ชนกกรรม

 
วิริยะ
วันที่  24 มิ.ย. 2557
หมายเลข  25022
อ่าน  3,573

เรียนถาม

ขอความกรุณาอธิบายคำว่า ชนกกรรม ซึ่งดิฉันทราบเพียงว่าเป็นกรรมที่นำเกิด แต่ยังไม่เข้าใจในรายละเอียด ดิฉันจะรู้สึกสับสน เพราะนำไปปะปนกับสันตีรณจิตที่ทำกิจปฏิสนธิค่ะ

ขอบพระคุณอย่างสูง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 24 มิ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ชนกกรรม ชนก (ผู้ให้เกิด) + กมฺม (เจตนาซึ่งเป็นผู้กระทำ) กรรมที่ให้ผลนำเกิด หมายถึง เจตนาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิต ๑๑ ดวง (เว้นโมห อุทธัจจจสัมปยุตต์ ไม่ให้ผลในปฏิสนธิกาล) และโลกียกุศลจิต ๑๗ ดวง ที่ได้โอกาสนำปฏิสนธิ คือให้ผลเป็นวิบากจิตและกัมมชรูปในปฏิสนธิกาล และยังให้ผลเป็นวิบากจิตทำกิจภวังค์ในปวัตติกาล ดำรงความเป็นบุคคงนั้นไว้จนกว่าจะสิ้นกรรมจึงให้ผลครั้งสุดท้ายทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นทำจุติกิจ

ข้อที่ควรพิจารณาอีกประการหนึ่ง คือ กรรมที่ได้กระทำแล้ว ทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม เป็นสภาพที่ปกปิด เพราะเหตุว่าไม่มีใครรู้เลยว่ากรรมที่ได้กระทำแล้วนั้น จะให้ผลเมื่อใด ให้ผลในชาตินี้ ในชาติหน้า หรือ ในชาติต่อๆ ไป ก็ไม่สามารถรู้ได้ แต่จะต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ความจริงทั้งหมดทุกประการ แล้วทรงแสดงพระธรรมให้สัตว์โลกได้เข้าใจความจริงตามพระองค์ ด้วย บุคคลผู้ที่ได้สะสมเหตุที่ดีมา มีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษา ความรู้ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ แม้แต่ในเรื่องกรรม ก็เช่นเดียวกัน เมื่อได้ฟัง ได้ศึกษา ก็จะทำให้เข้าใจละเอียดยิ่งขึ้น มีความมั่นคงในเรื่องกรรมเพิ่มขึ้น คือ มีความจริงใจที่จะสะสมเหตุที่ดี คือ กุศลทุกประการต่อไป พร้อมกันนั้นก็ละเว้นในสิ่งที่ไม่ดี ที่ไม่ควรซึ่งเป็นอกุศลกรรม และมีความมั่นคงในเรื่องผลของกรรม ด้วย กล่าวคือ เมื่อได้รับผลของอกุศลกรรม ก็จะไม่โทษคนอื่น แต่เข้าใจความจริงเพิ่มขึ้นว่าในเมื่อเป็นอกุศลกรรมที่ตนได้กระทำไว้ ผลที่ไม่น่าปรารถนา จึงเกิดขึ้น ไม่ใช่คนอื่นกระทำให้เลย หรือ ถ้าได้รับผลของกรรมที่ดี ก็จะเป็นผู้ไม่หลงระเริง ไม่มัวเมาด้วยอำนาจของอกุศลธรรม ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา อันเริ่มจากการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน นั่นเอง ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 25 มิ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรื่องกรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เป็นเรื่องที่เข้าใจยากมาก กรรมที่นำเกิดที่เป็นชนกกรรมนั้นไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเฉพาะกรรมในชาตินี้ชาติเดียว แม้ว่ากรรมในอดีตอนันตชาติ (ชาติที่ผ่านๆ มาอย่างมากมาย) ที่ได้กระทำแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่จะเป็นชนกกรรม ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น หลังจากจุติจิตของชาตินี้ดับลง เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าอกุศลกรรมหนึ่งอกุศลกรรม ใด จะให้ผลนำเกิด ก็เป็นเหตุให้อกุศลจิตเกิดก่อนตาย เมื่อจุติเกิดแล้วดับไป ปฏิสนธิจิตก็เกิดสืบต่อ เป็นสัตว์ในอบายภูมิ ทันที นี้คือ ผลของอกุศลกรรมหนึ่งอกุศลกรรมใด ที่เคยกระทำไว้แล้วในอดีต ซึ่งสะสมสืบต่ออยู่ในจิต ไม่สูญหายไปไหน เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมก็ทำให้ผลเกิดขึ้น ได้ ถ้าเป็นกุศลกรรมที่นำเกิดก็ทำให้เกิดในสุคติภูมิ เพราะฉะนั้นแล้วเราไม่รู้ว่า กรรมใด จะให้ผลเมื่อใด ที่สำคัญที่สุดแล้วคือ ไม่ประมาท ส่วนในเรื่องจิตที่ทำกิจปฏิสนธิก็ต้องศึกษาให้เข้าใจต่อไปว่า จิต ๑๙ ประเภทเท่านั้นที่ทำกิจปฏิสนธิ ได้แก่มหาวิบาก ๘ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากรูปาวจรวิบาก และอรูปาวจรวิบาก ๔ ตามควรแก่ภพภูมินั้นๆ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 25 มิ.ย. 2557

ชนกกรรม กรรมที่นำเกิด กรรมที่เป็นกุศลกรรม อกุศลกรรม นำเกิด ปฏิสนธิได้ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
peem
วันที่ 6 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ