ใจ ของเรานั้น ไม่ต่างอะไรกับห้องที่ว่างเปล่า ???

 
chatchai.k
วันที่  18 ส.ค. 2557
หมายเลข  25328
อ่าน  1,017

"ใจ ของเรานั้น ไม่ต่างอะไรกับห้องที่ว่างเปล่า เมื่อเราใส่อะไรเข้าไปในห้องที่ว่างเปล่านั้น สถานภาพของห้องก็จะเปลี่ยนไปทันที"

หลายๆ ท่านคงเคยได้ยินหรือฟังเรื่องเกี่ยวกับจิต หรือ ใจ ด้วยคำเปรียบเทียบหลากหลายคำพูด ถ้าคำเปรียบเทียบนั้นไม่ตรงกับสภาวธรรมที่ถูกต้อง ก็จะทำให้ยิ่งห่างไกลจากความเข้าใจพระธรรมมากยิ่งขึ้น

คำเปรียบเทียบที่ว่า จิตเหมือนห้องว่าง ถูกต้องหรือไม่ ในพระไตรปิฎกมีการกล่าวเปรียบเทียบจิตกับสิ่งใดหรือไม่ โปรดช่วยให้ความกระจ่างเพื่อเป็นพื้นฐานที่ถูกต้องในการศึกษาพระธรรมต่อไปครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 18 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่า "จิต" ตามหลักคำสอนของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หมายถึง สภาพรู้ อาการรู้ ลักษณะรู้แจ้งอารมณ์เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งอารมณ์ และคำว่าจิตนี้ยังมีชื่อที่ใช้แทน คำว่า จิต ในบางแห่ง อีกมาก เช่น ใจ มโน มานัส ปัณฑระ หทัย วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มนายตนะ เป็นต้น

จิต ไม่มีที่อยู่ แต่อาศัยที่เกิด จึงเกิดขึ้น เช่น จิตเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัสก็อาศัยรูปเป็นที่เกิดที่เป็น ปสาทรูป 5 และจิตอื่นๆ ก็อาศัยรูป คือหทัยรูป เป็นที่เกิด จึงเกิดขึ้น เมื่อจิตเกิดแล้วก็ดับไป ไม่ได้ไปที่ไหน อยู่ที่ไหน ดั่งเช่น เมื่อแสงเทียน เปลวเทียนดับไป ก็ไม่ได้ไปอยู่ในสถานที่ ที่อยู่ไหนเลย ครับ ดับไปไม่เหลือเลย

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ ๖๘๒

ชื่อว่าการมาโดยรวมเป็นกอง โดยความสะสม ย่อมไม่มีแม้แก่ขันธ์ที่เกิดขึ้น, ชื่อว่าการไปสู่ทิศน้อยใหญ่ ย่อมไม่มีแม้แก่ขันธ์ที่ดับ, ชื่อว่าการตั้งลง โดยรวมเป็นกอง โดยสะสม โดยเก็บไว้ในที่แห่งหนึ่ง ย่อมไม่มีแม้แก่ขันธ์ที่ดับแล้ว. เหมือนนักดีดพิณเมื่อเขาดีดพิณอยู่เสียงพิณก็เกิด, มิใช่มีการสะสมไว้ก่อนเกิด, เมื่อเกิดก็ไม่มีการสะสม, การไปสู่ทิศน้อยใหญ่ออกเสียงพิณที่ดับไปก็ไม่มี, ดับแล้วไม่ว่าที่ไหนก็ไม่สะสมตั้งไว้, ที่แท้แล้ว พิณก็ดี นักดีดพิณก็ดี อาศัยความพยายามอันเกิดแต่ความพยายามของลูกผู้ชาย ไม่มีแล้วยังมีได้, ครั้นมีแล้วยังเสื่อมได้ฉันใด, ธรรมมีรูปและไม่มีรูปแม้ทั้งหมดก็ฉันนั้น ไม่มีแล้วยังมีได้ ครั้นมีแล้วยังเสื่อมได้ พระโยคาวจรย่อมเห็นด้วยประการฉะนี้แล.

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

เสียงพิณ เสียงดนตรีไม่ใช่มีอยู่แล้วแต่เพราะอาศัยเหตุปัจจัย คือ เครื่องดนตรี คนเล่นดนตรีและการเล่น เสียงดนตรีจึงเกิดขึ้น เสียงดนตรีไม่ได้มีอยู่แล้วครับ แต่เพราะอาศัยเหตุปัจจัยเสียงดนตรี ก็เกิดขึ้นได้ครับ และเสียงนั้นก็ดับไปด้วย เสียงไม่ได้รอเกิดต่อแต่เสียงดับไปครับ ฉันใด จิตก็อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นจึงไม่ได้เกิดรออยู่แล้ว แต่จิตอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น คือ เจตสิก และสภาพธรรมอื่นจึงเกิดขึ้น และจิตก็ดับไปเหมือนเสียงดนตรีที่ต้องดับ จิตไม่ได้เที่ยง ไม่ดับครับ เพราะจิต และสภาพธรรมทั้งหลาย เป็นสังขารธรรมมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นและต้องดับไป ครับ

เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่า จิตเหมือนห้องที่ว่างเปล่า หากเข้าใจผิด ก็สำคัญว่า มีจิตอยู่แล้ว ที่รอให้มาใส่ ก็กลายเป็นว่า จิตนั้นเที่ยง ยั่งยืน แต่ถ้าเข้าใจว่า จิตนั้นบริสุทธิ์ แต่กิเลสนั้นจรมา จิตก็แปรเปลี่ยนไป เป็นจิตประเภทต่างๆ ตามเจตสิกที่มาเกิดร่วมด้วยจึงจะถูกต้อง จิตท่านจึงเรียกว่า ปัณฑระ คำว่า ปัณฑระ หมายถึง ขาว, บริสุทธิ์ เป็นอีกชื่อหนึ่งของจิต เป็นไวพจน์ของจิต เพราะมีคำหลายคำที่หมายถึงจิต ได้แก่ จิต มโน มานัส หทัย ปัณฑระ มโน มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ ถ้ากล่าวถึงจิตโดยที่ไม่ได้กล่าวถึงเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยนั้น จิตทุกประเภทเป็นปัณฑระ คือ ขาว แม้แต่อกุศลจิต ก็เป็นปัณฑระ ตามข้อความที่ว่า "เพราะจิตมีลักษณะรู้อารมณ์ จึงไม่เป็นกิเลสด้วยความเศร้าหมอง โดยสภาวะเป็นจิตบริสุทธิ์ทีเดียว แต่เมื่อประกอบด้วย อุปกิเลส จิตจึงเศร้าหมอง แม้เพราะเหตุนั้น จึงควร เพื่อกล่าวว่า ปัณฑระ (ขาว)

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
peem
วันที่ 18 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 18 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ ๓๒๕

วิญญาณเปรียบเหมือนมายากล

แม้ วิญญาณ ก็ชื่อว่าเปรียบเหมือนมายา เพราะหมายความว่าไม่มีสาระ อนึ่ง ชื่อว่าเปรียบเหมือนมายา เพราะหมายความว่าจับคว้าไม่ได้.

เปรียบเหมือนว่า มายา ปรากฏเร็วชั่วเวลาเล็กน้อย ฉันใด วิญญาณก็ฉันนั้น เพราะว่าวิญญาณนั้น เป็นของมีชั่วเวลาน้อยกว่า และปรากฏเร็วกว่ามายานั้น ก็คน จึงเป็นเหมือนเดินมา เป็นเหมือนยืนอยู่ (และ) เป็นเหมือนนั่งด้วยจิตดวง (เดียวกัน) นั้นนั่นแล แต่ว่า ในเวลาไป จิตเป็นดวงหนึ่ง ในเวลามาเป็นต้น จิตเป็นอีกดวงหนึ่ง วิญญาณเป็นเหมือนมายาอย่างนี้.

--------------------------------------

เป็นการศึกษาธรรมทีละคำจริงๆ เมื่อกล่าวถึงคำอะไร ก็ต้องมีความเข้าใจ ให้ชัดเจนว่า คือ อะไร ต้องมีคำตอบด้วยความเข้าใจในคำที่กล่าวถึงด้วย แม้แต่คำว่า จิต ไม่ใช่คำที่กล่าวลอยๆ แต่มีความหมายถึงสภาพธรรมที่มีจริงที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่จิตรู้ คือ รู้แจ้งอารมณ์ จิตแม้จะมีความหลากหลายโดยอารมณ์บ้าง โดยธรรมที่เกิดร่วมด้วยบ้าง โดยชาติที่เป็นกุศล อกุศล วิบาก กิริยาบ้าง โดยภูมิที่เป็นระดับขั้นต่างๆ บ้าง ก็มีลักษณะเพียงอย่างเดียว คือ รู้แจ้งอารมณ์ ดังนั้น เมื่อมีการกล่าวถึงจิตว่างก็ต้องเข้าใจให้ถูกว่าเป็นอย่างไร

จิตไม่ว่างจากอารมณ์แน่ ทุกขณะที่เกิดขึ้น ก็ต้องรู้อารมณ์อย่างหนึ่งอย่างใดตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ แต่ว่างจากความเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เพราะเป็นแต่เพียงธรรมที่มีจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปเท่านั้น และขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไป จิตในขณะนั้นก็ว่างจากอกุศล กล่าวคือ อกุศล เกิดขึ้นไม่ได้ เป็นการพักจากอกุศลชั่วขณะที่กุศลเกิดขึ้นเป็นไป ถ้ามีการอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น กิเลสใดๆ ที่ดับได้แล้ว กิเลสประเภทนั้นๆ ก็ไม่เกิดขึ้นอีกในสังสารวัฏฏ์ เป็นการว่างจากกิเลสนั้นๆ ได้โดยเด็ดขาด

สำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ จิตเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะมีอยู่ทุกขณะ ไม่เคยขาดจิตเลย แต่ก็ไม่รู้ถ้ายังไม่ได้ฟังไม่ได้ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจว่าเป็นธรรมที่มีจริง ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น จึงมีหนทางเดียวเท่านั้น ที่จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ตามความเป็นจริง ก็คือ การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอันเป็นคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งจะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 18 ส.ค. 2557

จิตเกิดดับ ไม่มีห้องว่าง จิตดวงหนึ่งดับไปเป็นปัจจัยให้จิตดวงใหม่เกิดสื่บต่อทันที จนกว่าจะถึงจุติของพระอรหันต์ที่จะไม่มีการสืบต่อของจิตอีก ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ