ลืมปลดเบรคมือบ่อยๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะขาดสติ หรือเพราะอะไรครับ

 
chatchai.k
วันที่  7 ส.ค. 2557
หมายเลข  25231
อ่าน  1,248

เวลาจะออกรถมักลืมปลดเบรกมือบ่อยๆ เป็นเพราะขณะนั้นขาดสติหรือเพราะเหตุใด มีเจตสิกอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ประเภทนี้หรือไม่ครับ มีวิธีฝึกอย่างไรไม่ให้ลืมบ่อยๆ เพราะถ้าเกิดบ่อยๆ อาจทำให้รถเกิดความเสียหายได้ใช่ไหมครับ ขอความอนุเคราะห์จากท่านผู้มีความรู้เรื่องเครื่องยนต์ ช่วยตอบในประเด็นทางเทคนิคนี้ครับ และเคยเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้กับท่านหรือไม่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 7 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สติ ตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นเจตสิก สติเป็นเจตสิกฝ่ายดี คือเกิดกับจิตที่ดีงาม ไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย สติ ทำหน้าที่ระลึกเป็นไปในทางที่ดี และ สติเป็นธรรมที่เป็นเครื่องกั้นกระแสกิเลส

สติ มีหลายอย่าง หลายชนิด แต่ สติ ก็ต้องกลับมาที่ สติเป็น สภาพธรรมฝ่ายดีครับ สติแบ่งตามระดับของกุศลจิต เพราะเมื่อใด กุศลจิตเกิด สติจะต้องเกิดร่วมด้วย กุศลจิต มี 4 ขั้น คือ ขั้นทาน ศีล สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา

สติจึงมี 4 ขั้น คือ สติที่ระลึกเป็นไปในทาน สติที่ระลึกไปในศีล สติที่ระลึกเป็นไปในสมถภาวนา และ สติที่ระลึกเป็นไปในวิปัสสนาภาวนา

สติขั้นทาน คือ เมื่อสติเกิดย่อมระลึกที่จะให้ สติขั้นศีล คือ ระลึกที่จะไม่ทำบาป งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ สติขั้นสมถภาวนา เช่น ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า และสติขั้นวิปัสสนา คือ สติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ เกิดพร้อมปัญญารู้ความจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ครับ

ดังนั้น สติ จึงเป็นสภาพธรรม ที่ระลึกเป็นไปในกุศลทั้งหลาย และขณะใดที่สติเกิด ขณะนั้นอกุศลไม่เกิด เพราะกั้นกระแสกิเลสในขณะนั้น

ขอเพิ่มเติมความละเอียดของสติ ดังนี้ ครับ

โดยมาก คนไทย นำภาษาบาลีมาใช้ โดยไม่ตรงกับความหมายของภาษาบาลี และ ไม่ตรงกับความหมายของพระธรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงครับ เช่น คำว่า สติ

สติในภาษาไทย ก็เข้าใจกันว่า ทำอะไร ก็รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ เดินก็รู้ว่าเดินอยู่ ซื้อของก็ให้มีสติ น้ำท่วมก็ให้มีสติ สรุปว่าคนไทยที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรม เข้าใจว่าสติ คือ รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ชื่อว่า มี สติ หรือ ไม่ลืมปลดเบรคมือ ก็มี สติ ความหมายสตินี้ไม่ตรงตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงครับ

สติ ที่ถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง คือ สติ เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี เป็นเจตสิกเกิดกับจิตที่ดีเท่านั้น ไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย ดังนั้น ขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นไม่มีสติ ขณะใดที่เป็นกุศล ไม่ว่าระดับใด ขณะนั้นมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยครับ สติทำหน้าที่ระลึก และกั้นกระแสกิเลสที่เกิดขึ้นไม่ให้เกิดขึ้นในขณะที่สติเกิด ครับ ดังนั้น การลืมปลดเบรคมือ ไม่ได้หมายถึงว่า เพราะไม่มีสติ ตามที่ภาษาไทยพูดกัน แต่ไม่มีสติ และไม่มีวิตกเจตสิกที่นึกขึ้นได้ ในการลืมปลดเบรคมือ ครับ

ดังนั้นต้องเป็นกุศล จึงจะมีสติ และขณะที่รู้ว่าจะต้องทำอะไรในขณะนั้น รู้ว่าเดินอยู่นั่งอยู่ แต่จิตไม่ได้เป็นไปในในทาน ศีล ภาวนา ไม่เป็นกุศล หรือ เพียงรู้ว่าจะต้องทำอะไร ไม่ใช่สติ ครับ

ซึ่ง วิธีการจะฝึกไม่ลืม คือ การจดจ่อใส่ใจ นึกถึงเรื่องนั้นบ่อยๆ ก็จะทำให้เกิดสัญญาจำ ในเรื่องนั้นบ่อยๆ และมนสิการ ใส่ใจในเรื่องนั้นบ่อยๆ อันเป็นเหตุให้เกิดวิตก นึกขึ้นได้ง่ายขึ้น ที่จะไม่ลืมปลดเบรคมือ แต่ไม่ควรลืมว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ และเข้าใจถูกว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
peem
วันที่ 7 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 7 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ในสภาพธรรมที่มีจริงๆ โดยไม่ปะปนกัน เพราะเหตุว่า สภาพธรรมเป็นจริงแต่ละหนึ่งๆ เช่น สติ ก็อย่างหนึ่ง สัญญา ก็อย่างหนึ่ง วิตักกะ ก็อย่างหนึ่ง วิริยะ ก็อย่างหนึ่ง มนสิการะ ก็อย่างหนึ่ง เป็นต้น และ เป็นที่แน่นอนว่า ตั้งแต่เกิดจนตาย พูดคำที่ไม่รู้จักจริงๆ สติ ก็เคยพูด สัญญา ก็เคยพูด จิตใจ ก็เคยพูด แต่ไม่สามารถเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้ จนกว่าจะได้ฟังพระธรรมให้เข้าใจ

จะเห็นได้ถึงความละเอียดลึกซึ้งของแต่ละคำที่เป็นวาจาสัจจะ จริงๆ

สติ มีจริงเป็นสภาพธรรมฝ่ายดีเป็นโสภณธรรมที่ระลึกได้ในกุศลทั้งหลาย, ขณะที่อกุศลเกิดขึ้นในวันหนึ่งๆ นั้น ขณะนั้นสติ ไม่ได้เกิดขึ้นระลึกเป็นไปใน ทาน ศีล ภาวนาเลย กุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปในทาน ศีล หรือภาวนาขณะใด ขณะนั้นสติก็เกิดขึ้นระลึกเป็นกุศลประเภทนั้นๆ นอกจากนั้น สติ ยังเป็นสภาพธรรมเครื่องรักษา กล่าวคือรักษาให้เป็นไปในกุศลธรรม และกั้นกระแสอกุศลธรรมทั้งหลายไม่ว่าอยู่ในที่ไหนเวลาใดก็ตาม เพราะเมื่อสติเกิดขึ้นย่อมเกิดรักษาจิตให้เป็นในกุศล และกั้นกระแสอกุศลในขณะนั้น ทำให้รอดพ้นจากอกุศลได้ ในขณะที่จิตเป็นกุศล ซึ่งประกอบด้วยสติ และสภาพธรรมฝ่ายดีอื่นๆ มีศรัทธา อโลภะ อโทสะ หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น

ดังนั้น ขณะใดก็ตาม ที่ไม่ได้เป็นไปในกุศลประการหนึ่งประการใด ขณะนั้นไม่ใช่สติ แต่อาจจะเป็นสภาพธรรมอย่างอื่น ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ แม้แต่ที่ลืมอะไรบ่อยๆ ขณะนั้นไม่มีสติ และไม่ใช่สภาพธรรมที่เป็นกุศลด้วย และแม้จะไม่ลืมในการกระทำสิ่งนั้น แต่ถ้าไม่ใช่กุศลธรรมแล้ว ขณะนั้น ก็ไม่ใช่สติอีกเหมือนกัน การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ไตร่ตรองในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ทบทวนในสิ่งนั้นบ่อยๆ ตลอดจนถึงการจดบันทึก เป็นต้น ก็จะเป็นการช่วยให้ไม่ลืมในสิ่งนั้นๆ ได้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 7 ส.ค. 2557

สติทางโลก ไม่หลงลืม ส่วนสติทางธรรมเป็นฝ่ายกุศล ระลึกที่จะให้ทาน รักษาศีล อบรมปัญญา วิธีที่จะไม่ลืม ต้องใส่ใจตั้งใจ คิดถึงสิ่งที่จะทำบ่อยๆ ก็จะช่วยได้ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
thilda
วันที่ 8 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ