มหาวิบาก กับ อเหตุกกุศลวิบาก

 
chatchai.k
วันที่  15 ส.ค. 2557
หมายเลข  25303
อ่าน  2,761

มหากุศล ๘ ดวง ทําให้เกิดกุศลวิบาก ๑๖ ดวง เป็นมหาวิบาก ๘ ดวง เป็นอเหตุกกุศลวิบาก ๘ ดวง

ขอเรียนถามดังนี้

1. มหาวิบาก ต่างจาก วิบากทั่วไปอย่างไร

2. มหาวิบาก กับ อเหตุกกุศลวิบาก ต่างกันอย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 15 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ต้องเข้าใจว่า วิบาก เป็นผลของกรรม ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ จิตชาติวิบาก และเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย เป็นการกล่าวอย่างกว้างๆ ครอบคลุมวิบากทั้งหมด ทั้งที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยและไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย แต่เมื่อกล่าวถึง มหาวิบาก แล้วต้องหมายถึงเฉพาะผลของมหากุศล ๘ ดวง เนื่องจากมหากุศล คือ กุศลที่เกิดขึ้นเป็นไปได้ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นในบุญกิริยาวัตถุประการต่างๆ ซึ่งหลากหลายมาก ดังนั้น เมื่อเหตุ คือ มหากุศล มีแล้ว มหาวิบาก ก็เกิดขึ้นเป็นไปตามควรแก่เหตุ มหาวิบาก มี ๘ ดวง ซึ่งมาจากเหตุ คือ มหากุศล นั่นเอง เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพระเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ

อเหตุกกุศลวิบาก เป็นผลของ กามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง ซึ่งมีเจตนาที่เป็นกุศล สำเร็จ ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ คือ ทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น เมื่อกุศลเจตนาเกิดขึ้นกระทำกุศลกรรมสำเร็จแล้ว กุศลเจตนานั้นย่อมเป็น กัมมปัจจัย ให้เกิดผล คือ กามาวจรกุศลวิบากจิต ๑๖ ดวง คือ เป็นกามาวจรสเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ ดวง และเป็นอเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ ดวง ซึ่ง มหาวิบาก ประกอบด้วยเหตุที่ดี แต่ อเหตุกกุศลวิบาก เป็นผลของกุศลก็จริง แต่ไม่ประกอบด้วยเหตุที่ดี คือไม่มีอโลภะ อโทสะ อโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย ต่างจากมหาวิบาก มีเหตุที่ดีเกิดร่วมด้วย คือ มีอโลภเจตสิก เป็นต้น เกิดร่วมด้วย ครับ ส่วนมหาวิบาก ให้ผลในปฏิสนธิกาล และ ปวัตติกาล คือ นำเกิดก็ได้ และทำให้เห็น ได้ยิน ดี ในขณะนี้ก็ได้ ส่วน อเหตุกกุศลวิบาก ให้ผลในปวัตติกาลเท่านั้น คือ นำเกิดไม่ได้ แต่ทำให้เห็น ได้ยิน ดี เป็นต้นได้ ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 15 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิบาก เป็นนามธรรมที่เกิดขึ้น เพราะกรรมเป็นปัจจัย ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมก็เป็นกุศลวิบาก ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมก็เป็นอกุศลวิบาก วิบากทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นไป ต้องมาจากกรรมที่ได้กระทำแล้ว ซึ่งไม่ได้ห่างไกลจากชีวิตประจำวันเลย มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน กล่าวคือ ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบทางกาย ตลอดจนถึงแม้ในขณะที่นอนหลับสนิท ทั้งหมดคือวิบาก ในชีวิตประจำวัน ซึ่งได้รับอยู่เสมอๆ

กรรมมี ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ กุศลกรรม กับ อกุศลกรรม, กุศลกรรม ดับไปแล้ว ก็สามารถเป็นปัจจัยให้กุศลวิบากซึ่งเป็นผลของกุศลกรรมเกิดได้ และอกุศลกรรมดับไปนานแล้วก็จริง แต่ก็เป็นปัจจัยให้อกุศลวิบาก ซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรมเกิดได้

ดังนั้น กุศลวิบาก และ อกุศลวิบาก ในชีวิตประจำวัน ก็คือ ทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็ทำให้ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ในสิ่งที่ดี ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แต่ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมแล้วจะตรงกันข้ามเลย คือ ทำให้ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ในสิ่งที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ โดยที่ไม่มีใครทำให้ แต่เป็นเพราะอดีตกรรมที่ตนเองได้กระทำไว้แล้วเท่านั้น ถึงคราวให้ผล ผลเช่นนั้นจึงเกิดขึ้นทั้งหมดล้วนเป็นธรรมที่มีจริงที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้น กล่าวได้ว่าชีวิตของคนเรานั้นมี ๒ ส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนหนึ่งเป็นการรับผลของกรรม และอีกส่วนหนึ่งเป็นการสะสมเหตุใหม่ คือกรรม

ถ้ากล่าวถึงเฉพาะมหาวิบากจิตแล้ว เป็นผลของมหากุศลจิต กล่าวคือจิตที่เป็นผลของมหากุศลจิต เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กามโสภณวิบากจิต หรือ กามาวจรสเหตุกวิบากจิต ก็ได้ เป็นทวิเหตุกะ (เหตุ ๒) และติเหตุกะ (เหตุ ๓) อย่างละ ๔ ดวง แต่ถ้ากล่าวถึงวิบากแล้ว ต้องครอบคลุมวิบากจิต (และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) ทั้งหมด แต่ถ้ากล่าวถึงอเหตุกกุศลวิบาก เป็นผลของกุศล ที่ไม่มีเหตุใดๆ เกิดร่วมด้วย เช่น เห็น ได้ยิน เป็นต้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
peem
วันที่ 15 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 15 ส.ค. 2557

ขณะนี้มีเห็น ถ้าเห็นสิ่งที่ดีเป็นกุศลวิบาก เห็นสิ่งที่ไม่ดีเป็นอกุศลวิบาก ทั้งหมดก็มาจากเหตุ คือ กรรมที่เป็นกุศล กับ อกุศล เพราะฉะนั้นวิบากทั้งหมดเป็นผลของกรรม ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
peem
วันที่ 30 ต.ค. 2560

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ