ควรทำอินทรีย์ให้เสมอกัน

 
pdharma
วันที่  19 ส.ค. 2557
หมายเลข  25337
อ่าน  6,189

ในเรื่อง "การเกิดของธัมมวิจยสัมโพชฌงค์" จาก พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 760-764 กล่าวถึง "การปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน" หากอินทรีย์ใดอินทรีย์หนึ่งมีพลังมาก อินทรีย์อื่นๆ ก็จะไม่สามารถทำหน้าที่ได้ หรือกล่าวได้ว่าหมดสมรรถภาพในหน้าที่ของตน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศรัทธากับปัญญา ควรเสมอกัน และ สมาธิกับวิริยะ ควรเสมอกัน

หากศรัทธามาก ปัญญาอ่อน จะมีความเลื่อมใสอย่างงมงาย หากปัญญามาก ศรัทธาอ่อน จะเป็นไปทางข้างเกเร แก้ไขยาก ดื้อ หากสมาธิมาก วิริยะอ่อน ความเกียจคร้านจะครอบงำ หากวิริยะมาก สมาธิอ่อน ความฟุ้งซ่านจะครอบงำ


เรียนอาจารย์ช่วยขยายความและอธิบายต่อด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 19 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อินทรีย์ โดยศัพท์ หมายถึง สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ ซึ่งอินทรีย์มีหลายหลายนัย แต่ถ้าพูดถึง หนทางการเจริญอบรมปัญญา เพื่อดับกิเลส อันเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ คือ อินทรีย์ 5 ที่เป็น ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และ ปัญญา ซึ่งสภาพธรรมเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นสภาพธรรมที่เป็นโสภณธรรม และเป็นธรรมที่จะถึงการตรัสรู้ได้ แต่ในความละเอียดของธรรมแล้ว การจะถึงความเป็นอินทรีย์ ในอินทรีย์ 5 แต่ละสภาพธรรม เช่น สัทธินทรีย์ ก็จะต้องมีปัญญาด้วย และเป็นศรัทธาที่เกิดพร้อมกับปัญญา ที่ไม่ใช่เพียงศรัทธา ขั้นนึกคิด เช่น ศรัทธาเชื่อพระรัตนตรัย ศรัทธาในพระธรรม เป็นต้น แต่ที่สำคัญศรัทธา จะต้องเป็นศรัทธา ที่เกิดพร้อมปัญญา ที่เกิดในขณะที่สติปัฏฐานเกิดขึ้น รู้ความจริงของสภาพธรรม ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้นมีศรัทธา ที่ถึงพร้อมกับปัญญา จึงเป็นอินทรีย์ เป็นสัทธินทรีย์ในขณะนั้น ครับ โดยนัยเดียวกัน วิริยะ ความเพียร ไม่ใช่เพียร เดิน เพียรนั่งสมาธิ แต่เป็นความเพียร วิริยเจตสิกที่เกิดพร้อมกับปัญญา ขณะที่สติปัฏฐานเกิด กำลังรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนั้น มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นอินทรีย์ ที่เป็น วิริยินทรีย์ ในขณะนั้น ครับ สติ ที่เป็นสตินทรีย์ ก็คือ ขณะที่สติปัฏฐานเกิด รู้ความจริง สติกำลังระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้น สติเป็นใหญ่เป็นอินทรีย์ เพราะ มีปัญญาระดับสูงเกิดร่วมด้วย ส่วนสมาธิหรือเอกัคคตาเจตสิก ที่มีลักษณะของความตั้งมั่นในอารมณ์ ซึ่ง ความตั้งมั่น สมาธิ ไม่ได้หมายถึง การนั่งสมาธิ จะเป็นการอบรม สมาธินทรีย์ แต่ เอกัคคตาเจตสิก ที่เกิดในขณะที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้น มีความตั้งมั่นชั่วขณะแล้ว ที่เป็น ขณิกสมาธิ แต่ สมาธินี้ เป็นสมาธินทรีย์ เพราะมีปัญญาเกิดร่วมด้วย ที่กำลังรู้ความจริงของสภาพธรรม

ส่วนปัญญา ที่จะเป็นปัญญินทรีย์ ไม่ใช่เพียงปัญญาขั้นการฟัง ปัญญาที่เชื่อกรรมและผลของกรรม แต่จะต้องเป็นปัญญาที่กำลังรู้ความจริงของสภาพธรรม ที่มีในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา จึงจะเป็นใหญ่ ที่กำลังรู้ความจริง เพราะเป็นปัญญาที่เป็นหนทางการละกิเลสได้จริงๆ ครับ

ซึ่งในการปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน ไม่มีตัวเราที่ปรับ เพราะทั้งหมดเป็นแต่เพียงธรรม ศรัทธาไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธรรม วิริยะไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธรรม สติไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธรรม สมาธิไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธรรมและปัญญาไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธรรม และ ต้องไม่ลืมคำว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

ดังนั้น เมื่ออินทรีย์ 5 ที่กล่าวมา ก็ล้วนแล้วแต่เป็นธรรม เพราะฉะนั้น อินทรีย์ จึงเป็นอนัตตา ไม่สามารถบังคับบัญชาด้วยความเป็นเราได้ เพราะต้องไม่ลืมว่าธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นตามเหตุ และ ปัจจัย เมื่อมีเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น อะไรที่จะปรับอินทรีย์ นั่นคือ สภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดจากการปรุงแต่ง โดยการฟังพระธรรมที่ถูกต้อง เมื่อปัญญาเจริญขึ้นจากขั้นการฟัง กุศลธรรมประการต่างๆ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ หิริ เป็นต้น ก็เจริญตามปัญญาด้วย ขณะที่สภาพธรรมฝ่ายดีเจริญตามปัญญา นั่นก็เป็นการแสดงแล้วว่ากำลังมีการปรับอินทรีย์ โดยตัวของสภาพธรรมเอง ที่กำลังปรับ โดยไม่มีเราที่จะไปพยายามปรับ และเมื่อไหร่ที่ เกิดรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้น แสดงแล้วว่า อินทรีย์มีการปรับให้เสมอกันแล้ว เพราะมีการเกิดปัญญาที่รู้ความจริง ดังนั้น สภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นฝ่ายดี จะปรับ คือ จะเกิดเจริญขึ้นเอง จากการอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่ถูกต้อง ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 19 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก็ต้องเข้าใจก่อนว่า อินทรีย์ ๕ คือ อะไร อินทรีย์ หมายถึงสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในกิจหน้าที่ของตน สำหรับอินทรีย์ ๕ เป็นธรรมที่เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้ จึงเป็นธรรมที่เป็นไปกับการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เกิดขึ้นเป็นไปพร้อมกัน ได้แก่

♦ สัทธินทรีย์ อินทรีย์ คือ ศรัทธา มีความเป็นใหญ่ ในสภาพธัมมะของตนคือน้อมใจเชื่อ

♦ วิริยินทรีย์ อินทรีย์ คือ ความเพียร มีความเป็นใหญ่ ในการประคองไว้

♦ สตินทรีย์ อินทรีย์ คือ สติ มีความเป็นใหญ่ในการระลึก

♦ สมาธินทรีย์ อินทรีย์ คือ สมาธิ มีความเป็นใหญ่ ในการไม่ฟุ้งซ่าน

♦ ปัญญินทรีย์ อินทรีย์ คือ ปัญญา มีความเป็นใหญ่ในการเห็นตามความเป็นจริง

ถ้ายังไม่มีความเข้าใจถูกเห็นถูก ในสภาพธรรมที่เป็นอินทรีย์แต่ละอย่าง ก็ไม่สามารถที่มีอินทรีย์ ๕ ที่เสมอกันได้ ที่ได้ยินกันอยู่เสมอ คือ การปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน ไม่ใช่เพียงคำลอยๆ แต่เป็นเรื่องของบุคคลผู้มีปัญญาที่รู้สภาพของอินทรีย์ ๕ แต่ละอย่างตามความเป็นจริง เป็นกิจหน้าที่ของสภาพธรรมนั้นๆ ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ถ้าผู้ไม่มีปัญญาไม่รู้ความจริงจะปรับอะไรไม่ได้ ธรรมเป็นธรรม ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้นเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยจริงๆ

สำคัญที่มีศรัทธาเชื่อมั่นในพระปัญญาตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้วทรงแสดงความจริงให้ผู้อื่นได้รู้ตาม ถ้าไม่มีการตรัสรู้และทรงแสดงพระธรรมของพระองค์แล้ว สัตว์โลกไม่มีทางที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ได้เลย ไม่สามารถที่จะทำลายความมืดคืออวิชชาที่สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ได้เลย เพราะฉะนั้นแล้ว ศรัทธาที่มีในขณะที่กำลังฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จากที่มีความเชื่อมั่นในพระปัญญาตรัสรู้ของพระองค์ จะเป็นไปเพื่อปัญญาเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นไปเพื่อความระลึกรู้สภาพธรรมที่ำกำลังปรากฏ เป็นไปเพื่อความสมบูรณ์พร้อมแ่ห่งอินทรีย์ ๕ ที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ได้ในที่สุด ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 19 ส.ค. 2557

ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ก็มีอินทรีย์ทั้ง ๕ เกิดพร้อมกัน ที่สำคัญเรียนรู้ชื่อเพื่อเข้าถึงความจริงที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ที่ไม่ใช่ตัวตน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pdharma
วันที่ 19 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
peem
วันที่ 19 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ