การรักษาศีล จำเป็นต้องสมาทานศีลในตอนเช้าของแต่ละวันหรือไม่

 
lovedhamma
วันที่  20 มิ.ย. 2557
หมายเลข  25006
อ่าน  2,628

พอดีได้ไปอ่านหนังสือธรรมะเล่มหนึ่งมาบอกว่า การรักษาศีลที่ถูกต้องนั้น ควรสมาทานศีลก่อน เช่น ในตอนเช้าของวัน จึงจะเกิดอานิสงส์และถือว่าได้บุญกว่า เพราะถ้าไม่มีการสมาทานศีลแล้ว จะถือแค่ว่าไม่ได้ทำผิดศีล ก็คงจะไม่ถูกซะทีเดียว เพราะแบบนี้ เด็กทารกที่ไม่ได้ทำผิดศีล แต่ก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลยก็เท่ากับว่าได้รักษาศีลสะอาดบริสุทธิ์แล้ว จริงหรือไม่ครับ?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 20 มิ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การรักษาศีล 5 ต้องเริ่มด้วยจุดประสงค์ที่ถูกต้อง ไม่ใช่ รักษาเพื่อที่จะ ได้มีศีลดี ได้ กุศล เพราะความบริสุทธิ์ของศีล แต่ การรักษาศีล 5 เพื่อที่จะ สละขัดเกลากิเลส ระมัดระวังทางกาย วาจา โดยเฉพาะการดำเนินชีวิตประจำวัน

หากได้อ่านพระไตรปิฎกแล้ว อย่างเช่น การรักษาศีล เช่น ศีล 8 เป็นต้น ก็สมาทานตอนเช้า เพื่อประโยชน์ในการขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน เพราะ การดำเนินชีวิตประจำวัน ก็มีการพบปะ ผู้คน ก็ควรที่จะสมาทานศีลก่อน เพื่อที่จะสำรวมระวังต่อไป ไม่ใช่ว่า ไปสมาทานก่อนนอน ไม่เจอใคร ศีลจะได้ดี เพราะ ในความเป็นจริง ก็ต้องเข้าใจว่า ขณะที่เป็น ศีล คือ ขณะจิตที่สมาทาน รักษา และ ขณะที่งดเว้นจากบาปในขณะนั้น ยกตัวอย่างเช่น ขณะใดที่มีเจตนารักษาศีล ขณะจิตนั้น ก็เป็นศีล และขณะจิตต่อไป ก็เป็นอกุศลจิตแล้ว จะกล่าวว่า เป็น กุศลศีลอีกไม่ได้ แล้วครับ จึงต้องพิจารณาทีละขณะจิต และ ขณะที่ งดเว้นจากการตบยุง ในขณะนั้น ก็เป็นกุศลศีลที่งดเว้นจากบาป ครับ จะเห็นนะครับว่า ขณะที่เป็นศีล ก็ต้องเป็นขณะจิตนั้น ไม่ได้เหมารวมทั้งหมด ว่า ไม่ทำอะไร จะมีศีล เพราะ ไม่เช่นนั้น เด็กอ่อน ทีเพิ่งเกิด ไม่ทำอะไร ก็มีศีล หรือ สมาทานเพียงครั้งเดียว ไม่ทำอะไรเลย จะมีศีลไปตลอด ไม่ใช่เช่นนั้นครับ เพราะ หลังจากสมาทานศีลแล้ว จิตขณะต่อไปก็เป็นอกุศล โกรธคนอื่น ตอนนึกในใจก็ได้ จะกล่าวว่า เป็นผุ้ที่ศีล ที่เป็นกุศลศีลได้อย่างไร ครับ และแม้ขณะที่หลับสนิท เป็นภวังคจิต เป็นจิตชาติวิบาก ไม่ใช่จิตชาติกุศล ก็ไมได้มีกุศลศีลในขณะนั้น ครับ เพราะฉะนั้น การรักษาศีลเพื่อขัดเกลากิเลสทางกาย วาจา เพื่อประโยชน์กับคนรอบข้าง ไม่ใช่เพื่อตนเอง จะได้ไม่ล่วงศีล ได้อานิสงส์ผลบุญ จึงควรรักษาทุกกาล โอกาส โดยเฉพาะการสมาทาน รักษา ตั้งแต่เช้าในชีวิตประจำวัน ส่วนจะรักษาได้ ไม่ได้ก็ตามเหตุปัจจัย ตามอำนาจของกิเลส ครับ

ขออนุญาตยกคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ซึ่งเป็นเครืองเตือนใจที่ดีมาก เกี่ยวกับการรักษาศีล จากชุดเทปวิทยุ

ครั้งที่ ๔๕๙ ครับ

-----------------------------------------

ศีลจะสำเร็จได้ก็ด้วยการมีเมตตา คือ ขณะนั้นไม่ประกอบด้วยโทสะ เช่น ในข้อของปาณาติบาต การฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต ถ้าขณะนั้นเกิดเมตตา ย่อมไม่สามารถที่จะฆ่าผู้อื่นได้หรือแม้แต่จะเบียดเบียนประทุษร้ายด้วยกาย หรือด้วยวาจาก็ตาม ถ้าเกิดเมตตาขึ้นทันทีในขณะนั้น ย่อมงดเว้นการที่จะเบียดเบียนประทุษร้ายด้วยกาย ด้วยวาจา แต่ถ้าขณะนั้นเมตตาไม่เกิด ก็ย่อมเป็นไปตามกำลังของกิเลส

แม้ในข้อของอทินนาทาน คือ การถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ให้ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าท่านเป็นผู้มีเมตตาในบุคคลผู้เป็นเจ้าของ รู้ว่าเขาจะต้องเสียใจ เสียดายในการที่จะสูญเสียวัตถุ ซึ่งเป็นประโยชน์ของเขาไป ถ้าท่านมีจิตเมตตาในขณะนั้น ท่านย่อมไม่สามารถที่จะถือเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้

กาเมสุมิจฉาจาร คือ การประพฤติผิดในกาม ก็เช่นเดียวกัน ย่อมทำความเดือดร้อนให้กับวงศาคณาญาติของผู้ที่ท่านกระทำทุจริตกรรม เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนั้น ท่านมีเมตตาคิดถึงบุคคลอื่น ไม่ต้องการให้บุคคลอื่นเดือดร้อน ท่านก็จะละการล่วงทุจริตกรรมข้อนี้ได้

แม้ข้อของมุสาก็เช่นเดียวกัน การที่ท่านพูดไม่จริง เป็นการเบียดเบียนบุคคลอื่น ไม่ให้คนอื่นได้รู้เรื่องจริง ไม่ให้คนอื่นได้รู้ความจริง ความโกรธ ความประทุษร้าย ไม่เมตตาต่อผู้อื่น จึงกล่าวมุสาได้ (แต่ถ้าเมตตาเกิด ก็ย่อมไม่กระทำอย่างนั้นแน่นอน)

แม้การดื่มสุราก็เช่นเดียวกัน เวลาที่ดื่มสุราแล้วขาดสติ หลงลืมสติอย่างมาก และผู้ที่ดื่มสุราก็เป็นผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ เมื่อมีสุราเป็นเชื้อ เป็นปัจจัยให้กิเลสเหล่านั้นเกิดมีกำลังกล้าขึ้น ย่อมจะสามารถทำทุจริตกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นการเบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อนได้

เพราะฉะนั้น เรื่องของศีลทั้งหมดก็เป็นเรื่องของการที่จะรักษาได้ด้วย อโทสะ คือ การมีเมตตาต่อสัตว์อื่น ต่อบุคคลอื่น นั่นเอง

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 20 มิ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ศีลเป็นเรื่องปกติจริงๆ ในชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่าชีวิตประจำวัน เป็นศีล ซึ่งไม่พ้นไปจากกาย วาจา ใจของแต่ละบุคคล ในแต่ละวันจิตใจเป็นกุศลหรือเป็นกุศลมากน้อยเท่าใด เมื่อเทียบกันแล้วกุศลย่อมมีมากกว่า แต่ถ้ามีการล่วงศีล มีการกระทำทุจริตกรรมประการต่างๆ ก็เป็นเครื่องแสดงว่ากิเลสมีกำลังมากทีเดียว ซึ่งทุกคนควรจะได้ทราบและพิจารณาตนเองว่ามีการล่วงศีลข้อใดบ้างในแต่ละวัน กล่าวคือ มีการฆ่าสัตว์ เบียดเบียนสัตว์ มีการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ มีการประพฤติผิดในบุตร ภรรยา ของผู้อื่น มีการดื่มสุราของมึนเมาทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท บ้างหรือไม่? ประโยชน์อยู่ตรงนี้ เพื่อจะได้สำรวมระมัดระวังความประพฤติทางกาย ทางวาจาให้เป็นปกติเรียบร้อยดีงาม โดยงดเว้นในสิ่งที่ควรงดเว้น แล้วประพฤติในสิ่งที่ควรประพฤติ การรักษาศีล มีการถือเอาเป็นข้อปฏิบัติด้วยดีที่จะ เป็นการขัดเกลาจิตใจของตนให้เบาบางจากกิเลส แม้ว่ายังไม่ได้ดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) ก็จริง แต่ก็เป็นการอบรมจิตใจให้เบาบางจากกิเลสกุศล เพราะเหตุว่าถ้าไม่ทราบว่า การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ เป็นต้น เป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นสิ่งที่ทำให้สัตว์อื่น บุคคลอื่นเดือดร้อน เป็นทุกข์ ก็อาจจะเกิดความยินดีพอใจในความไม่ดีเหล่านี้ก็เป็นได้ และเมื่อเป็นกิเลส เป็นกุศลธรรม เป็นกุศลกรรม ก็ย่อมเป็นเหตุให้เกิดผลที่ไม่ดี (อกุศลวิบาก) ข้างหน้าสำหรับตนเองอีกด้วย เมื่อไม่ทราบอย่างนี้ เจตนาที่จะงดเว้นก็จะไม่มี แต่ถ้าทราบ ก็จะสามารถละคลายให้เบาบาง หรือว่างดเว้นเท่าที่สามารถจะกระทำได้ ซึ่งก็จะเป็นการชำระจิตใจให้เบาบาง ให้บรรเทาจากกิเลสและกุศลได้ในชีวิตประจำวัน จนกว่าจะเป็นผู้มีศีล ๕ ที่บริสุทธิ์ โดยที่ไม่มีการล่วงอีกเลย เมื่ออบรมเจริญปัญญาบรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน และประการสำคัญที่ควรพิจารณา คือ กว่าที่ศีลจะบริสุทธิ์ได้จริงๆ ก็ต้องมีปัญญา เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง โดยเริ่มจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมสะสมปัญญาไปตามลำดับ นั่นเอง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 20 มิ.ย. 2557

ศีลสมาทานก็ได้ ไม่สมาทานก็ได้ เช่น ศีลวิรัติเฉพาะหน้า หรือ สมาทานครั้งเดียว ตั้งใจรักษาตลอดชีวิตโดยไม่ต้องสมาทานทุกวันก็ได้ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ประสาน
วันที่ 21 มิ.ย. 2557

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
lovedhamma
วันที่ 24 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pamali
วันที่ 25 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
แต้ม
วันที่ 8 ก.พ. 2558

ปัจจุบันก็มีพระหลายวัดบอกให้สมาทานศีลก่อนนอน เป็นประจำ คือวิธีแก้ไขการกระทำผิดศีลในชีวิตประจำวัน จะได้เป็นผู้ที่ถือศีลอยู่บ้าง เป็นทุนไว้ และส่วนมากก็เชื่ออย่างนั้นด้วย และก็ยังกระทำกันเป็นปกติวิสัย จนขาดการใช้ปัญญาจริงๆ ขอขอบพระคุณท่าน อาจารย์และวิทยากรที่ให้ความกระจ่างครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
worrasak
วันที่ 3 ส.ค. 2561

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เฉลิมพร
วันที่ 26 มิ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ