ช่วยตรวจสอบหน่อยครับว่าปาราชิกไหม
คือมีอยู่วันหนึ่งผมโทรไปหาโยมเพื่อนที่เป็นคนขับรถส่งน้ำ ว่าถ้ามีน้ำเหลือก็มาใส่ที่ถังน้ำในกุฏ เพราะว่าน้ำที่เขาเหลือมักจะเททิ้งจนหมด เมื่อโยมเพื่อนเอาน้ำมาใส่ให้ ผมก็เลยยื่นเงินให้ ไปซื้อของกินเล่น แต่โยมเพื่อนไม่เอาบอกว่าทำบุญ แต่ที่ข้องใจคือว่าโยมเพื่อนเอาน้ำมาให้โดยไม่บอกเจ้าของบริษัท แล้วผมบอกว่าแกไม่ว่าอะไรเหรอ โยมเพื่อนเลยบอกว่าแกไม่ว่าอะไรหรอก แบบนี้จะอาบัติปาราชิกไหมครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบนมัสการพระคุณเจ้า ครับ
ปาราชิก คือ ประเภทของโทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบท ประเภทครุอาบัติ อาบัติหนักที่สุดที่เรียกว่าอาบัติปาราชิก พระภิกษุต้องอาบัติปาราชิกสี่ข้อใดข้อหนึ่งแม้จะไม่กล่าวลาสิกขาบท ก็ถือว่าขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที เมื่อความผิดสำเร็จ
ปาราชิก มี 4 ข้อ อยู่ใน ศีล 227 ได้แก่
1. เสพเมถุน แม้กับสัตว์เดรัจฉานตัวเมีย (ร่วมสังวาสกับคนหรือสัตว์)
2. ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ มาเป็นของตน จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี (ขโมย)
3. พรากกายมนุษย์จากชีวิต (ฆ่าคน) หรือ แสวงหาศาสตรา อันจะนำไปสู่ความตาย แก่ร่างกายมนุษย์
4. กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความเห็นอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้าในตัวว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ (ไม่รู้จริง แต่โอ้อวดความสามารถของตัวเอง)
ซึ่งในกรณีที่พระคุณเจ้า สอบถามมานั้น ไม่ได้เป็นอาบัติปาราชิก เพราะไม่มีเจตนาที่จะลักขโมย ที่เรียกว่า ไถยจิตเลย และ น้ำที่เหลือ เจ้าของก็ไม่ได้หวงแหน เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องอาบัติปาราชิกแต่อย่างใด ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบนมัสการพระคุณเจ้าที่เคารพ
พระวินัย เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ถ้าไม่ได้มีเจตนาที่จะทำอะไรที่ผิด จะในลักษณะใดๆ ก็ตาม เช่น ไม่มีเจตนาที่จะลักขโมย เป็นต้น ก็ไม่มีอาบัติ แต่ถ้าจะให้สบายใจยิ่งขึ้น พระคุณเจ้าอาจจะถามโยมเพื่อนก็ได้ว่า น้ำที่นำมาส่งให้นั้น เจ้าของบริษัทมีความเห็นว่าอย่างไร บางครั้งบางทีถ้าท่านได้ทราบว่านำน้ำมาถวายพระภิกษุ ท่านอาจจะมีความปีติยินดีก็ได้ หรือ อาจจะบอกกับโยมเพื่อนว่า ให้บอกให้เจ้าของบริษัทได้ทราบก่อน ดังนั้น ถ้าเราได้ทำอะไรด้วยความละเอียดรอบคอบ ด้วยความถูกต้อง ก็จะไม่เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนใจในภายหลัง ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
แล้วแบบไหนถึงเรียกว่าเจตนาครับ อ้างอิงจากเรื่องที่เล่ามาครับ