สำหรับเธอแล้วความเข้าใจธรรมต้องอาศัยการนั่งสมาธิ

 
chatchai.k
วันที่  19 ส.ค. 2557
หมายเลข  25336
อ่าน  954

สำหรับเธอแล้วความเข้าใจธรรมที่จะรู้สิ่งที่มีจริงต้องอาศัยการนั่งสมาธิ ท่านอาจารย์สุจินต์ให้ความเข้าใจว่า หนทางเดียวคืออริยมรรค ซึ่งองค์แรก คือ สัมมาทิฏฐิ ความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ โดยความเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตนที่จะไปทำอะไรได้ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครได้

สำหรับหลายๆ ท่านก็คงมีความเห็นเช่นเดียวกับเธอ ดังนั้น สัมมาทิฏฐิ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมาก ถ้าเริ่มต้นผิด ก็ผิดหมด ขอเรียนเชิญท่านวิทยากรและท่านทีมีประสบการณ์ในการนั่งสมาธิแสดงความเห็นเพิ่มเติมครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 19 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

โดยมากมักเข้าใจว่า ต้องอาศัย ศีล สมาธิ จึงทำให้เกิดปัญญา แท้ที่จริง สมาธิ กับ ปัญญา เป็นคนละส่วนกัน สมาธิ ที่เป็นการเจริญสมถภาวนา และ วิปัสสนา ที่เป็น

ปัญญา ต่างแยกกันโดยสิ้นเชิง พระอริยสาวกในอดีต บรรลุธรรมโดยไม่ได้สมาธิ ไม่ได้เจริญสมถภาวนามากมาย แต่ก็มีสมาธิที่เป็นขณิกสมาธิ ที่เกิดพร้อมกับการเจริญวิปัสสนาอยู่แล้ว ไม่ได้ปราศจากสมาธิเลย ครับ ซึ่งเรามักจะได้ยินคำว่า อาศัย สมาธิ เป็นบาทให้เกิดวิปัสสนา ซึ่งจะต้องเข้าใจประเด็นนี้อย่างแท้จริง ว่าเพราะ อาศัยสมาธิ ทำให้เกิด ปัญญาจริงหรือไม่ หรือ ต้องอาศัยสมาธิเป็นบาทให้เกิดวิปัสสนาจริงหรือไม่

ก่อนอื่นเราเข้าใจ คำว่า เป็นบาทของวิปัสสนาให้ถูกต้องก่อนครับ คำว่า เป็นบาท คือเป็นอารมณ์ หรือ เป็นที่ตั้ง ให้สติและปัญญาที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน หรือ การเจริญวิปัสสนารู้ครับ

เมื่อเป็นดังนี้เรา ก็ต้องเข้าใจครับว่า อะไรบ้างที่เป็นบาท คือ เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา หรือ เป็นสิ่งที่สติและปัญญาควรรู้ สมาธิที่เป็นฌาน หรือ ไม่ถึงฌานเท่านั้นหรือ สภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็น จิต เจตสิกและรูป ควรรู้และเป็นอารมณ์ หรือ เป็นบาท ของสติปัฏฐานหรือ วิปัสสนาได้ ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงแสดง สติปัฏฐาน (วิปัสสนา) ไว้ 4 หมวด คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ใช่เพียง จิตหมวดเดียวเท่านั้น กาย ก็คือ สภาพธรรมที่ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึงไหว เป็นบาท เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ เวทนา ความรู้สึก ก็เป็น บาท เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ จิต ไม่ได้มีจิตเฉพาะ ฌานจิต หรือ อุปจารที่ยังไม่ถึงฌาน แต่จิตมากมายเลยครับ จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น เป็นต้น มากมาย เป็นอารมณ์เป็นบาทของวิปัสสนาได้ ธรรม คือ ธรรมทั้งหลาย มี นิวรณ์ เป็นต้น มีมากมาย เพราะเป็นสภาพธรรมที่มีจริง จึงเป็นบาท เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ครับ

จะเห็นนะครับว่า สภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมด เป็น บาท เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ ไม่ใช่เฉพาะ สภาพธรรมใด สภาพธรรมหนึ่ง

ประเด็นปัญหา คือ เราจะต้องแยกประเด็นว่า ธรรมที่สติและปัญญารู้ได้ ที่เป็นบาท เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา ก็ส่วนหนึ่ง ส่วนเหตุให้เกิด วิปัสสนา สติปัฏฐาน ก็ส่วนหนึ่ง คนละส่วนกันนะครับ สภาพธรรมที่เป็นอารมณ์ คือ สภาพธรรมที่มีจริง แม้ฌานจิต ระดับต่างๆ ก็เป็นอารมณ์ เป็นที่ตั้ง เป็นบาทให้สติและปัญญารู้ได้ ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี่คือ เป็นอารมณ์ได้ เพราะเป็นจิตประเภทหนึ่ง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง รวมทั้งสภาพธรรมอืนๆ ด้วย ก็เป็นอารมณ์ของ สติปัฏฐาน แม้แต่จิตที่เป็นอกุศล ก็เป็นอารมณ์ เป็นที่ตั้งให้สติระลึกได้ แต่ การเป็นอารมณ์ เป็นที่ตั้งให้สติระลึกได้ ไม่ใช่เป็นเหตุให้เกิดวิปัสสนา เป็นเหตุใก้เกิด สติปัฏฐาน เพราะเป็นเพียงอารมณ์เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น จิตที่เป็นโลภะ (จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน) เป็นอารมณ์ เป็นที่ตั้งของสติได้ เป็นบาทของวิปัสสนาได้ แต่ โลภะ ใช่เหตุให้เกิด วิปัสสนาหรือไม่ครับ ไม่ใช่ ดังนั้น การเป็นบาท เป็นอารมณ์ กับ เหตุให้เกิดสติปัฏฐาน วิปัสสนานั้นแยกกัน จิตเห็น เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน วิปัสสนาได้ไหม ได้ครับ แต่จิตเห็นที่เป็นเพียงผลของกรรม ใช่เหตุให้เกิดวิปัสสนาไหม คำตอบคือไม่ใช่ครับ โดยนัยเดียวกันครับ ฌานจิตระดับต่างๆ หรือ เรามักเรียกว่า สมาธิก็ตาม ที่กล่าวว่าเป็นบาทของวิปัสสนา ความหมายก็คือ เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน วิปัสสนาได้ ในหมวด จิตตานุปสัสสนา ที่เป็นมหัคคตจิต เมื่อฌานจิตเป็นอารมณ์ เป็นบาทของวิปัสสนาได้ แต่ใช่เหตุให้เกิดวิปัสสนา หรือ สติปัฏฐาน ใช่หรือไม่ คำตอบ คือ ไม่ใช่เพราะเป็นเพียงอารมณ์ให้วิปัสสนารู้เท่านั้น ไม่ใช่เป็นเหตุให้เกิดสติปัฏฐาน หรือ จะต้องเจริญ ฌาน สมถภาวนา ก่อน เพื่อจะได้เจริญวิปัสสนาได้ อันนี้ไม่ถูกต้องตามที่กล่าวมาครับ

ดังนั้น คำว่า เป็นบาทของวิปัสสนาจึงต้องละเอียดตามที่กระผมได้กล่าวมาข้างต้นว่าหมายถึงอะไร มีนัยอะไรบ้างครับ ดังนั้น ควรแยกระหว่าง อารมณ์ หรือ บาทของวิปัสสนากับเหตุให้เกิดวิปัสสนา ดังนั้น เหตุให้เกิด วิปัสสนา จึงไม่ใช่ การเจริญสมถภาวนา เพราะเราไปสำคัญ คำว่าเป็นบาท คือ จะต้องเจริญสมถภาวนา เพื่อให้ถึง วิปัสสนา ไม่ใช่ครับ เป็นบาทได้อธิบายไปแล้ว แต่เหตุให้เกิด วิปัสสนา คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจในเรื่องสภาพธรรม และเมื่อมีความเข้าใจเจริญขึ้น สติปัฏฐาน หรือ วิปัสสนาก็เกิดระลึกรู้ลักาณะของสภาพธรรม ทีเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ในชีวิตประจำวัน แม้ไม่ได้ฌาน แม้ไม่ได้อบรมฌานครับ ซึ่งจะเห็นตัวอย่างอริยสาวกมากมาย ที่ท่านไมได้เจริญฌาน ท่านก็ฟังพระธรรมและบรรลุธรรมครับ สมถภาวนา จึงไม่ใช่เหตุให้เกิดวิปัสสนาเลย เพราะอริยสาวกมากมาย ที่ฟังธรรมแต่ไมได้เจริญสมถภาวนาก็บรรลุธรรมมากมายครับ

ดังนั้น ไม่ใช่ว่าฌานเป็นเหตุทำให้เจริญวิปัสสนาได้นะครับ ฌานจิต เป็นเพียงอารมณ์หรือ เป็นบาทของวิปัสสนาเท่านั้น ไม่ใช่เหตุให้เกิดวิปัสสนา อาจารย์พระโพธิสัตว์ (อุทกดาบส ได้ฌานสูงสุด) หรือ สมัยก่อนพุทธกาล ได้ฌานมากมาย แต่ไม่เข้าใจหนทางการดับกิเลส คือ วิปัสสนา ก็ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 19 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นที่สุด ก็ควรตั้งต้นด้วยความเข้าใจจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมไปตามลำดับ ไม่ควรตั้งต้นด้วยการไปทำอะไรด้วยความไม่รู้หรือด้วยความเป็นตัวตน มีความจดจ้องต้องการ เพราะทั้งหมดนั้น เป็นไปกับด้วยความไม่รู้ เมื่อตั้งต้นด้วยความไม่รู้แล้ว ผลก็คือ สะสมความไม่รู้ให้มีมากขึ้น พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องป้องกันความเข้าใจผิด ความเห็นผิด เมื่อได้ศึกษาให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ไม่ประมาทในพระธรรมแต่ละคำแม้แต่คำว่าสมาธิ ก็ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ซึ่งถ้าได้ศึกษาแล้วจะเข้าใจว่า สมาธิมีทั้งมิจฉาสมาธิและสัมมาสมาธิ เมื่อไม่รู้แล้ว ไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ผลก็คือ ไม่รู้ สะสมความไม่รู้ ความเห็นผิด และกิเลสประการอื่นๆ เพิ่มขึ้น ไม่เป็นประโยชน์เลยแม้แต่น้อย

ถ้ามีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ที่จะปฏิบัติผิด ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะได้เข้าใจอย่างถูกต้องแล้วนั่นเอง ดังนั้น จึงสำคัญอยู่ที่การค่อยๆ เข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย จากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ปัญญาเป็นพืชที่โตช้าซึ่งจะต้องอาศัยความอดทน ความเพียรที่จะฟัง ที่จะศึกษาต่อไป เพราะผู้ที่เป็นสาวกต้องได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ฟังพระธรรมแล้ว ไม่มีทางที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้เลย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 19 ส.ค. 2557

ถ้าไม่มีความเข้าใจธรรมตามลำดับ ตั้งแต่ขั้นการฟังธรรม ไปนั่งสมาธิด้วยความต้องการให้จิตสงบ ขณะนั้นก็มีโลภะแทรก เป็นเครื่องกั้นไม่ได้ทำให้ปัญญาเจริญขึ้นเลย ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nopwong
วันที่ 19 ส.ค. 2557

ขออนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ