กริยาจิตกับเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย

 
papon
วันที่  24 ก.ค. 2557
หมายเลข  25157
อ่าน  2,738

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

"เจตสิกที่เกิดร่วมกับกริยาจิต" ขอความอนุเคราะห์อาจารย์ช่วยกรุณาอธิบายเพื่อความเข้าใจด้วยครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 24 ก.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เจตสิก หมายถึง สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต สำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต เจตสิกมีมากมายถึง ๕๒ ประเภท มีผัสสะ เวทนา สัญญา เป็นต้น เป็นจริงแต่ละหนึ่ง มีลักษณะเฉพาะของตนๆ เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของตนๆ แล้วก็ดับไป เจตสิกย่อมเกิดขึ้นกับจิตตามสมควรแก่จิตประเภทนั้นๆ

สิ่งที่มีจริงคือเจตสิก จึงหมายถึง สภาพธรรมที่ประกอบกับจิต คือ เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน เกิดที่เดียวกัน และรู้อารมณ์เดียวกันกับจิต จึงเป็นสัมปยุตตธรรมซึ่งกันและกัน เพราะเป็นนามธรรมที่สามารถกลมกลืนกันได้อย่างสนิท เจตสิกมี ๕๒ ดวง (ประเภท) ซึ่งจำแนกเป็นพวกใหญ่ๆ ได้ ๓ พวก คือ...

๑. อัญญสมานาเจตสิกมี ๑๓ ดวง เป็นเจตสิกที่เสมอกันกับจิตอื่น คือเกิดกับจิตชาติใดก็เป็นชาตินั้น อัญญสมานาเจตสิกจึงเกิดได้กับจิตทั้ง ๔ ชาติ

๒. อกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับอกุศลจิตเท่านั้น แต่ก็ยังแยกประเภท เช่น

- โลภเจตสิกเกิดได้กับโลภมูลจิต

- โทสเจตสิกเกิดได้กับโทสมูลจิต

- โมหเจตสิกเกิดได้กับอกุศลจิตทุกดวง เป็นต้น

๓. โสภณเจตสิก ๒๕ ดวง เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับโสภณจิต ซึ่งโสภณจิตแต่ละดวงมีเจตสิกเท่ากันบ้าง ไม่เท่ากันบ้าง แล้วแต่การประกอบ

--------------------------------------------------

กิริยาจิต มาจากคำว่า กิริยา (สักว่ากระทำ) + จิตฺต (จิต) = จิตที่สักว่ากระทำกิจ หมายถึง จิตที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่วิบากจิต ไม่ใช่จิตชาติที่เป็นเหตุ และไม่ใช่จิตชาติที่เป็นผล เป็นกิริยาชาติ คือ เกิดขึ้นสักแต่ว่าทำกิจการงานให้สำเร็จเท่านั้น

กิริยาจิตมี ๒๐ ดวง ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์มีกิริยาจิตเพียง ๒ ดวง ซึ่งเป็นอเหตุกกิริยาจิตเท่านั้น คือ ปัญจทวารวัชชนจิตทำกิจรำพึง (รู้) อารมณ์ทางปัญจทวาร และมโนทวารวัชชนจิตทำกิจรำพึงถึง (รู้) อารมณ์ทางมโนทวาร หรือ ทำโวฏฑัพพนกิจทางปัญจทวาร

ส่วนกิริยาจิตนอกนั้น ล้วนเป็นของพระอรหันต์ทั้งสิ้น พระอรหันต์จึงมีกิริยาจิตได้ ถึง ๒๐ ดวง (แล้วแต่ว่าจะได้รูปฌานและอรูปฌานหรือไม่) ซึ่งเจตสิกที่เกิดพร้อมกับกิริยาจิตก็มีหลากหลายมากมายเพียงแต่สามารถกล่าวสรุปสั้นๆ ได้ว่า อกุศลเจตสิกไม่สามารถเกิดกับกิริยาจิตได้ แต่ เจตสิกประเภทอื่นๆ สามารถเกิดกับกิริยาจิตได้ ตามประเภทของกิริยาจิต ครับ

...ขออนุโมทนา ครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 24 ก.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อกล่าวถึงจิต แล้ว เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เมื่อจิตเกิดขึ้น ก็ไม่ได้มีเพียงจิตเกิดมาอย่างเดียว แต่ต้องมีเจตสิกธรรมเกิดร่วมด้วย ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ จิต มี ๔ ชาติ โดยไม่ปะปนกัน กล่าวคือ จิตเกิดขึ้นเป็น กุศล ก็เป็นกุศลชาติหรือชาติกุศล จิตเกิดขึ้นเป็น อกุศล ก็เป็นอกุศลชาติ จิตเกิดขึ้นเป็น วิบาก ก็เป็นวิบากชาติ จิตเกิดขึ้นเป็น กิริยา ก็เป็นกิริยาชาติ

ดังนั้น จิต เกิดขึ้นเป็นชาติอะไร เจตสิกธรรมที่เกิดร่วมกับจิตชาตินั้น ก็มีความเป็นชาติเดียวกันกับจิตชาตินั้นด้วย กล่าวคือ ถ้าจิตเป็นชาติกุศล เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นชาติกุศลด้วย เป็นต้น ดังนั้นถ้าจิตเกิดขึ้นเป็นกิริยา เจตสิกที่เกิดร่วมกับกิริยาจึงเป็นชาติกิริยาด้วย ตัวอย่างจิต ชาติกิริยา คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต มโนทวาราวัชชนจิต เป็นต้น ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ มีกิริยาจิตเพียง ๒ ประเภทนี้เท่านั้น แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้ว มีกิริยาจิตมากกว่านี้ มีมหากิริยาจิต ๘ เป็นต้น ก็มีเจตสิกธรรม เกิดร่วมด้วย ตามควรแก่กิริยาจิตประเภทนั้นๆ

ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเท่านั้น จึงสามารถเข้าใจได้ว่า จิตขณะไหน เป็นกุศล เป็นอกุศล เป็นวิบาก และเป็นกิริยา เพราะบุคคลผู้ทรงตรัสรู้ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ดังนั้น จึงต้องฟังคำของพระองค์ จึงจะเข้าใจได้ แม้จะยังไม่สามารถประจักษ์แจ้งในลักษณะของความเป็นจริงของจิตแต่ละขณะได้ แต่การได้ฟังได้ศึกษาในเรื่อง ก็จะทำให้ค่อยๆ สะสมความเข้าใจความเป็นจริงของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ที่เกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสายว่า เป็นธรรม ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่ใช่เรา ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 24 ก.ค. 2557

โสภณเจตสิก เช่น ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เกิดกับกิริยาจิตได้ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
peem
วันที่ 16 มิ.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ