วิโมกข์ ๘ อย่างเป็นวิปัสสนา ในชีวิตประจำวัน เป็นอย่างไร?

 
อนุจร
วันที่  21 ส.ค. 2557
หมายเลข  25352
อ่าน  6,888

ช่วยอธิบาย การนำ วิโมกข์ ๘ อย่างเป็น วิปัสสนา ในชีวิตประจำวัน เป็นอย่างไรบ้างครับ ช่วยยกตัวอย่างให้ด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 21 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง แม้แต่คำว่า โมกษะ หรือ โมกขะ และ พระนิพพานก็มีความละเอียด ของธรรมแต่ละอย่างที่แตกต่างกันไป ซึ่งโมกษะ หรือ โมกขะ หมายถึง ความพ้น หลุดพ้น แต่ ในความหลุดพ้น ที่เป็น โมกขะ นี้ ก็มีหลายระดับ ทั้งโดยนัยสูงสุด จนถึงต่ำสุด

หากพิจารณาในชีวิตประจำวัน ก็มี การหลุดพ้น คือ หลุดพ้น จากกิเลสชั่วขณะ ที่เป็นกุศล ขณะนั้นก็เป็น วิมุตติ เป็น โมกขะ ที่หลุดพ้นจากกิเลสชั่วขณะที่ กุศลจิต เกิด แต่ยังไม่ใช่ การหลุดพ้น ที่แท้จริง ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแบ่งระดับของ โมกขะ ที่เป็นวิโมก ไว้หลายประการ หลายนัยดังนี้

วิโมกข์ 3 ความหลุดพ้น เพื่อถึงพระนิพพาน

- สุญญตวิโมกข์ สุญฺญต (ความว่างเปล่า , ความสูญ) + วิโมกฺข (ความหลุดพ้น)

ความหลุดพ้นโดยพิจารณาถึงความว่างเปล่า หมายถึง พระนิพพานในขณะที่เป็นอารมณ์ของมรรคจิตผลจิต เพราะว่างเปล่าจากกิเลสทั้งปวงโดยผู้ที่อบรมปัญญาเจริญสติปัฏฐาน มีการน้อมมนสิการนามรูปโดยสภาพที่เป็นอนัตตา เมื่อปัญญาสมบูรณ์ พร้อม จนประจักษ์แจ้งสภาพธรรมไปตามลำดับ ขณะที่จะหลุดพ้น อนุโลมญาน ซึ่งมีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ จะมีอนัตตลักษณะปรากฏโดยความเป็นใหญ่ เมื่อมรรคจิต ผลจิตเกิดขึ้น ความหลุดพ้นนี้จึงได้ชื่อว่า สุญญตวิโมกข์

- อนิมิตตวิโมกข์ อนิมิตฺต (ไม่มีนิมิตเครื่องหมาย) + วิโมกฺข (ความหลุดพ้น)

ความหลุดพ้นโดยพิจารณาความไม่มีนิมิตเครื่องหมาย หมายถึง พระนิพพานในขณะที่เป็นอารมณ์ของมรรคจิต ผลจิต เพราะไม่มีนิมิตเครื่องหมายคือกิเลส โดยผู้ที่อบรมปัญญา เจริญสติปัฏฐานมีการน้อมมนสิการนามรูป โดยสภาพที่เป็นอนิจจัง เมื่อปัญญาสมบูรณ์พร้อมจนประจักษ์แจ้งสภาพธรรมไปตามลำดับ ขณะที่จะหลุดพ้น อนุโลมญานซึ่งมีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ จะมีอนิจจลักษณะปรากฏโดยความเป็นใหญ่ เมื่อมรรคจิตผลจิตเกิดขึ้น ความหลุดพ้นนี้จึงได้ชื่อว่าอนิมิตวิโมกข์

-อัปปณิหิตวิโมกข์ น (ไม่มี) + ปณิธิต (ตั้งไว้แล้ว) + วิโมกฺข (ความหลุดพ้น)

ความหลุดพ้นโดยพิจารณาความไม่มีที่ตั้ง หมายถึง พระนิพพานในขณะที่เป็นอารมณ์ของมรรคจิตผลจิต เพราะไม่มีที่ตั้งคือกิเลสทั้งปวง โดยผู้ที่อบรมปัญญาเจริญสติปัฏฐาน มีการน้อมมนสิการนามรูปโดยสภาพที่เป็นทุกข์ เมื่อปัญญาสมบูรณ์พร้อมจนประจักษ์แจ้งสภาพธรรมไปตามลำดับ ขณะที่จะหลุดพ้น อนุโลมญานซึ่งมีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ จะมีทุกขลักษณะปรากฏโดยความเป็นใหญ่ เมื่อมรรคจิต ผลจิตเกิดขึ้น ความหลุดพ้นนี้จึงได้ชื่อว่า อัปปณิหิตวิโมกข์

--------------------------------------

ดังนั้น วิโมกข์ ที่เป็นความพ้น ใน 3 ประการที่กล่าวมา ก็เป็นลักษณะของพระนิพพาน เช่นกัน เป็นการถึงพระนิพพาน โดยการพิจารณาโดยนัยต่างๆ กัน ครับ และอีกนัยหนึ่ง ยังแบ่ง วิโมกข์ เป็น 8 ประการ อันเป็นการแสดงถึงความหลุดพ้นระดับต่างๆ แต่ ใน 7 ข้อ ไม่ใช่ การถึงพระนิพพาน แต่ ข้อ ที่ 8 เป็นการแสดงถึงการเข้าถึงพระนิพพาน ครับ

ซึ่งพระนิพพานเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่ไม่เกิด และ ไม่ดับ การจะถึงพระนิพพาน ก็ด้วยปัญญาระดับสูงที่เป็นโลกุตตระ ซึ่งจะต้องหลุดพ้นจากสภาพธรรมที่เป็นนิมิตที่เป็นสังขารธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูป เมื่อหลุดพ้น ย่อมถึง วิโมกข์ ความหลุดพ้น ถึงพระนิพพาน ครับ

สรุปได้ว่า โมกขะ ที่เป็นความหลุดพ้น บางนัย แสดงถึง พระนิพพาน บางนัย ไม่ได้แสดงถึงพระนิพพาาน ครับ

แต่อย่างไรก็ดี กว่าจะถึงการหลุดพ้นสูงสุด คือ พระนิพพาน ก็จะต้องเริ่มจากอบรมปัญญาขั้นการฟัง เริ่มจากการหลุดพ้นในขณะนี้ทีละเล็กละน้อย คือ หลุดพ้นจากความไม่รู้ ขณะที่เข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น และ หลุดพ้นจากกิเลส ชั่วขณะด้วยการเจริญกุศลทุกๆ ประการเท่าที่ทำได้ การหลุดพ้นทีละเล็กละน้อยนี้ ย่อมจะถึงการหลุดพ้นดับกิเลส ถึงพระนิพพานได้ ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 21 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา นำมาซึ่งประโยชน์ คือ เพื่อสภาพธรรมที่เป็นกุศลเจริญขึ้น เพราะกุศลนำมาซึ่งประโยชน์ทั้งปวง ไม่เคยนำความทุกข์ความเดือดร้อนมาให้เลย ผู้เห็นประโยชน์ของพระธรรม จึงมีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา น้อมไปในกุศลแต่ละอย่างๆ ประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา คือ เพื่อพ้นจากทุกข์ ไม่เกิดอีกซึ่งเป็นการดับกิเลสทั้งหลาย มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะฉะนั้น พระธรรมคำสอนทั้งหมด ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยนัยใดก็ตาม ก็เพื่อประโยชน์สูงสุด คือ หลุดพ้นจากกิเลส ประจักษ์แจ้งพระนิพพาน พ้นจากทุกข์โดยประการทั้งปวง

หนทางแห่งการหลุดพ้นจากกิเลสนั้น มีอยู่แล้ว คือ การอบรมเจริญปัญญาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่การจะดำเนินไปตามทางดังกล่าวหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับบุคคลแต่ละคนจริงๆ ถ้าดำเนินตามหนทางที่ถูกต้อง โอกาสแห่งการพ้นจากทุกข์ทั้งปวงก็ย่อมจะมีได้ ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญาต่อไป โดยเห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม และไม่ขาดการฟังพระธรรมนั่นเอง ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 21 ส.ค. 2557

ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นก็มีวิโมกข์เพราะพ้นจากกิเลสชั่วขณะ และ วิโมกข์ต้องเกิดร่วมกับปัญญาเท่านั้น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
tanrat
วันที่ 22 ส.ค. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
peem
วันที่ 22 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ