นิกาย
ขอเรียนถามว่า เพราะเหตุใดพระพุทธศาสนาจึงแบ่งเป็นนิกาย เช่น นิกายเถรวาท นิกายมหายาน คำว่า นิกาย หมายความว่าอย่างไร และในหนังสือพระไตรปิฎก เช่น สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค นิกายในที่นี้หมายความว่าอย่างไร และบางเล่ม ที่มีคำว่าคาถาธรรมบท เช่น ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ต่างจากเล่มอื่นอย่างไรคะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เพราะเหตุใดพระพุทธศาสนาจึงแบ่งเป็นนิกาย เช่น นิกายเถรวาท นิกายมหายาน
@ เมื่อคราวทำสังคายนาครั้งที่ 1 พระมหากัสสปะ ทำสังคายนา พระปุราณะที่ไม่เข้าใจคำสอน กับบริวาร 500 ไม่รับการทำสังคายนาครั้งนี้ อันมีความเข้าใจผิดในพระธรรม จึงเริ่มมีการแตกแยกตั้งแต่การทำสังคายนาครั้งนี้ การแตกแยกที่เป็นนิกายต่างๆ จึงเกิดจากกิเลส ความไม่รู้ ความเข้าใจผิดในพระธรรม จึงทำให้มีการแยกไประหว่างความเห็นถูกและความเห็นผิดเป็นธรรมดาครับ น้ำกับน้ำมันย่อมแยกจากกันเป็นธรรมดา
เมื่อมีการทำสังคายนาครั้งที่ 2 ก็มีการแยกออกเป็นนิกายต่างๆ แยกจากเถรวาทออกไป อันถือมติส่วนใหญ่ และก็แตกแยกออกไปอีก เป็น 18 นิกายครับ
ในความเป็นจริง พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไม่มีการแบ่งแยก ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เพราะเป็นสัจจะ ความจริง เช่น สภาพเห็นเป็นความจริง เป็นธรรม ไม่ว่าใคร บุคคลใด นิกายไหน การเห็นก็เป็นธรรมไม่เปลี่ยนแปลง กุศล อกุศลเป็นสภาพธรรมที่มีจริงเป็นสิ่งที่เป็นสัจจะ ไม่เปลี่ยนแปลง การแบ่งเป็นนิกาย เป็นลัทธิแสดงให้เห็นถึง ความเข้าใจผิดในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ผู้ที่ศึกษาธรรมในปัจจุบัน ควรเป็นผู้ละเอียดด้วยการศึกษาธรรมด้วยความเป็นผู้ตรงและละเอียดรอบคอบยึดพระธรรมเป็นสำคัญก็ย่อมสามารถเข้าถึงความจริง โดยไมได้แบ่งไปตามนิกายไหนเลย หากปัญญาเจริญ ความเห็นถูกเกิดขึ้นจะไม่มีการแบ่งนิกาย เพราะพระธรรมเป็นสัจจะ ความจริงหนึ่งเดียว
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
คำว่า นิกาย หมายความว่าอย่างไร และในหนังสือพระไตรปิฎก เช่น สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค นิกายในที่นี้หมายความว่าอย่างไร และบางเล่ม ที่มีคำว่า คาถาธรรมบท เช่น ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ต่างจากเล่มอื่นอย่างไรคะ
@ นิกาย หมายถึง หมวด หมู่ พวก เพราะฉะนั้น นิกายเถรวาท นิกายมหายาน ก็หมายถึงพวก กลุ่ม ส่วนที่ใช้ใน คัมภีร์ เช่น สังยุตนิกาย ก็หมายถึง หมวด หมู่ ครับ
ส่วนที่ใช้ชื่อแตกต่างกัน ในหมวดหมู่ต่างๆ เพราะ อาศัย พระธรรมเป็นหมวดหมู่ต่างๆ เช่น คาถาธรรมบท ก็เป็นพระคาถา เป็นต้น อุทาน ก็เป็นพระอุทาน ทีฆนิกาย ก็เป็นหมวดหมู่พระธรรมที่แต่ละสูตรยาวมากๆ เป็นต้น แล้วแต่ว่าจะแบ่งอย่างไร ตามหมวดหมู่ ตามประเภทของธรรม ครับ ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
-สัตว์โลกมีอัธยาศัยที่แตกต่างกัน ตามการสะสม ถึงแม้จะได้บวชเป็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนา ก็มีทั้งผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการเป็นบรรพชิต กับ ผู้ที่ไม่ได้รับประโยชน์ ทั้งนี้เป็นเพราะการสะสมมาที่แตกต่างกัน มีปัญญา หรือ ไม่มีปัญญา สำหรับผู้ที่มีความเข้าใจถูกเห็นถูก มีความมั่นคงในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ย่อมจะมีความเคารพในการฟัง ในการศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง และขัดเกลากิเลสของตนเองเป็นสำคัญ เป็นผู้ที่มั่นคงในพระธรรมวินัย อันเป็นพระธรรมคำสอนทำให้ผู้ศึกษาได้รับประโยชน์ทุกระดับขั้น ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ดับกิเลสได้ ตามลำดับ ส่วนที่มีการแตกแยกกันออกไป ก็ไม่พ้นไปจากความเห็นที่เป็นไปในลักษณะต่างๆ
การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส สูงสุดเป็นไปเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม, ผู้ได้ฟัง ได้ศึกษา ย่อมมีความเข้าใจไปตามลำดับ พระธรรม เป็นประโยชน์ทุกกาลสมัย แต่จะเป็นประโยชน์เฉพาะสำหรับบุคคลผู้ที่เห็นประโยชน์ของความเข้าใจธรรม มีศรัทธาที่จะฟัง เท่านั้น ไม่ได้เป็นประโยชน์แก่บุคคลนอกนี้ ซึ่งควรจะได้พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง
-สำหรับนิกายที่เป็นหมวดหมู่ของพระธรรมคำสอน แม้จะไม่สามารถทราบว่าอยู่ในนิกายไหน มี ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย เป็นต้น แต่ถ้าได้ศึกษาด้วยความละเอียดรอบ ความก็จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด เพราะทุกคำที่ปรากฏในพระไตรปิฎกแสดงให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงตามความเป็นจริง สำหรับในส่วนของขุททกนิกายคาถาธรรมบท ก็จะเป็นพระธรรมเทศนาที่เป็นบทธรรมที่เป็นพระคาถา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความเป็นจริง พร้อมทั้งเหตุที่ทำให้ตรัสพระคาถานั้น และมีคำอธิบายที่เป็นการแก้อรรถ อธิบายใจความของพระคาถาให้เข้าใจยิ่งขึ้น ครับ
ขอเชิญคลิกอ่านตัวอย่าง ข้อความธรรมจากคาถาธรรมบทได้ที่นี่
เรื่อง ปาฏิกาชีวก [ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท]
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...