บริจาคเงินโดยที่พ่อ แม่ *อาจจะ* ไม่ได้อนุญาต บาปใหม

 
schwinn
วันที่  14 ส.ค. 2557
หมายเลข  25298
อ่าน  881

พอดีวันนี้ผมกลับบ้านใช้ bts แล้วผมไปเจอกล่องบริจาคเงินให้วัด ผมคิดอยู่ว่าพ่อแม่จะว่าใหม (เพราะว่าผมอยู่ ม ๑ มิได้หาเงินมาเลี้ยงชีพตัวเอง) ท่านไม่ค่อยชอบให้ให้เงินขอทานเท่าไรแต่ผมก็เคยให้ไปแล้วหลายหน เจตนาผมเมื่อผมให้ขอทานเมื่อก่อนนี่มีแต่เจตนาที่จะมาทำทาน เพราะว่าผมลืมไปว่าพ่อแม่ไม่ค่อยชอบให้ให้เงินขอทาน แต่วันนี้ผมก็ตั้งใจจะมาทำทานให้แก่พระภิกษุที่วัด เพียงแค่ผมมาระลึกได้ว่าพ่อแม่ผมเขาให้เงินมาเพื่อใช้หาของกินเท่านั้น ยังไรก็ตาม ผมก็ใส่เงินเข้ากล่องอยู่ดี อย่างนี้คือการลักทรัพย์บิดา มารดา (คือผิดศีลข้อ ๒) ใหมครับ หรือถ้าเช่นนั้นมันจะบังมรรคผลนิพพานใหมครับ ช่วงนี้ผมอย่างเดินตามสายกลางมาก อยากจะทำสติปัฎฐาน ๔ ให้ได้สำเร็จมาก


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 14 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากเรื่องที่กล่าวมา เงินที่บิดามารดาให้ คือ เป็นให้แล้ว แม้ท่านจะไม่ชอบที่จะให้ขอทาน อยากให้ลูกใช้เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว แต่ท่านก็ให้เงินแล้ว เพราะฉะนั้น ทรัพย์ก็เป็นของบุตร ไม่ใช่ของมารดา เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นบุตรนำทรัพย์ไปใช้อย่างอื่นจึงไม่ชื่อว่าลักขโมย เพราะเป็นทรัพย์ของตนเองแล้ว และไม่ได้มีเจตนาลักขโมยตั้งแต่ต้นแต่อย่างใด ครับ

ที่สำคัญ กุศล บุญ มีมากมาย ไม่ได้มีเฉพาะทานเท่านั้น

และควรเข้าใจแม้แต่คำว่าบุญ คือ อะไร? บุญ เป็นธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ อยู่ที่จิต ย่อมหมายรวมถึงโสภณเจตสิก (สภาพธรรมฝ่ายดีที่เกิดร่วมกับจิต เช่น ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น) ที่เกิดร่วมด้วย ถ้าหากไม่มีจิต และไม่มีโสภณเจตสิกแล้ว บุญก็เกิดไม่ได้ จิตเกิดขึ้นเป็นกุศลขณะใด ขณะนั้นเป็นบุญเป็นการชำระจิตจากกุศล การทำบุญก็ควรที่จะเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อความอยากติดข้องต้องการหวังผลของบุญ

ที่ควรพิจารณา คือ การกระทำบุญ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะทานเพียงอย่างเดียว เท่านั้น มีมากกว่าทาน รวมแล้ว ๑๐ ประการ ได้แก่

๑. ทาน การให้วัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้รับ

๒. ศีล ได้แก่ ความประพฤติทางกาย ทางวาจา ที่เป็นกุศล คือ ไม่เบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อน

๓. ภาวนา การอบรมจิตให้สงบ คือ สมถภาวนา ๑ และการอบรม ให้เกิดปัญญา วิปัสสนาภาวนา ๑

๔. อปจายนะ การอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม ก็เป็นบุญ เพราะว่าจิตใจในขณะนั้นไม่หยาบกระด้างด้วยความถือตัว

๕. เวยยาวัจจะ การสงเคราะห์แก่ผู้ที่ควรสงเคราะห์ ไม่เลือกสัตว์ บุคคล ผู้ใดที่อยู่ในสภาพที่ควรสงเคราะห์ช่วยเหลือให้ความสะดวก ให้ความสบาย ก็ควรจะสงเคราะห์แก่ผู้นั้น แม้เพียงเล็กน้อยในขณะนั้น ก็เป็นกุศลจิต เป็นบุญ

๖. ปัตติทาน การอุทิศส่วนกุศลให้บุคคลอื่นได้ร่วมอนุโมทนา ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลจิตของบุคคลอื่นเกิดได้

๗. ปัตตานุโมทนา การอนุโมทนาแก่ผู้อื่นที่ได้กระทำกุศล เพราะเหตุว่า ถ้าเป็นคนพาลไม่สามารถจะอนุโมทนาได้เลย เพราะฉะนั้นขณะใดที่ได้ทราบการกระทำบุญกุศลของบุคคลอื่น ก็ควรเป็นผู้ที่มีจิตยินดี ชื่นชม อนุโมทนา ในกุศลกรรมของบุคคลอื่นที่ตนได้ทราบนั้น ไม่ใช่เป็นผู้ที่ตระหนี่แม้แต่จะชื่นชมยินดีในบุญกุศลของบุคคลอื่น

๘. ธัมมเทศนา การแสดงธรรมแก่ผู้ต้องการฟัง ไม่ว่าเป็นญาติมิตรสหาย หรือ บุคคลใดก็ตามซึ่งสามารถจะอนุเคราะห์ให้เขาได้เข้าใจเหตุผลในพระธรรมวินัย ก็ควรที่จะได้แสดงธรรมแก่บุคคลนั้น

๙. ธัมมัสสวนะ การฟังธรรม เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ในสภาพธรรม ตรงตามความเป็นจริง ก็เป็นบุญ

๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ การกระทำความเห็นให้ตรงตามสภาพธรรม และเหตุผล ของสภาพธรรมนั้นๆ ธรรมใดที่เป็นกุศล ก็ให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่า เป็นกุศลจริงๆ ธรรมใดที่เป็นกุศล ก็ให้พิจารณา กระทำความเห็นให้ตรงตามสภาพธรรมจริงๆ ว่าสภาพธรรมนั้นเป็นกุศล ไม่ปะปนกุศลธรรมกับกุศลธรรม

ดังนั้นสำคัญที่ให้มีความเข้าใจถูกในพระธรรมตามแต่ที่จะพอเกื้อกูลได้ผู้ใดสะสมปัญญาความเข้าใจมา ย่อมจะเข้าใจถูกว่ากุศลเพื่อละ ไม่ใช่เพื่อได้ ส่วนผู้ที่ไม่ได้สะสมความเข้าใจมา ก็เป็นไปตามกำลังของความไม่รู้เป็นธรรมดา ไม่สามารถบังคับใครได้ และ ก็สามารถทำกุศลอื่น แม้โดยไม่ได้ให้ ก็ได้เช่นกัน ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
schwinn
วันที่ 14 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณจริงๆ ครับ เข้ายังชื่นอกชื่นใจหน่อย ผมพึ่งมาสนใจในธรรมะแค่ประมาณครึ่งปีนี้เองครับ ขออนุโมทนาด้วยครับ สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 14 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อทินนาทาน (การถือเอาของที่คนอื่นเขาไม่ได้ให้) นั้น มีองค์ ๕ คือ

๑. ของที่เจ้าของหวงแหน

๒. รู้อยู่ว่า เป็นของที่เจ้าของหวงแหน

๓. มีจิตคิดลัก

๔. มีความพยายามลัก

๕. มีความลักมาได้ด้วยความพยายามนั้น

การกระทำดังกล่าวที่ได้กล่าวมา ไม่ได้เป็นการผิดศีลข้อ ๒ ก็ขอให้มีความอดทน มีความเพียรในการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา และไม่ประมาทในการเจริญกุศล ต่อไป

ที่สำคัญ การเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องของการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ใช่เรื่องทำ ไม่ใช่เรื่องการไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ดังนั้น จะขาดการฟังพระธรรมฟังในเรื่องของสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เพราะทุกคำที่ได้ยินได้ฟัง ล้วนแล้วเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวันครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 14 ส.ค. 2557

พ่อแม่ให้เงินมา ก็เป็นสิทธิ์ของลูกที่จะใช้ส่วนตัวหรือไปทำบุญ ไม่เป็นอทินนาทานค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
thilda
วันที่ 16 ส.ค. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
tanrat
วันที่ 16 ส.ค. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ