เรียนถามเรื่องกุศลวิบากกับอกุศลวิบาก
สวัสดีค่ะอาจารย์ รบกวนสอบถามดังนี้ค่ะ จิตที่เป็นชาติวิบากแต่สามารถแบ่งออกเป็นกุศลวิบากและอกุศลวิบาก เช่น จักขุวิญญาณที่เป็นกุศลวิบาก กับจักขุวิญญาณที่เป็นอกุศลวิบาก สองดวงนี้เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาเหมือนกัน ดิฉันสงสัยว่าอะไรเป็นตัวแยกความแตกต่างของจิต 2 ดวงนี้ค่ะ เป็นเพราะเจตสิกที่ประกอบหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดต่างกันหรือเปล่าคะ หรือเป็นเพราะอารมณ์ของจิตต่างกันเป็นอิฎฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์หรือเปล่าคะ ขอบพระคุณอาจารย์มากๆ ค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จักขุวิญญาณ หรือ จิตเห็นสภาพรู้แจ้งอารมณ์ทางตา หมายถึง อเหตุกวิบากจิต ๒ ดวง ซึ่งเกิดที่จักขุวัตถุ (จักขุปสาท) ทำทัสสนกิจ (เห็น) คือ รับรู้รูปารมณ์ที่กระทบทางตา (เห็น) เป็นกุศลวิบาก ๑ ดวง รับรู้สีที่ดี เป็นอกุศลวิบาก ๑ ดวง รับรู้สีที่ไม่ดี จักขุวิญญาณเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาทั้ง ๒ ดวง
ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว เมื่อจิตเกิดขึ้นก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ ดังนั้น จักขุวิญญาณจิตเกิดขึ้นก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีทั้งหมด 7 เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย คือ
๑. ผัสสเจตสิก เป็นสภาพที่กระทบอารมณ์
๒. เวทนาเจตสิก เป็นสภาพที่รู้สึก หรือเสวยอารมณ์
๓. สัญญาเจตสิก เป็นสภาพที่จดจำ หรือคุ้นเคยในอารมณ์
๔. เจตนาเจตสิก เป็นสภาพที่ตั้งใจ จงใจ
๕. เอกัคคตาเจตสิก เป็นสภาพที่ทำให้จิตตั้งมั่น เป็นหนึ่งในอารมณ์
๖. ชีวิตินทริยเจตสิก เป็นสภาพที่รักษาสัมปยุตธรรมให้มีชีวิตอยู่ได้
๗. มนสิการเจตสิก เป็นสภาพที่สนใจ ทำให้จิตมุ่งตรงต่ออารมณ์
ซึ่งจักขุวิญญาณ 2 ดวง ต่างก็มีเจตสิกที่เท่ากัน 7 ดวง แต่ที่แตกต่างกัน คือ อารมณ์ของจักขุวิญญาณ 2 ดวงที่แตกต่างกัน คือ จักขุวิญญาณกุศลวิบาก มี อิฏฐารมณ์คือ อารมณ์ที่ดี คือ สีที่ดี ประณีต ส่วนจักขุวิญญาณอกุศลวิบาก คือ มีอารมณ์ที่ไม่ดี ที่เป็น อนิฏฐารมณ์ คือ สีที่ไม่ดี ครับ ขออนุโมทนา
ขอบพระคุณค่ะ ไม่ทราบว่าปัจจัยของจิตสองดวงนี้ต่างกันด้วยไหมคะ รบกวนถามโดยคร่าวๆ ก่อน ยังศึกษาไม่ถึงเรื่องเหตุปัจจัยอย่างจริงจังเลยค่ะ
เรียนความเห็นที่ 2 ครับ
ต่างกัน ครับ โดยปัจจัย ที่เป็นกรรมปัจจัย ที่ จักขุวิญญาณกุศลวิบาก อาศัยกุศลกรรมให้ผล เป็นเหตุ ส่วน จักขุวิญญาณอกุศลวิบาก อาศัย อกุศลกรรมให้ผลเป็นเหตุ ครับ ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เห็นสิ่งทีดี กับ เห็นสิ่งที่ไม่ดี ย่อมแตกต่างกัน ไม่ใช่ขณะเดียวกัน แล้วใครนำมาให้ ไม่มีเลย เพราะเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ปัจจัยหลักๆ คือ กรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีตถึงคราวให้ผล
ที่น่าพิจารณาคือ ต้องเข้าใจว่าวิบากนั้นเป็นนามธรรม (จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) ที่เกิดขึ้นรับผลของกรรมโดยต้องมีกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นเหตุ ถ้าเหตุดี เมื่อถึงคราวให้ผล ก็ต้องให้ผลที่ดีที่น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นเหตุที่ไม่ดี จะให้ผลที่ดีไม่ได้เลย เหตุย่อมสมควรแก่ผล เมื่อเป็นเหตุที่ไม่ดี ก็ต้องให้ผล เป็นผลที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจโดยไม่มีใครทำให้เลย ความเป็นเหตุเป็นผลของธรรม ใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...