เทวตาสูตร ... วันเสาร์ที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๗

 
มศพ.
วันที่  22 มิ.ย. 2557
หมายเลข  25011
อ่าน  1,692

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺสพุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิสงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...


มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๗ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

เทวตาสูตร

(ว่าด้วยธรรมเป็นเหตุไม่ให้เสื่อม)

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓หน้า ๗๘๘

(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ที่ ๘ มิ.ย. ๒๕๕๗)

...นำสนทนาโดย...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ที่ ๒๗ เม.ย. ๒๕๕๗)

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ หน้า๗๘๘

๕. เทวตาสูตร

(ว่าด้วยธรรมเป็นเหตุไม่ให้เสื่อม)

[๓๔๐] ครั้งนั้น เทวดาองค์หนึ่ง เมื่อปฐมยามล่วงไป มีรัศมีงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสวแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ ๖ ประการเป็นไฉน? คือ ความเป็นผู้เคารพในพระศาสดา ๑ความเป็นผู้เคารพในพระธรรม ๑ ความเป็นผู้เคารพในพระสงฆ์ ๑ ความเป็นผู้เคารพในสิกขา ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ ความเป็นผู้มีมิตรดี ๑ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ เทวดาองค์นั้นกล่าวดังนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย ครั้งนั้น เทวดาองค์นั้นได้ทราบว่า พระศาสดาได้ทรงพอพระทัยตนแล้ว จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า กระทำประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้น.

ครั้นเมื่อราตรีนั้นล่วงไป พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เทวดาองค์หนึ่ง เมื่อปฐมยามล่วงไป มีรัศมีงามยิ่งนัก ยังวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว แล้วเข้ามาหาเราถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกับเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ ๖ ประการเป็นไฉน? คือ ความเป็นผู้เคารพในพระศาสดา ๑ ความเป็นผู้เคารพในพระธรรม ๑ ความเป็นผู้เคารพในพระสงฆ์ ๑ ความเป็นผู้เคารพในสิกขา ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ ความเป็นผู้มีมิตรดี ๑ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ เทวดาองค์นั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว อภิวาท กระทำประทักษิณเราแล้ว ได้หายไป ณ ที่นั้น

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมทราบชัดเนื้อความแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสโดยย่อนี้โดยพิสดารอย่างนี้ว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้เคารพในพระศาสดาด้วยตนเอง กล่าวสรรเสริญความเป็นผู้เคารพในพระศาสดา ย่อมชักชวนภิกษุเหล่าอื่นผู้ไม่เคารพในพระศาสดาให้เคารพในพระศาสดา และกล่าวสรรเสริญภิกษุเหล่าอื่นผู้เคารพในพระศาสดาตามเป็นจริง โดยกาลอันควร เป็นผู้เคารพในพระธรรมด้วยตนเอง ฯลฯ เป็นผู้เคารพในพระสงฆ์ด้วยตนเอง ฯลฯ เป็นผู้เคารพในสิกขาด้วยตนเอง ฯลฯ เป็นผู้ว่าง่ายด้วยตนเอง ฯลฯ เป็นผู้มมิตรดีด้วยตนเองกล่าวสรรเสริญความเป็นผู้มีมิตรดี ชักชวนภิกษุเหล่าอื่นผู้ไม่มีมิตรดีให้เป็นผู้มีมิตรดีและกล่าวสรรเสริญภิกษุเหล่าอื่นผู้มีมิตรดีตามเป็นจริง โดยกาลอันควร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมทราบชัดเนื้อความแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสโดยย่อนี้ โดยพิสดารอย่างนี้แล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูกร สารีบุตร ดีละ ดีละ เธอย่อมทราบเนื้อความแห่งคำที่เรากล่าวโดยย่อนี้ โดยพิสดารอย่างนี้ เป็นการดีแล ดูกร สารีบุตร ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้เคารพในพระศาสดาด้วยตนเอง กล่าวสรรเสริญความเป็นผู้เคารพในพระศาสดา ชักชวนภิกษุเหล่าอื่นผู้ไม่เคารพในพระศาสดาให้เคารพในพระศาสดา และกล่าวสรรเสริญภิกษุเหล่าอื่นผู้เคารพในพระศาสดาตามเป็นจริง โดยกาลอันควร เป็นผู้เคารพในพระธรรมด้วยตนเอง ฯลฯ เป็นผู้เคารพในพระสงฆ์ด้วยตนเอง ฯลฯ เป็นผู้เคารพในสิกขาด้วยตนเอง ฯลฯ เป็นผู้ว่าง่ายด้วยตนเอง ฯลฯ เป็นผู้มีมิตรดีด้วยตนเอง กล่าวสรรเสริญความเป็นผู้มีมิตรดี ชักชวนภิกษุเหล่าอื่นผู้ไม่มีมิตรดีให้เป็นผู้มีมิตรดี และกล่าวสรรเสริญภิกษุเหล่าอื่นผู้มีมิตรดีตามเป็นจริง โดยกาลอันควร ดูกร สารีบุตรเนื้อความแห่งคำที่เราได้กล่าวโดยย่อนี้ บัณฑิตพึงเห็นโดยพิสดารอย่างนี้.

จบเทวตาสูตรที่ ๕

อรรถกถาเทวตาสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในเทวตาสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้:-

ความเป็นผู้ว่าง่าย ชื่อว่า โสวจัสสตา. ความเป็นผู้มีมิตรที่สะอาดชื่อว่า กัลยาณมิตตตา. บทว่า สัตถุคารโว ได้แก่ ผู้ที่ประกอบไปด้วยความเคารพในพระศาสดา. ในบททั้งปวง ก็มีนัยนี้.

จบอรรถกถาเทวตาสูตรที่ ๕.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 22 มิ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

เทวตาสูตร

(ว่าด้วยธรรมเป็นเหตุไม่ให้เสื่อม)

เทวดาองค์หนึ่ง ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลว่า ธรรม ๖ ประการเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อม ได้แก่ ความเคารพในพระพุทธเจ้า ความเคารพในพระธรรม ความเคารพในพระสงฆ์ ความเคารพในสิกขา ความเป็นผู้ว่าง่าย และมีกัลยาณมิตร

พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายถึงเรื่องที่เทวดาเข้ามาเฝ้าและกล่าวถึงธรรม ๖ ประการดังกล่าวนั้น ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลพระองค์ว่า ท่านย่อมทราบชัดเนื้อความที่พระองค์ทรงแสดงโดยย่อ ได้อย่างละเอียด ว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้เคารพในพระศาสดาด้วยตนเอง กล่าวสรรเสริญความเป็นผู้เคารพในพระศาสดา ย่อมชักชวนภิกษุเหล่าอื่นผู้ไม่เคารพในพระศาสดาให้เคารพในพระศาสดา และกล่าวสรรเสริญภิกษุเหล่าอื่นผู้เคารพในพระศาสดาตามเป็นจริง โดยกาลอันควร เป็นต้น

(ตามที่ปรากฏในพระสูตร)

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

คารวะ ๖

ลักษณะกัลยาณมิตร

การเป็นผู้ว่าง่ายคืออะไรและทำอย่างไรครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Jans
วันที่ 25 มิ.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 25 มิ.ย. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
orawan.c
วันที่ 27 มิ.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Jans
วันที่ 28 มิ.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ