ของฝาก : แคบหมู ข้าวแต๋น สะตอ เป็นทานกุศลไหมครับ
มีท่านผู้หนึ่งให้ แคบหมู ข้าวแต๋น และ สะตอ เป็นของฝาก อยากเรียนถามว่า
1. การให้ของท่านผู้นี้เป็นทานกุศลหรือไม่ครับ
2. ผู้รับนำไปแจกจ่ายให้ผู้อื่นอีกต่อหนึ่ง เนื่องจากมีปริมาณมากเกินกว่าที่จะบริโภคเอง เพราะคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อื่น ไม่ต้องเหลือทิ้ง ผู้ให้ท่านแรกจะได้รับกุศลสองต่อหรือไม่ครับ ถ้าแจ้งให้ท่านทราบในภายหลังว่า นำของที่ได้รับจากท่านไป แบ่งให้ผู้อื่นได้ใช้ประโยชน์
แคบหมู เป็นอาหารพื้นเมืองของทางเหนือ
ข้าวแต๋น เป็นขนมพื้นเมืองของทางเหนือ
สะตอ เป็นอาหารของชาวใต้
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
มีท่านผู้หนึ่งให้ แคบหมู ข้าวแต๋น และ สะตอ เป็นของฝาก อยากเรียนถามว่า
1. การให้ของท่านผู้นี้เป็นทานกุศลหรือไม่ครับ?
ทาน การให้ หมายถึง เจตนาที่สละวัตถุ เพื่อประโยชน์กับผู้อื่น ขณะที่มีเจตนาสละเพื่อประโยชน์กับผู้อื่น ไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิก เกิดขึ้น คือ อโลภเจตสิก ที่ไม่ติดข้อง จึงสละในขณะนั้น เมื่อเกิดร่วมกับจิต ก็เป็นจิตที่ดีงาม จึงเป็น กุศลจิต นั้น เมื่อเป็นเจตนาให้ เพื่อประโยชน์ผู้อื่น ขณะนั้นก็เป็นกุศลในขั้นทาน คือ ทานกุศล ครับ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
2. ผู้รับนำไปแจกจ่ายให้ผู้อื่นต่อ เนื่องจากมีปริมาณมากเกินกว่าที่จะบริโภคเอง เพราะคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อื่น ไม่ต้องเหลือทิ้ง ผู้ให้ท่านแรกจะได้กุศลสองต่อหรือไม่ครับ ถ้าแจ้งให้ท่านทราบว่า นำของที่ได้รับจากท่านไปแบ่งให้ผู้อื่นได้ใช้ประโยชน์?
กุศลสามารถเกิดสลับกัน และเกิดได้อีกตามแต่เหตุปัจจัย ไม่ใช่เพียงครั้งเดียว เพราะฉะนั้น เมื่อมีเจตนาให้ครั้งแรกแล้ว มีผู้รับ กุศลสำเร็จแล้ว เป็นทานกุศลในครั้งแรก แต่เมื่อมีของมาก ผู้รับก็แบ่งต่อให้คนอื่น แล้วบอกกับผู้ให้ว่า จะให้คนอื่น ผู้รับท่านอื่น ซึ่งผู้ให้ครั้งแรก หากเกิดจิตที่คิดจะให้ โดยคิดในใจ หรือ บอกว่าดีแล้วเป็นต้น ให้กับบุคคลอื่น ก็เป็นกุศลจิตที่เกิดขึ้นอีกได้ ที่เป็นทานกุศล หากแต่ไม่ได้หมายถึงว่า เป็นกุศลสองต่อ แต่หมายถึง เกิดกุศลจิต กุศลกรรมที่สำเร็จได้อีกในการให้ต่อๆ ไป เพราะได้รับทราบจากผู้รับท่านแรก และอนุญาตด้วยจิตที่เป็นกุศลในการให้กับบุคคลอื่นๆ ต่อไป ครับ หรือเกิดกุศลขั้นอื่น เช่น อนุโมทนา ในการทำความดีของผู้ที่จะให้ต่อไป ครับ
ถ้าทานกุศลในชีวิตประจำวันไม่เกิดเลย จะดำเนินไปถึงการดับกิเลสได้อย่างไร การเจริญกุศล ก็ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น แต่เพื่อขัดเกลากิเลส กุศลเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี ควรที่จะอบรมเจริญในชีวิตประจำวัน ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นจะเบาสบาย ผ่องใส ซึ่งจะตรงกันข้ามกับขณะที่จิตเป็นอกุศลอย่างสิ้นเชิง
แม้ในขณะที่ให้ทาน ไม่ใช่ให้เพื่อหวังผลเป็นสิ่งตอบแทนจากการให้ เป็นต้น แต่เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ความตระหนี่ ถ้าเป็นผู้ได้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม ก็จะทำให้เห็นอกุศลที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง แล้วเริ่มขัดเกลากิเลสของตนเองและเป็นผู้ที่เข้าใจในเหตุในผลมากยิ่งขึ้น ทั้งหมดย่อมเป็นเพราะได้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม ปัญญาเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนั้น
การเจริญกุศลเพื่อหวังสิ่งหนึ่งสิ่งใดตอบแทนนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ถ้าเริ่มเข้าใจพระธรรมไปตามลำดับแล้ว การเจริญกุศลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นในขั้นของทาน (การให้ สละวัตถุสิ่งของ เพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น อันเป็นการสละซึ่งความตระหนึ่) ขั้นของศีล (งดเว้นจากทุจริตกรรมประการต่าง ๆ และประพฤติในสิ่งทีดีงาม) และขั้นของภาวนา (การอบรมเจริญความสงบของจิต และการอบรมเจริญปัญญาที่ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง) ย่อมเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสทั้งสิ้น
...ขออนุโมทนา ครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กุศล เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีโทษเป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ทานกุศล ก็เป็นความดีประการหนึ่ง แม้การให้ของฝาก ก็เป็นการให้ทานเพื่อประโยชน์แก่ผู้รับ แม้ว่าจะมอบให้ด้วยตนเอง หรือ ไม่ได้มอบด้วยตนเองแต่ฝากให้คนอื่นไปให้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้รับเหมือนกัน ด้วยเจตนาที่จะสละสิ่งของเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ด้วยความเป็นมิตรเป็นเพื่อน ก็เป็นปกติธรรมดา เป็นการเจริญกุศลอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวัน
การได้สิ่งที่น่าปรารถนา เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เมื่อได้รับสิ่งที่ดีจากผู้อื่น กุศลจิตก็สามารถเกิดได้ตามการสะสมของแต่ละคน อนุโมทนาในกุศลจิตของผู้ให้ นอกจากนั้นสิ่งของที่ได้มา ยังสามารถแบ่งปัน สละเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นได้อีก จะเห็นได้ว่า กุศลสามารถเกิดได้ ตามเหตุปัจจัย ถ้าเห็นประโยชน์ของกุศล เห็นคุณของคุณความดี ก็จะไม่ละเลยโอกาศแห่งการเจริญกุศล เพราะถ้ากุศลไม่เกิด ก็จะเป็นโอกาสเกิดขึ้นของอกุศล ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...