ขอถามเรื่องการปรามาสพระรัตนตรัย

 
schwinn
วันที่  19 ส.ค. 2557
หมายเลข  25338
อ่าน  1,538

๑. การที่จิตดูหมิ่นพระรัตนตรัย แต่ไม่ได้กล่าวคำอะไรนั้น ถือเป็นครุกรรมฝ่ายบาปหรือเปล่าครับ

๒. การที่เราไปเคยคิดว่าพระธรรมนั้นไม่จริงหรือบอกว่าเราไม่เชื่อใน นรก สวรรค์ หรือพระธรรมมาก่อนนั้นเป็นนิยตมิจฉาทิฎฐิซึ่งบังมรรคผลใหมครับ

๓. การที่เราพูดเรื่องธรรมะให้ผู้อื่นฟังโดยที่เราเข้าใจผิดนั้น บาปมากใหมครับ

ช่วงนี้ผมพยายามปฏิบัติธรรมและรักษาศีลด้วยความพยายามอันมาก แต่ผมเกรงกลัวว่าจะบังมรรคผลนิพพาน และยิ่งแย่เข้าไปใหญ่คือลงนรกอเวจี กลัวมากเลยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
schwinn
วันที่ 19 ส.ค. 2557

ขอประทานโทษครับ พอดีสำหรับข้อ ๓ ผมไม่ได้เจตนาให้ผู้ฟังเข้าใจผิด แต่อยากจะให้เจริญในธรรมมากกว่าครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 19 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จิตคิดที่ไม่ดี ไม่ได้มีกำลัง ก็สามารถขอขมาพระรัตนตรัยในใจได้ครับ ก็ไม่มีโทษ ละโทษได้ในขณะนั้น

ประการที่สำคัญ ผู้ที่จะรู้ความเป็นไปของจิตจริงๆ ในขณะนั้น ก็ต้องมีปัญญารู้ความละเอียดของจิตของตนเองที่กำลังเกิดขึ้นว่าเป็นจิตอะไร ด้วยปัญญา เพราะปัญญาที่เกิด ย่อมเป็นสภาพธรรมที่ตรง ที่จะรู้วว่าขณะนั้น มีเจตนาอย่างไร และมีจิตประเภทอะไรที่เกิดขึ้น ในขณะที่ทำกาย วาจาเหล่านั้นอยู่ ปัญญาขของตนเองจึงเป็นเครื่องตัดสินการกระทำของตนเองที่ผ่านมา

ประโยชน์ที่สำคัญคือ อยู่กับปัจจุบันด้วยความเข้าใจ ว่าขณะนี้อะไรที่เป็นความจริง เพราะสิ่งที่ผ่านไปแล้วเกิดขึ้นและดับไปไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ และมีแต่จะทำให้สงสัย และเดือดร้อนใจ กับการกระทำที่ผ่านมา ที่กลัวจะเป็นบาป กลัวจะได้รับผลของกรรม ซึ่งความเดือดร้อนใจ และความสงสัยเหล่านี้ ก็มาจากเหตุ คือ อวิชชา ความไม่รู้ ที่ไม่รู้ว่า ความจริงที่ผ่านมาก็เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา ที่ทำบาป หรือ ไม่ทำบาป เมื่อไม่รู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมย่อมเดือดร้อนในสิ่งที่ทำด้วยความยึดถือว่าเป็นเรา สมดังพระพุทธพจน์ที่ว่า

บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบันไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด

--------------------------------------------

การคิดถึงอดีตด้วยความเป็นเรา ย่อมไม่รู้ความจริง และคิดถึงอนาคต ในสิ่งที่ยังไม่เกิดก็ทำให้ไม่รู้ความจริงเช่นกัน เพราะเหตุที่ว่า ทั้งอดีต และ อนาคต ไม่ปรากฏลักษณะของสภาพธรรมให้รู้ แต่ควรพิจารณาสภาพธรรมปัจจุบัน อันจะทำให้รู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีลักษณะให้รู้กำลังปรากฏ เพราะกำลังเกิดขึ้นเป็นไป อันเป็นไปเพื่อความรู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ไถ่ถอน อวิชชา และ ความเห็นผิด ย่อมไม่เดือดร้อนกับอดีตที่ผ่านไปแล้ว และอนาคตที่ยังไม่มาถึง

ปัจจุบันขณะ จึงควรอบรมปัญญา สะสมคุณความดีในจิตใจ ส่วนอดีตที่ผ่านมาแล้วไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ ปัจจุบัน แก้ไขใจตนเอง คือ ละกิเลสที่มีในจิตใจ อันเป็นต้นเหตุให้ทำบาป ด้วยความมั่นคงในการศึกษาพระธรรมต่อไป ครับ

การคิดไม่เชื่อ สวรรค์ นรก ต้องพิจารณาว่าปฏิเสธกรรม ผลของกรรมหรือไม่ ถ้าปฏิเสธก็เป็นมิจฉาทิฏฐิครับ

เจตนาสอน จิตดี แต่สอนผิดไม่ควรครับ คนละขณะจิตกันครับ

สำคัญที่สุดของการได้พบพระพุทธศาสนา คือ ได้มีโอกาสศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมที่ถูกต้อง เพื่อความเจริญขึ้นของปัญญาและกุศลธรรมประการต่างๆ เมื่อเป็นผู้มีความเห็นถูกในพระธรรมแล้ว ก็เห็นคุณค่าของพระธรรม ที่จะรักษาด้วยการคงไว้ซึ่งพระธรรมที่ถูกต้อง ดังนั้นเมื่อเรามีส่วนในการเผยแพร่พระธรรมแล้ว ก็ควรเผยแพร่ในสิ่งที่ถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัย สิ่งใดไม่ถูกต้อง ไม่ควรเผยแพร่ เพราะเป็นโทษกับตนเอง รวมทั้งผู้อื่นด้วย ก็จะทำให้พระศาสนาอันตรธานเร็วขึ้น เพราะมีคำสอนที่ไม่ตรงตามพระธรรมวินัย และทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดไปด้วย การถูกตำหนิ การถูกไม่ชอบเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่การรักษาพระธรรมเป็นเรื่องที่ประเสริฐสูงสุด หากหลีกเลี่ยงที่จะไม่ทำงานนี้ได้เป็นการดี แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรเป็นผู้ตรง ด้วยเห็นประโยชน์ในการรักษาพระธรรมวินัย ปรึกษาผู้รู้ ตรวจสอบกับพระไตรปิฎก ตัดในสิ่งที่ไม่ถูกต้องออกไปครับ เพื่ออะไร เพื่อรักษาคนพูดด้วย จะได้ไม่เผยแพร่สิ่งที่ผิดมากขึ้น รักษาตัวผู้ทำหนังสือเอง (ผู้ถาม) และคนอื่นๆ ที่มาร่วมพิมพ์หนังสือเล่มนี้เพราะจะกลายเป็นบาปไป โดยไม่รู้ตัวเพราะเผยแพร่สิ่งที่ผิด ดังนั้นการทำให้ตรงตามพระธรรม ก็รักษาคนที่ทำหนังสือและร่วมเงินทำหนังสือด้วย และที่สำคัญที่สุด รักษาพระศาสนา รักษาคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ดำรงยาวนานขึ้นครับ ซึ่งพระพุทธเจ้าแสดงว่า บุคคลที่มีความเห็นผิดและชักชวนผู้อื่นให้มีความเห็นผิด และผู้ที่ปฏิบัติตาม ก็เป็นบาปมากครับ

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 192

[๑๙๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ชักชวนเข้าในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่ว ๑ ผู้ที่ถูกชักชวนแล้วปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ๑ คนทั้งหมดนั้น ย่อมประสบกรรม มิใช่บุญ เป็นอันมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ชั่ว.

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 19 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแ่ด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เป็นปกติธรรม ที่ก่อนการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม จะมีความเห็นผิดคลาดเคลื่อนเป็นอย่างมาก ไม่มีความเข้าใจในธรรมเลย ความประพฤติเป็นไป ก็จะเป็นไปตามอกุศลที่ได้สะสมมา ขณะที่เป็นอกุศล ก็ไม่ดี ไม่มีประโยชน์เลยแม้แต่น้อย แต่เมื่อใดก็ตามที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ได้อาศัยกัลยาณมิตรผู้มีปัญญาคอยแนะนำในสิ่งที่ถูกต้องให้ ความเข้าใจถูกเห็นถูกก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง สิ่งไหนที่ไม่ดีที่เคยทำ ไม่สามารถลบล้างได้ แต่สามารถเริ่มต้นใหม่ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นกุศลต่อไปได้ เพราะเมื่อเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว รู้จักแก้ไข ปรับปรุงตนเองด้วยพระธรรม ก็จะเป็นเหตุให้มีความเจริญยิ่งขึ้นในกุศลธรรม

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความละเอียดรอบคอบ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกเท่านั้น ที่จะเป็นไปเพื่อละคลายความเห็นที่ผิด ที่ไม่ตรง ได้ในที่สุด เราไม่สามารถที่จะทราบได้เลยว่า โอกาสที่เราจะเข้าใจธรรมในภพนี้ชาตินี้ จะเหลืออีกเท่าใด เพราะฉะนั้นแล้ว เวลาที่เหลืออยู่นี้จึงเป็นเวลาที่มีค่าที่สุดในการที่จะให้ตนเองมีความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น ด้วยการตั้งใจฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ไม่ประมาทพระธรรมว่าง่าย ประมาทในพระธรรมแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุสลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 19 ส.ค. 2557

1. ปุถุชน ถ้าไม่ได้เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา ก็เป็นอกุศลจิต

2. เป็นความเห็นผิด แต่ยังไม่ถึงกับความเห็นผิดที่ดิ่ง

3. พูดธรรมผิด เป็นโทษกับตนเองและผู้อื่น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
schwinn
วันที่ 19 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ ผมขออธิบายเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพิ่มเติมหน่อยครับ พอดีวันนั้นผมได้พูดคุยกับมารดาของผม แล้วผมไปหลงคิดว่าผมละสังโยชน์ที่ ๔ คือกามราคะได้แล้ว ผมได้บอกมารดาของผมเช่นนั้น อีกอย่างหนึ่งที่ผมพูดซึ่งมั่วมากๆ คือผมยังละ แต่ไม่ได้เป็นอารมณ์ ผมจำไม่ค่อยได้ว่าผมบอกว่า ผมไม่รู้จักความหมายที่แท้จริงของคำนี้หรือไม่

แต่อย่างไรก็ตามผมก็พูดในสิ่งที่เป็นมิจฉาทิฎฐิโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ อย่างนี้มันบาปขนาดไหนครับ ถือว่าเป็นการโกหกมารดาใช่ใหมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nopwong
วันที่ 19 ส.ค. 2557

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
j.jim
วันที่ 20 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ