มาตุโปสกชาดก ว่าด้วยพญาช้างเลี้ยงมารดา

 
khampan.a
วันที่  8 ส.ค. 2557
หมายเลข  25246
อ่าน  1,543

[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้าที่ ๔

มาตุโปสกชาดก

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภภิกษุผู้เลี้ยงมารดา จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ตสฺส นาคสฺส วิปฺปวาเสน ดังนี้.

.. ก็พระศาสดาตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้ว ตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่ายกโทษภิกษุนี้เลย โปราณกบัณฑิต (บัณฑิตในปางก่อน) ทั้งหลาย แม้บังเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน พรากจากมารดาซูบซีดไป เพราะอดอาหาร ๗ วัน แม้ได้โภชนะอันสมควรแก่พระราชา ก็คิดว่าพวกเราเว้นจากมารดาเสีย จักไม่บริโภค พอเห็นมารดา ก็ยึดถือเอาอาหาร ดังนี้แล้ว อันภิกษุทั้งหลายทูลอาราธนา จึงทรงนำอดีตนิทาน (ความเป็นไปในอดีต) มาแสดง ว่า

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยพระราชสมบัติในกรุงพาราณสี ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดช้าง ในหิมวันตประเทศได้เป็นสัตว์เผือกปลอด มีรูปงาม น่าชม น่าเลื่อมใส สมบูรณ์ด้วยลักษณะ มีความเจริญโดยลำดับ มีช้าง ๘๐,๐๐๐ เชือกเป็นบริวาร

ส่วนมารดาของท่าน เป็นช้างตาบอด แต่ท่านได้ให้ผลไม้ มีรสอร่อยแก่ช้างทั้งหลาย แล้วส่งไปยังสำนักของมารดา ช้างทั้งหลายไม่ได้ให้แก่มารดาเลย เคี้ยวกินด้วยตนเอง ท่านกำหนดรู้เรื่องนั้น คิดว่า เราจักละโขลงแล้ว เลี้ยงแต่มารดาเท่านั้น ครั้นถึงส่วนแห่งราตรี เมื่อช้างเหล่าอื่นไม่รู้อยู่ จึงพามารดาไปยังเชิงเขา ชื่อว่า จัณโฑรณะ แล้วพักมารดาไว้ที่ถ้ำแห่งภูเขา ซึ่งอยู่ติดแถบอีกข้างหนึ่งแล้วเลี้ยงดู.

ลำดับนั้น พรานไพร ชาวกรุงพาราณสีคนหนึ่ง เป็นคนหลงทาง เมื่อไม่อาจกำหนดทิศได้ จึงร้องไห้ด้วยเสียงอันดังลั่น. พระโพธิสัตว์ ได้ยินเสียงของพรานไพรนั้น คิดว่า บุรุษนี้เป็นคนไร้ที่พึ่ง ข้อที่เขาพึงพินาศไปในที่นี้ เมื่อเรายังอยู่ ไม่สมควรแก่เราเลย ดังนี้แล้ว จึงไปหาเธอ เห็นเธอกำลังหนีไปด้วยความกลัว จึงถามว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ท่านไม่มีภัยเพราะอาศัยเรา ท่านอย่าหนีไปเลย เพราะเหตุไร ท่านจึงเที่ยวร้องไห้ร่ำไรอยู่เล่า เมื่อเขากล่าวว่า ข้าแต่นาย กระผมเป็นคนหลงทาง วันนี้เป็นวันที่ ๗ สำหรับผม จึงกล่าวว่า ดูกร บุรุษผู้เจริญ ท่านอย่ากลัวเลย เราจักวางท่านไว้ในถิ่นมนุษย์ ดังนี้แล้ว ให้เขานั่งบนหลังตน นำออกจากป่าแล้ว กลับไป ฝ่ายเขาเป็นคนชั่วคิดว่า เราไปยังนครแล้ว จักทูลแก่พระราชา ดังนี้แล้ว จึงทำต้นไม้เป็นเครื่องหมาย ทำภูเขาเป็นเครื่องหมาย ได้ออกไปยังกรุงพาราณสี.

ในกาลนั้น ช้างมงคลของพระราชาได้ทำกาละไป พระราชาตรัสสั่งให้ตีกลองร้องประกาศว่า ถ้าใครๆ เห็นช้างตัวเหมาะ ที่ส่งเสียงร้องในที่ใดที่หนึ่งผู้นั้นจงบอก บุรุษนั้นเข้าไปเฝ้าพระราชาแล้วทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ได้เห็นพญาช้าง ตัวมีสีเผือกปลอด เหมาะเพื่อจะทำการฝึก ข้าพระองค์จักแสดงหนทาง ขอพระองค์จงส่งนายหัตถาจารย์ พร้อมกับข้าพระองค์ ไปให้จับช้างนั้นเถิด.

พระราชาตรัสรับคำแล้วจึงตรัสว่า พวกเธอจงทำผู้นี้ให้เป็นผู้นำทาง ไปยังป่านำพญาช้างที่บุรุษนี้พูดไว้ ดังนี้แล้ว พร้อมด้วยบุรุษนั้น จึงส่งนายหัตถาจารย์ พร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก นายหัตถาจารย์ไปกับบุรุษนั้น เห็นช้างพระโพธิสัตว์ กำลังเข้าไปยังที่ซ่อนเร้น กำลังถือเอาอาหาร ฝ่ายพระโพธิสัตว์เห็นนายหัตถาจารย์แล้ว รู้ว่า ภัยนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากผู้อื่น ชะรอยจักเกิดขึ้นจากสำนักบุรุษชั่วนี้นั้น

ฝ่ายเราแล เป็นผู้มีกำลังมาก และสามารถจะกำจัดช้างได้ตั้ง ๑,๐๐๐ เชือก ครั้นโกรธแล้วสามารถจะนำพาหนะของนายทัพ พร้อมทั้งแว่นแคว้นให้พินาศไปได้ เพราะฉะนั้น วันนี้เขาเอาหอกตอกศีรษะเรา เราก็ไม่โกรธ ดังนี้แล้ว จึงน้อมศีรษะลงได้ยืนนิ่งเฉย นายหัตถาจารย์ลงสู่สระปทุม เห็นความสมบูรณ์แห่งลักษณะของพระโพธิสัตว์นั้น จึงกล่าวว่า มาเถอะพ่อ แล้วจับงวงอันเสมือนกับพวงเงิน

ในวันที่ ๗ จึงถึงกรุงพาราณสี ฝ่ายมารดาพระโพธิสัตว์ เมื่อบุตรยังไม่มาจึงคร่ำครวญว่า ชะรอยว่า พระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชา นำเอาบุตรของเราไป บัดนี้ หมู่ป่าไม้นี้จักเจริญ เพราะอยู่ปราศจากช้างนั้น ดังนี้ จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า

ไม้อ้อยช้าง ไม้มูกมัน ไม้ช้างน้าว หญ้างวงช้าง ข้าวฟ่าง และลูกเดือย งอกงามขึ้นแล้วเพราะพญาช้างนั้นพลัดพรากไป อนึ่ง ต้นกรรณิการ์ทั้งหลายที่เชิงเขาก็เผล็ดดอกบาน

พระราชาหรือพระราชกุมารประทับนั่งบนคอ พญาช้างใด ซึ่งไม่มีความสะดุ้ง ย่อมกำจัดเสียซึ่งปัจจามิตรทั้งหลาย อิสรชนผู้ประดับด้วยอาภรณ์อันงดงามผู้หนึ่ง ย่อมเลี้ยงดูพญาช้างนั้นด้วยก้อนข้าว.

[บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า วิรุฬฺหา ได้แก่ ชื่อว่า ความเจริญ ท่านกล่าวด้วยอำนาจความหวังว่า ในข้อนี้ไม่มีความสงสัยเลย

บทว่า สลฺลกิโย จ กุฏฺชา ได้แก่ ไม้อ้อยช้าง และไม้มูกมัน.

บทว่า กุรุวินฺทกรวรา ภิสสาม ความว่า ไม้ช้างน้าว หญ้างวงช้าง ข้าวฟ่าง และลูกเดือย. นางช้างคร่ำครวญว่า ก็หมู่ป่าไม้ทั้งหมดนี้ จักเจริญในบัดนี้.

บทว่า นิวาเต ได้แก่ ที่เชิงภูเขา.

บทว่า ปุปฺผิตา ท่านอธิบายไว้ว่า กิ่งไม้ทั้งหลายที่ไม่ได้ถูกบุตรของเราหักเคี้ยวกิน และต้นกรรณิการ์ก็จักผลิดอกบาน.

บทว่า โกจิเทว ได้แก่ ในที่ใดที่หนึ่ง จะเป็นบ้านหรือพระนครก็ตาม.

บทว่า สุวณฺณกายุรา ได้แก่ พระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชา ผู้มีเครื่องประดับทำด้วยทองคำ.

บทว่า ภรนฺติ ปิณฺเฑน ความว่า ในวันนี้ จักเลี้ยงพญาช้างตัวเลี้ยงมารดา ด้วยปิณฑะที่เจริญดีด้วยโภชนะอันสมควรแก่พระราชา.

บทว่า ยตฺถ ความว่า พระราชาประทับนั่งบนหลังพญาช้างเชือกใด.

บทว่า กวจมภิเหสฺสติ ความว่า พระราชาหรือพระราชกุมาร จักเข้าไปสู่สงคราม กำจัด ทำลายเกราะของหมู่ข้าศึก ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ว่า พระราชาหรือพระราชกุมาร ประทับนั่งในที่ใด คือ บนหลังลูกของเรา ไม่มีความสะดุ้งกลัว จักทำลายเกราะของหมู่ข้าศึก วันนี้พวกเขามีอาภรณ์อันล้วนด้วยทองคำ ย่อมเลี้ยงพญาช้างของเรานั้นด้วยก้อนข้าว]

ฝ่ายนายหัตถาจารย์ ดำเนินไปในระหว่างทาง ส่งสาส์นไปถึงพระราชา พระราชาตรัสสั่งให้ตบแต่งพระนคร. ฝ่ายนายหัตถาจารย์ นำพระโพธิสัตว์ที่เขาประพรมด้วยของหอม ประดับตกแต่งเข้าไปยังโรงช้าง ให้ล้อมด้วยม่านอันวิจิตร ให้ผูกเพดานอันวิจิตรไว้ข้างบน แล้วให้กราบทูลแด่พระราชา พระราชาทรงนำโภชนะ มีรสอันเลิศต่างๆ มาให้แก่พระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์คิดว่า เราเว้นมารดาเสีย จักไม่ยอมรับอาหาร ดังนี้แล้ว จึงไม่รับอาหาร ลำดับนั้น พระราชาเมื่อจะทรงอ้อนวอนพระโพธิสัตว์ จึงตรัสคาถาที่ ๓ ว่า

ดูก่อนพญาช้างตัวประเสริฐ เชิญพ่อรับเอาคำข้าวเถิด อย่าได้ผ่ายผอมเลย ราชกิจมีเป็นอันมาก ท่านจักต้องทำราชกิจเหล่านั้น.

พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า

นางช้างนั้น เป็นกำพร้า ตาบอด ไม่มีผู้นำทาง คงจะสะดุดตอไม้ล้มลงตรงภูเขาจัณโฑรณะเป็นแน่.

[บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สา นูน สา แปลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า นางช้างนั้น เป็นกำพร้าแน่นอน.

บทว่า กปฺปณิกา ได้แก่ เป็นกำพร้าเพราะพลัดพรากจากบุตร.

บทว่า ขาณุ ได้แก่ ท่อนไม้ที่โค่นล้มลงในที่นั้นๆ .

บทว่า ฆฏฺเฏติ ความว่า นางช้างร่ำไรรำพัน จึงได้สะดุดตรงที่นั้นๆ เป็นแน่.

บทว่า จณฺโฑรณํ ปติ ความว่า นางช้างเดินบ่ายหน้าสู่ภูเขาชื่อว่า จัณโฑรณะคร่ำครวญอยู่ที่เชิงเขา]

ลำดับนั้น พระราชาเมื่อจะตรัสถามพระโพธิสัตว์ จึงตรัสคาถาที่ ๕ ว่า

ดูกร พญาช้าง นางช้างตาบอดหาผู้นำทางมิได้ คงจะสะดุดตอไม้ล้มลงตรงภูเขาจัณโฑรณะนั้น เป็นอะไรกับท่านหรือ

พระโพธิสัตว์ กล่าวคาถาที่ ๖ ว่า

ข้าแต่พระมหาราชา นางช้างตาบอดไม่มีผู้นำทาง คงจะสะดุดตอไม้ล้มลงตรงภูเขา ชื่อ จัณโฑรณะนั้น เป็นมารดาของข้าพระองค์

พระราชา ทรงสดับเนื้อความแห่งคาถาที่ ๖ นั้น เมื่อจะให้ปล่อยไป จึงตรัสคาถาที่ ๗ ว่า

พญาช้างนี้ ย่อมเลี้ยงดูมารดา ท่านทั้งหลายจงปล่อยพญาช้างนั้นเสียเถิด พญาช้างตัวประเสริฐจงอยู่ร่วมกับมารดา พร้อมด้วยญาติทั้งหลายเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โยยํ ภรติ ความว่า พญาช้างนี้ กล่าวว่า ข้าแต่พระมหาราชา ข้าพระองค์เลี้ยงมารดาตาบอด เว้นข้าพระองค์เสีย มารดาของข้าพระองค์ ก็จักถึงความสิ้นชีวิต เว้นมารดาเสีย ข้าพระองค์ไม่มีความต้องการด้วยความเป็นใหญ่เลย วันนี้ เมื่อมารดาของข้าพระองค์ไม่ได้อาหารเป็นวันที่ ๗ เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงปล่อยพญาช้างที่เลี้ยงมารดานี้ พญาช้างนั้นจงมาอยู่ร่วมกับมารดา พร้อมด้วยญาติทั้งหมด.

อภิสัมพุทธคาถาที่ ๘ และที่ ๙ มีดังนี้

พญาช้าง อันพระเจ้ากาสีทรงปล่อยแล้ว พอหลุดพ้นจากเครื่องผูก พักอยู่ครู่หนึ่ง ได้ไปยังภูเขา จากนั้นเดินไปสู่สระบัวอันเย็น ที่เคยส้องเสพมา แล้วดูดน้ำ ด้วยงวงมา รด มารดา.

ได้ยินว่า พญาช้างนั้นพ้นจากเครื่องผูก พักอยู่หน่อยหนึ่ง แล้วแสดงธรรมแก่พระราชาด้วยทศพิธราชธรรมคาถาแล้วให้โอวาทว่า ข้าแต่พระมหาราชา ขอพระองค์จงอย่าเป็นผู้ประมาทเลย อันมหาชนบูชาอยู่ด้วยเครื่องสักการะมีของหอมและดอกไม้เป็นต้น ออกจากพระนคร ถึงสระปทุมนั้น ในขณะนั้นนั่นเอง คิดว่า เราไม่ให้มารดาของเรารับเอาอาหาร เราเองก็จักไม่รับ ดังนี้แล้ว จึงถือเอารากเหง้าบัวเป็นอันมาก จึงใช้งวงดูดน้ำจนเต็ม ออกจากที่เร้นในถ้ำ ไปยังสำนักมารดา ตัวนอนอยู่ที่ประตูถ้ำ รดน้ำบนศีรษะเพื่อให้ร่างของมารดาได้สัมผัส เพราะอดอาหารมาตั้ง ๗ วัน.

พระศาสดาเมื่อจะทรงทำให้แจ้งซึ่งความนั้น จึงได้ตรัสคาถา ๒ คาถาเหล่านี้. ฝ่ายมารดาของพระโพธิสัตว์ จึงว่ากล่าวเธอด้วยความสำคัญว่า ฝนตก แล้วกล่าวคาถาที่ ๑๐ ว่า

ฝนอะไรนี้ ไม่ประเสริฐเลย ย่อมตกโดยกาล ที่ไม่ควรตก บุตรเกิดในตนของเรา เป็นผู้บำรุงเราไปเสียแล้ว

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตฺรโช ได้แก่ เกิดในตน.

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ เมื่อจะให้มารดาสบายใจ จึงกล่าวคาถาที่ ๑๑ ว่า

เชิญท่านลุกขึ้นเถิด จะมัวนอนอยู่ทำไม ฉันเป็นลูกของแม่มาแล้ว พระเจ้ากาสีผู้ทรงพระปรีชาญาณ มีบริวารยศใหญ่หลวง ทรงปล่อยมาแล้ว.

[บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาคโต ตฺยาหํ ตัดเป็น อาคโต เต อหํ.

บทว่า เวเทเหน ได้แก่ สมบูรณ์ด้วยญาณ.

บทว่า ยสสฺสินา ได้แก่ มีบริวารมาก อธิบายว่า ฉันถูกพระราชานั้น แม้จับโดยความที่ฉันเป็นช้างมงคลพ้นแล้ว บัดนี้ ฉันมายังสำนักของแม่ แม่จงลุกขึ้นรับอาหารเถิด] .

นางช้างดีใจ เมื่อจะทำอนุโมทนาแด่พระราชา จึงกล่าวคาถาสุดท้ายว่า

พระราชาพระองค์ใด ทรงปล่อยลูกของเรา ตัวประพฤติอ่อนน้อมต่อบุคคลผู้เจริญทุกเมื่อ ขอพระราชาพระองค์นั้น จงทรงพระชนม์ยืนนาน ทรงบำรุงแคว้นกาสีให้เจริญรุ่งเรืองเถิด.

ครั้งนั้น พระราชาทรงเลื่อมใสในพระคุณของพระโพธิสัตว์ ทรงรับสั่งให้สร้างโรงช้างไม่ไกลแต่เมืองนิลีนิ จึงทรงเริ่มตั้งภัตตาหารไว้เนืองนิตย์ เพื่อพระโพธิสัตว์ และมารดา ครั้นภายหลังพระโพธิสัตว์ เมื่อมารดาทำกาละแล้ว ได้ทำการบริหารร่างกายของมารดาแล้ว ไปสู่อาศรมชื่อ กรัณฑกะ

ก็ในที่นั้น ฤาษีจำนวน ๕๐๐ ลงจากภูเขาหิมพานต์มาอยู่ พระโพธิสัตว์ได้ถวายปวัตตทาน (ทานที่เป็นไป) นั้นแด่ฤาษีเหล่านั้น พระราชาทรงรับสั่งให้สร้างรูปปฏิมาอันสำเร็จด้วยศิลามีรูปเท่าพระโพธิสัตว์แล้ว ได้ให้มหาสักการะเป็นไป ประชาชนชาวชมพูทวีป ประชุมกันเป็นประจำปี ได้ทำการฉลองช้าง.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงประกาศสัจจะทั้งหลาย ประชุมชาดกว่า พระราชาในกาลนั้น ได้เป็นพระอานนท์ บุรุษชั่วได้เป็นพระเทวทัต นายหัตถาจารย์ได้เป็นพระสารีบุตร นางช้างนั้นได้เป็นพระนางมหามายาเทวี ส่วนช้างเชือกประเสริฐ ซึ่งเลี้ยงดูมารดา คือเรานั่นเอง ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.

จบอรรถกถามาตุโปสกชาดก


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 6 พ.ย. 2563

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
talaykwang
วันที่ 2 ส.ค. 2565

ขออนุโมทนาในกุศล​ยิ่ง​ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Jarunee.A
วันที่ 8 ม.ค. 2567

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ