วิญญาณจริยา

 
papon
วันที่  9 ส.ค. 2557
หมายเลข  25252
อ่าน  1,593

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

"วิญญาณจริยา" ขอความอนุเคราะห์อาจารย์ช่วยกรุณาให้อรรถาธิบายด้วยครับ

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 9 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิญญาณจริยา หมายถึง วิบากจิตและกิริยา

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ ๗๙๓

จริยานานัตตญาณนิทเทส

[๑๖๕] ปัญญาในการกำหนดจริยา เป็นจริยานานัตตญาณอย่างไร? จริยาในบทว่า จริยา มี ๓ คือ วิญญาณจริยา อัญญาณจริยา ญาณจริยา.

วิญญาณจริยาเป็นไฉน? กิริยา คือ ความนึกเพื่อต้องการดูรูปทั้งหลายเป็นอัพยากฤต เป็นวิญญาณจริยา จักขุวิญญาณอันเป็นแต่เพียงเห็นรูป เป็นวิญญาณจริยา เพราะได้เห็นรูปแล้ว มโนธาตุอันเป็นวิบากที่ขึ้นสู่อารมณ์ เป็นวิญญาณจริยา เพราะขึ้นสู่รูปแล้ว มโนวิญญาณธาตุ อันเป็นวิบาก เป็นวิญญาณจริยา กิริยา คือ ความนึกเพื่อต้องการฟังเสียงเป็นอัพยากฤต เป็นวิญญาณจริยา โสตวิญญาณอันเป็นแต่เพียงฟังเสียง เป็นวิญญาณจริยา เพราะได้ฟังเสียงแล้ว มโนธาตุอันเป็นวิบากที่ขึ้นสู่อารมณ์ เป็นวิญญาณจริยา เพราะขึ้นสู่เสียงแล้ว มโนวิญญาณธาตุอันเป็นวิบาก เป็นวิญญาณจริยา กิริยาคือความนึกเพื่อต้องการดมกลิ่น เป็นอัพยากฤต เป็นวิญญาณจริยา ฆานวิญญาณอันเป็นแต่เพียงดมกลิ่นเป็นวิญญาณจริยา เพราะได้ดมกลิ่นแล้ว มโนธาตุอันเป็นวิบากที่ขึ้นสู่อารมณ์ เป็นวิญญาณจริยา เพราะขึ้นสู่กลิ่นแล้ว มโนวิญญาณธาตุ อันเป็นวิบาก เป็นวิญญาณจริยา กิริยาคือความนึกเพื่อต้องการลิ้มรส เป็นอัพยากฤต เป็นวิญญาณจริยา ชิวหาวิญญาณอันเป็นแต่เพียงลิ้มรส เป็นวิญญาณจริยา เพราะได้ลิ้มรสแล้ว มโนธาตุอันเป็นวิบากที่ขึ้นสู่อารมณ์ เป็นวิญญาณจริยา เพราะขึ้นสู่รสแล้ว มโนวิญญาณธาตุอันเป็นวิบาก เป็นวิญญาณจริยา กิริยาคือความนึกเพื่อต้องการถูกต้อง โผฏฐัพพะเป็นอัพยากฤต เป็นวิญญาณจริยา กายวิญญาณอันเป็นแต่เพียงถูกต้องโผฏฐัพพะ เป็นวิญญาณจริยาเพราะได้ถูกต้องโผฏฐัพพะแล้ว มโนธาตุอันเป็นวิบากที่ขึ้นสู่อารมณ์ เป็นวิญญาณจริยา เพราะขึ้นสู่โผฏฐัพพะแล้ว มโนวิญญาณธาตุอันเป็นวิบาก เป็นวิญญาณจริยา กิริยาคือความนึกเพื่อต้องการรู้แจ้งธรรมารมณ์เป็นอัพยากฤต เป็นวิญญาณจริยา มโนวิญญาณอันเป็นแต่เพียงรู้แจ้งธรรมารมณ์ เป็นวิญญาณจริยา เพราะรู้แจ้งธรรมารมณ์แล้ว มโนธาตุอันเป็นวิบากที่ขึ้นสู่อารมณ์ เป็นวิญญาณจริยา เพราะขึ้นสู่ธรรมารมณ์แล้ว มโนวิญญาณธาตุอันเป็นวิบาก เป็นวิญญาณจริยา.

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 9 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่า จริยา ในพระไตรปิฎกพระพุทธองค์ทรงแสดงไว้หลายนัย หนึ่งในนั้น คือ จริยา ๓ ซึ่งเป็นการกล่าวถึงความเป็นไปของสภาพธรรม คือ

๑.วิญญาณจริยา

๒.อัญญาณจริยา

๓.ญาณจริยา

จริยาแรกหมายถึงวิบากจิตและกิริยาจิต จริยาที่ ๒ คือ อัญญาณจริยา หมายเอาอกุศลจิต จริยาที่ ๓ หมายเอาจิตที่ประกอบด้วยญาณโดยตรง ท่านมุ่งหมายเอาวิปัสสนาญาณ

ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

“วิญญาณ” ก็คืออีกคำหนึ่งของ “จิต” เมื่อปฏิสนธิจิตมีเกิดขึ้น ต้องเป็นไปถูกต้องไหมคะ ตั้งแต่เล็ก ตั้งแต่ขณะแรกจนกระทั่งถึง ณ บัดนี้ มีอะไรบ้าง มีเห็น มีได้ยิน มีได้กลิ่น มีลิ้มรส มีรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีคิดนึก พ้นไปได้ไหมในแต่ละวันต้องเป็นไปอย่างนี้ค่ะ ไม่ว่าจะภพไหนชาติไหน ผลก็คือว่า เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ไม่รู้ไม่เข้าใจ ไม่เห็นถูกในสิ่งที่มี เพราะฉะนั้นก็เพลิดเพลินยินดีติดข้องด้วยอกุศล ไม่ได้สิ่งที่พอใจก็เป็นอกุศล

เพราะฉะนั้นหลังจากที่กล่าวถึง “วิญญาณจริยา” คือ ความเป็นไปเมื่อมี “ปฏิสนธิจิต” แล้วต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเห็นต้องได้ยินอย่างนี้ และต่อจากนั้นต้อง มี “อกุศล” อย่างนั้นๆ คือ ไม่โลภะ ก็โทสะ โมหะ จริงไหม ถึงจะมี “กุศล” เกิดบนสวรรค์ก็เหมือนเมื่อเช้านี้แหละค่ะ ก็หมดไปแล้ว หมดไปเลยเร็วมากด้วย แต่ละวันๆ จะกี่วันก็ตามแต่ ก็ไม่มีอะไรเหลือเลย ไม่มีอะไรที่จะยั่งยืนได้เลย เพราะฉะนั้น ไม่ได้กล่าวถึงกุศลอื่นเลย เพราะถึงแม้มีให้ผลเป็นสุข ก็เพียงแค่เห็น แค่ได้ยินเป็นต้นแล้ว ก็หมดไปๆ ด้วย “วิญญาณจริยา” และ “อัญญาณจริยา” คือ ความไม่รู้จนกว่าจะถึง “ญาณจริยา” ความรู้ถูกความเข้าใจถูก ซึ่งสามารถจะดับอกุศลและดับความเป็นไปของจิตได้

นี่คือการตรัสรู้และพระมหากรุณาที่ทรงแสดงธรรมอนุเคราะห์ ต้องเป็นผู้ที่มีบุญแต่ปางก่อน ก็ลองคิดดู มีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟัง ได้พิจารณา ได้ไตร่ตรอง ได้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น โดยที่เมื่อมีความเข้าใจแล้ว และเห็นประโยชน์ ก็จะเพิ่มความเข้าใจขึ้นอย่างนี้ค่ะ อยากจะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมไหม? อยากประจักษ์ได้ไหม? ไม่ได้ แล้วอยากทำไม อยากเฉยๆ อยากไปก็เท่านั้น กับการที่ค่อยๆ รู้ขึ้นเข้าใจขึ้น และรู้ตามความเป็นจริง ว่าการที่จะเข้าใจธรรมนี้ไม่ใช่มีตัวเรา หรือ ไม่ใช่เราอยากจะเข้าใจ แล้วก็ไปทำอะไรก็ไม่รู้ ซึ่งไม่รู้จริงๆ ค่ะ แม้ขณะที่ไปก็ไม่รู้ว่า เพราะอยาก เพราะฉะนั้น เมื่ออยากแล้วก็รู้ไม่ได้เลย ตราบใดที่ยังอยาก ไม่สามารถที่จะละ แล้วเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะขณะใดที่อยาก ขณะนั้น “อวิชชา” เพราะไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ก็สามารถที่จะเข้าใจถึงการสะสมปัญญาและบารมีอื่นๆ ที่จะทำให้ดับกิเลสได้จริงๆ ไม่เกิดอีกเลย แต่กิเลสมีตั้งหลายระดับ มีอย่างหยาบปรากฏ ทุกคนก็รู้ และอย่างกลางๆ คนอื่นไม่เห็นไม่รู้ แต่เกิดแล้วคนนั้นรู้ และก็อย่างที่ไม่รู้เลยว่ามี เช่นในขณะที่นอนหลับสนิท ตื่นขึ้นมา มีแล้วค่ะ กิเลสมาจากไหน ถ้าไม่มีการสะสม เป็นอนุสัยอยู่ แต่ว่าปัญญาสามารถที่จะดับอนุสัย ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะให้เกิดอกุศลทุกระดับ

เพราะฉะนั้น การเข้าใจธรรมไม่ใช่เพียงเข้าใจเล็กน้อย แล้วอยากดับกิเลส เป็นไปได้อย่างไรคะ ต้องเป็นปัญญาที่ละเอียดและรู้จริง การอบรมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ สามารถที่จะรู้ยิ่งในสภาพธรรมที่ปรากฏทั้งหมดว่าเป็นธรรมตามความเป็นจริง จึงจะดับอนุสัยกิเลส ที่เกิดยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ เพราะความจริงไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยค่ะ เพียงแค่ปรากฏก็หมดแล้ว"

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ....

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 9 ส.ค. 2557

เรียนรู้ชื่อที่สำคัญเพื่อเข้าใจธรรมที่มีจริงค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
tanrat
วันที่ 10 ส.ค. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
peem
วันที่ 10 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ