พระโสดาบันเป็นบุคคลผู้มีตบะหรือไม่
ในเรื่อง "ว่าด้วยสังวร ๔" จาก พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 71 นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า นิโครธะ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้เป็นผู้สำรวมด้วยสังวร ๔ ประการ. ๔ ประการเป็นอย่างไร นิโครธะ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้
๑. ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ใช้ผู้อื่นให้ฆ่าสัตว์ เมื่อผู้อื่นฆ่าสัตว์ ไม่เป็นผู้ดีใจ
๒. ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ไม่ใช้ให้ผู้อื่นถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เมื่อผู้อื่นถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ไม่เป็นผู้ดีใจ
๓. ไม่พูดเท็จ ไม่ใช้อื่นให้พูดเท็จ เมื่อผู้อื่นพูดเท็จ ไม่เป็นผู้ดีใจ
๔. ไม่เสพกามคุณ ไม่ใช้ให้ผู้อื่นเสพกามคุณ เมื่อผู้อื่นเสพกามคุณไม่เป็นผู้ดีใจ
ในข้อไม่เสพกามคุณนี้ แสดงว่าพระโสดาบันไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีตบะใช่หรือไม่ ใคร่ขออาจารย์อธิบายเพิ่มเติมด้วยครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระโสดาบัน คือ ผู้ที่ถึงพระนิพพานเป็นครั้งแรกซึ่งก็คือเป็นพระอริยบุคคลขั้นที่ ๑ ที่ได้ประจักษ์แจ้งพระนิพพานดับกิเลสได้ในระดับหนึ่่ง ดับกิเลสได้เพียงบางส่วน ตามสมควรควรแก่มรรคที่ท่านได้ ยังไม่สามารถดับได้ทั้งหมด พระโสดาบันดับความเห็นผิดทุกประการ ดับความลังเลสงสัยในสภาพธรรม ดับความตระหนี่ ดับความริษยา ดับกิเลสอย่างหยาบที่จะเป็นเหตุให้ไปเกิดในอบายภูมิ เพราะพระโสดาบันเป็นผู้ไม่ต้องไปเกิดในอบายภูมิอีกต่อไป ท่านเกิดอีกอย่างมาก ไม่เกิน ๗ ชาติ เป็นผู้แน่นอนที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระอริยบุคคลขั้นสูงๆ ขึ้นไป กล่าวคือ บรรลุเป็นพระสกทาคามี พระอนาคามี จนกระทั่งถึงความเป็นพระอรหันต์ในที่สุด ซึ่งพระโสดาบันยังเป็นผู้มีโลภะ จึงยังมีการครองเรือน เสพกามเป็นธรรมดา ครับ ส่วนตบะ ก็มีหลากหลายนัย มากมาย ทั้งตบะ ที่เป็นการขัดเกลากิเลสอย่างยิ่งในเพศบรรพชิต ย่อมไม่เสพกาม ไม่ครองเรือน ซึ่งจะตรงกับที่ผู้ถามยกพระสูตรมา ส่วนตบะ ก็มีอีกนัย คือ สภาพธรรมที่เผากิเลส คือ ขันติและปัญญา อันเป็นการเจริญอริยมรรค เพราะฉะนั้น พระโสดาบันที่ครองเรือนจึงมีตบะ โดยนัยนี้ด้วย ครับ ดังที่เราได้ยินว่า ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง ครับ
ขันติ เป็นตบะอย่างยิ่ง ตบะ หมายถึง สภาพธรรมที่เผากิเลส ดังนั้น ขันติจึงเป็นสภาพธรรมที่เผากิเลส ซึ่งมีหลายระดับ ซึ่งขณะที่เผา ไม่มีเราที่จะต้องสู้ ดั่งเช่น ความหมายที่จะต้องสู้กัน แต่หมายถึง ขณะที่กิเลสเกิดขึ้น และเกิดกุศลจิต เกิดแทนที่จะไม่เกิดกิเลส กุศลนั้นเองที่ไม่ใช่เรา เผากิเลสที่เกิดแล้วให้หมดไป ครับ ซึ่งความอดทนก็มีทั้งอดทนในสิ่งที่ไม่น่าพอใจ และน่าพอใจด้วย คืออดทนด้วยกุศลจิตก็ได้ เกิดอโลภเจตสิกในขณะนั้นก็ได้ที่อดทนที่จะไม่ติดข้อง เผากิเลสที่เป็นความติดข้องที่เกิดขึ้นแล้ว และอดทนที่ต่อสิ่งที่ไม่น่าพอใจ มีขันติที่เป็นอโทสเจตสิกที่จะไม่โกรธ และ อดทนที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่เผากิเลส คือ ความไม่รู้ ด้วยขันติ ที่เป็นปัญญา ครับ ซึ่งขณะที่เป็นอกุศลก็ชื่อไม่มีขันติ แต่ขณะที่เป็นกุศลมีขันติ ก็ตามแต่ระดับของขันติ ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ ตบะ กว้างขวางมาก ถ้ากล่าว ตบะ ที่ควรประกอบแล้ว ต้องเป็นตบะฝ่ายดีซึ่งได้แก่กุศลธรรม ซึ่งจะเป็นไปเพื่อเผาผลาญบาปธรรม มี ความโลภ ความโกรธ เป็นต้น เพราะความหมายของตบะ คือ ธรรมอันเป็นเครื่องเผาบาปธรรม
ถ้าไม่มีความเพียร ไม่มีความอดทน ในการที่จะฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ให้เข้าใจแล้ว การที่จะค่อยๆ ขัดเกลากิเลสจนถึงการดับหมดสิ้นไป ก็เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น จึงสำคัญที่การมีโอกาสไดัฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา เป็นปกติในชีวิตประจำวัน อันเป็นกิจที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...