวัสดีต่อไปหรือไม่ เพราะการไหว้และการสวัสดี มันคือการที่เราไปยุ่งกับบุคคลเหล่านั้นก่อน และก็เป็นเหตุให้บุคคลเหล่านั้นมายุ่งกับเราอีก ถ้าเราไม่ไปไหว้ ไม่ไปสวัสดี และเลี่ยงห่างออกไปให้ไกลจากบุคคลเหล่านี้ไม่ดีกว่าหรือ ถึงจะเป็นผู้อาวุโสกว่าเราก็ตาม

ข้อสังเกตเพิ่มเติม

1. การไม่ไหว้ผู้ใหญ่บางคน ก็ไมได้ผิดศีลหรือผิดคุณธรรมอะไรที่ร้ายแรงนี่ครับ

2. เคยได้ยินข้อความจากท่านอาจารย์สุจินต์ว่า เราควรออกห่างจากคนพาลให้ไกลที่สุด การไม่เข้าไปไหว้และสวัสดีนั่นอาจจะดีกว่า

3. ผู้ใหญ่ที่ดีโดยทั่วไปแล้ว ควรจะต้องรับไหว้ใช่หรือไม่ครับ คือการรับไหว้ก็ควรจะต้องทำเช่นกันใช่ไหมครับ

4. เท่าที่ผมได้ได้ศึกษามา ไม่มีข้อบัญญัติในพระไตรปิฎกที่ระบุชัดว่า บุคคลต้องไหว้บุคคลที่อาวุโสกว่า เหมือนกับว่าคนไทยนำมาประยุกต์ใช้กันเองตามประเพณีไทย (ข้อความนี้ถ้ามีส่วนใดผิดต้องขออภัยด้วยครับ)

5. แม้แต่พระภิกษุ ถึงจะมีบทบัญญัติเรื่องการไหว้ แต่ก็ยังมีข้อยกเว้น ไม่ไหว้พระภิกษุผู้กระทำผิดพระวินัยบางประการที่กำหนด การไหว้บุคคลที่ถึงแม้จะอาวุโสกว่าก็น่าจะมีข้อยกเว้นด้วย ไม่ใช่ไหว้ทุกคนที่อาวุโสหรืออายุมากกว่าเรา

ขอบคุณและขออนุโมทนากับทุกความเห็นนะครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 18 มิ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การไหว้ ในพระไตรปิฎกมี 2 อย่าง คือ ไหว้ด้วยกาย และไหว้ด้วยใจ การไหว้ หรือ การกราบ มีได้เพราะอาศัย จิต เจตสิกและรูปที่เกิดขึ้น การไหว้ มีได้ทั้งที่เป็นกุศลจิตและอกุศลจิตครับ ที่เป็นกุศลจิตก็ด้วยการเคารพในพระคุณของผู้นั้น หรือ ด้วยอกุศลก็เพราะความกลัวบุคคลนั้นจึงไหว้ หรือ เพราะต้องการประจบ เป็นต้น การไหว้จึงมี 4 อย่าง ดังนี้ครับ

[เล่มที่ 17] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 330

ก็การพนมมือไหว้นั้นมีอยู่ ๔ อย่าง คือ (ถวายมือ) เพราะเป็นญาติ เพราะความกลัว เพราะเป็นอาจารย์ และเพราะเป็นทักขิไณยบุคคล.

1. บุคคลหรือผู้อาวุโสบางคนไม่รับไหว้เรา หรือไม่เต็มใจรับไหว้เรา ด้วยการแสดงอาการหยิ่ง หรือแสดงอาการรังเกียจเรา หรืออาการที่ไม่ดีอื่นใดก็ตาม เราควรจะต้องไหว้สวัสดีต่อไปหรือไม่ เพราะสถานการณ์เช่นนี้ เสี่ยงต่อการเกิดอกุศลจิตของทั้งผู้ไหว้และผู้รับไหว้ คือผู้รับไหว้ก็หยิ่ง ผู้ไหว้ก็ไม่สบายใจ

@ ทุกอย่าง ถูกต้อง ไม่ถูกต้อง สำคัญที่จิตเป็นสำคัญ คือ กุศลจิตถูกต้อง อกุศลจิตไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ไม่ไหว้ด้วยอกุศลจิตก็ไม่ถูกต้อง และ ไหว้ด้วยอกุศลจิตก็ไม่ถูกต้อง แต่ ไหว้ด้วยกุศลจิตก็ถูกต้อง และ ไม่ไหว้ด้วยกุศลจิตที่คิดเมตตา เพราะจะทำให้คนอื่นเกิดอกุศลมาก เพราะฉะนั้น สิ่งใดควรไม่ควร ก็สำคัญที่จิตเป็นสำคัญ ตามที่กล่าวมา เพราะ หากมีเจตนาไหว้ที่ดี หากไม่ถึงกับคนอื่นเกิด อกุศลจิตมาก ก็ควรไหว้ตามอาวุโส เพราะ เคารพในความเป็นผู้ใหญ่ แต่อย่างไรก็ดี ก็ต้องพิจารณาที่จิตเป็นสำคัญตามที่กล่าวมา


2. บุคคลหรือผู้อาวุโสผู้มีความประพฤติไม่ดี หรือไม่ดีมากๆ หรือทำร้ายเราด้วยกาย วาจา หลายๆ ครั้ง เราควรต้องไหว้และสวัสดีต่อไปหรือไม่ เพราะการไหว้และการสวัสดี มันคือการที่เราไปยุ่งกับบุคคลเหล่านั้นก่อน และก็เป็นเหตุให้บุคคลเหล่านั้นมายุ่งกับเราอีก ถ้าเราไม่ไปไหว้ ไม่ไปสวัสดี และเลี่ยงห่างออกไปให้ไกลจากบุคคลเหล่านี้ไม่ดีกว่าหรือ ถึงจะเป็นผู้อาวุโสกว่าเราก็ตาม

@ โดยนัยเดียวกัน ไม้ไหว้เพราะอะไร เพราะอกุศลจิต ก็ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เรื่องจิตใจเป็นเรื่องละเอียด ไม่สามารถตัดสินเพียงการกระทำภายนอก แต่ หากเป็นผู้มีความเมตตา ให้อภัย ก็สามารถไหว้บุคคลนั้น แม้จะทำไม่ดีกับเรา เพราะ จิตเป็นกุศลขณะนั้น ก็ถูกต้องด้วยกุศลจิตเป็นสำคัญ ครับ เพราะฉะนั้น พิจารณาถูกต้องไม่ถูกต้อง ก็ดูที่จิตใจของตนเองเป็นสำคัญ ครับ

สิ่งที่น่าพิจารณาคือว่า

แม้แต่เพศคฤหัสถ์ แต่ละคนก็มีอุปนิสัยแตกต่างกัน มีทั้งดีมาก ดีน้อย ก็มีมากมาย แต่เราก็สามารถกราบไหว้ ที่บุคคลนั้นเป็นผู้ใหญ่กว่าเรา แต่เราไม่ได้กราบไหว้ เคารพในความไม่ดีของเขา ที่เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ไม่เช่นนั้น เราก็ไม่ต้องไหว้ คนในโลกนี้ ที่เป็นคฤหัสถ์ที่ต่างสะสมกิเลสมามากและก็มีส่วนที่ไม่ดี สะสมมา และ ทำผิดบ้างเป็นธรรมดา ครับ ดังนั้น กุศลจิตก็เกิดได้ ไม่ว่าพบปะ เกี่ยวข้องกับบุคคลใดที่เป็นเพศคฤหัสถ์ด้วย เพราะมีปัญญาเป็นสำคัญ ครับ ความประพฤติที่ไม่ดี เป็นเรื่องของคนอื่น สำคัญที่ใจเรา ว่าเป็นอย่างไร เพราะขณะที่เป็นอกุศลกับคนอื่น ขณะนั้นก็ไม่ดีแล้ว ไม่ต่างกับอกุศลของคนอื่นเลย เพราะ อกุศลของใคร ก็ชื่อว่าไม่ดีทั้งนั้น ดังนั้น จุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรมที่ถูกต้อง จึงไม่ใช่เรื่องที่จะบังคับให้ใครเป็นอย่างไร ที่จะจัดการโลก แต่สำคัญคือ สละขัดเกลากิเลสของตนเอง เป็นสำคัญและ อบรมปัญญาของตนเอง เพราะเมื่อมีปัญญาที่เป็นเครื่องนำทางที่ดีแล้ว ก็ย่อมเข้าใจในสิ่งที่เห็น ได้ยิน และไม่เป็นอกุศลในสิ่งที่เห็น ได้ยินครับ สำคัญที่ตัวเราเป็นสำคัญ ไม่ใช่คนอื่น ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 18 มิ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อประโยชน์เกือกูล เพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม ไม่ใช่อกุศลธรรม แม้แต่เวลาที่พบบุคคลผู้ไม่ดี มีความประพฤติไม่เหมาะสม ไม่ดีประการต่างๆ ก็ไม่ใช่ว่าเราจะต้องไปโกรธ ไปเกลียดเขา แต่มีทางใดที่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เขา ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ แม้จะไม่ได้ไหว้ ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นอกุศลเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กล่าวความจริง ตามพระธรรมให้เขาได้เข้าใจอย่างถูกต้องว่าอะไรถูก อะไรผิด หรือด้วยการให้วัตถุสิ่งของต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กว่าการเกิดอกุศลอย่างแน่นอน

ที่น่าพิจารณา คือ การกราบไหว้ นั่น สำคัญอยู่ที่สภาพจิตจริงๆ แม้การแสดงออกทางกายอาจจะเหมือนกัน แต่สภาพจิต อาจจะแตกต่างกันก็ได้ เมื่อกล่าวถึงการกราบไหว้ ในทางพระพุทธศาสนา แล้ว ไม่ว่าจะปรากฏในลักษณะใด ก็เพื่อน้อมสักการะบูชาบุคคลผู้ควรแก่การสักการะบูชา มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอริยสงฆ์สาวก มารดาบิดาครูอาจารย์ เป็นต้น เป็นความประพฤติที่ดีงาม ที่มาจากจิตใจที่ดีงาม เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม ขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวันครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 18 มิ.ย. 2557

ขณะที่กุศลจิตเกิดก็ไหว้เขาด้วยวัยวุฒิก็ได้ ไม่มีมานะในขณะนั้น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ประสาน
วันที่ 19 มิ.ย. 2557

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Thawesak
วันที่ 19 มิ.ย. 2557

ขอบพระคุณมากครับ สำหรับคำตอบจากหลายๆ ท่าน ทำให้ผมเข้าใจมากขึ้น คือไหว้ด้วยกุศลจิตจึงจะถูกต้อง ถ้าไม่เป็นกุศลจิตอย่าพึ่งไหว้ ข้อ 2 ท่านตอบได้กระจ่างทีเดียว แต่ข้อ 1. ผมยังมีข้อสงสัยบางประการอยู่ครับ

1. บุคคลหรือผู้อาวุโสบางคนไม่รับไหว้เรา หรือไม่เต็มใจรับไหว้เรา ด้วยการแสดงอาการหยิ่ง หรือแสดงอาการรังเกียจเรา หรืออาการที่ไม่ดีอื่นใดก็ตาม เราควรจะต้องไหว้สวัสดีต่อไปหรือไม่ เพราะสถานการณ์เช่นนี้ เสี่ยงต่อการเกิดอกุศลจิตของทั้งผู้ไหว้และผู้รับไหว้ คือผู้รับไหว้ก็หยิ่ง ผู้ไหว้ก็ไม่สบายใจ

ข้อสงสัยครับ

1. เรายินดีจะไหว้ด้วยกุศลจิต เคารพในความอาวุโส แต่การที่ผู้อาวุโสไม่ยินดีรับไหว้ หรือหยิ่งกลับมา หรืออาการไม่ดีอื่นใดก็ตาม เป็นเหตุให้อกุศลจิตเกิดทั้งสองฝ่าย นั่นน่าจะเป็นเหตุเพียงพอให้หยุดไหว้ใช่มั้ยครับ (คือ อนาคตถ้าเหตุการณ์ต่างๆ ดีขึ้น ก็สามารถกลับมาไหว้ได้)

2. การรับไหว้ ก็ถือเป็นเรื่องที่ควรใช่ไหมครับ หรือจริงๆ แล้ว เราไม่ต้องไปใส่ใจว่าใครจะรับไหว้หรือไม่ (บางสถานการณ์ ผู้ใหญ่หรือผู้ถูกไหว้อาจจะไม่ได้พร้อมที่จะรับไหว้ หรือไม่ทันเห็น อันนี้ผมพอเข้าใจ ไม่มีปัญหา)

ขออภัยด้วยครับ หากผมถามละเอียดไป

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

ปล. คุณ paderm ได้พิมพ์ผิดไปรึเปล่าครับจากประโยคที่ว่า "...เพราะ หากมีเจตนาไหว้ที่ดี หากไม่ถึงกับคนอื่นเกิด กุศลจิตมาก ก็ ควรไหว้ตามอาวุโส เพราะ เคารพในความเป็นผู้ใหญ่...."

ผมคิดว่าน่าจะเป็นคำว่า อกุศลจิต นะครับ ผิดถูกยังไงขออภัยด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 19 มิ.ย. 2557

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

- ถ้าพิจารณาเห็นบ่อยๆ แล้วครับว่่า เมื่อเราไหว้ เขาเกิดอกุศลจิตมาก แม้ตัวเราก็เกิดอกุศลจิตก็ไม่ควรไหว้ใปประเด็นนี้ ครับ

- การรับไหว้เป็นสิ่งที่สมควร แต่บางครั้งก็ด้วยเหตุปัจจัยหลายๆ ประการ ไม่สามารถรับไหว้ได้จริงๆ ก็มีได้ แต่ หากเห็น พิจารณาและ การไหว้นั้น ทำให้บุคคลที่ถูกไหว้เกิดอกุศล แสดงความไม่พอใจได้ รวมทั้งตนเอง ก็ไม่ควรไหว้เช่นกัน ครับ

ส่วนที่ผู้ถามได้บอกเรื่องพิมพ์ผิด แก้ไขแล้ว ครับ

ขอบพระคุณ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Thawesak
วันที่ 20 มิ.ย. 2557

คำตอบของท่านชัดเจนและกระจ่างยิ่งนัก

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ