ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ซาบซึ้งในหทัย [10]
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อันเนื่องมาจากการสนทนาธรรม ที่ บ้านคุณทักษพล คุณจริยา เจียมวิจิตร เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา มีข้อความช่วงท้ายของการสนทนา ที่ท่านเจ้าของบ้านคือคุณจริยา ได้กราบเรียนท่านอาจารย์ ถึงความเข้าใจในเรื่องของ ความเมตตาและการแผ่เมตตา รวมไปถึงเรื่องของการอุทิศส่วนกุศล ซึ่งท่านอาจารย์ได้ให้ความเข้าใจไว้อย่างไพเราะยิ่ง
ข้าพเจ้าได้ฟังแล้ว เกิดความปีติ ซาบซึ้ง จึงขออนุญาต นำความที่ท่านแสดง มาฝากให้ทุกๆ ท่าน ได้พิจารณา เป็นธรรมบรรณาการเพิ่มเติม จากกระทู้ ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณทักษพล คุณจริยา เจียมวิจิตร ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๗ ที่ได้ลงไปก่อนล่วงหน้านี้แล้ว อนึ่ง ขอกราบอนุโมทนา อาจารย์คำปั่น อักษรวิลัย สำหรับการถอดข้อความดังกล่าว เพื่อส่งไปให้ท่านเจ้าของบ้านและให้ได้นำมาลงครับ
เมตตา คือ ความเป็นมิตร มิตร คือ ผู้ที่หวังดีพร้อมที่จะเกื้อกูล ตรงกันข้ามกับศัตรู เราจะใช้คำว่า "เจริญเมตตา" หมายความว่า เมตตามีมากๆ เท่าไหร่ก็ไม่พอ เพราะเหตุว่า คนเยอะแยะเราอาจจะเมตตาเพียงบางคน ซึ่งไม่พอเลย ขณะนั้นกุศลน้อยมาก แต่ไม่ใช่พูดด้วยปาก เพราะเพียงปากไม่มีประโยชน์เลย เพราะพูดแล้วอาจจะโกรธทันที หรือว่าอาจจะว่าร้ายกันทันที ซึ่งไม่ตรง
แต่ความเป็นมิตร เป็นเพื่อน แม้ไม่ได้กล่าวไม่ได้พูด แต่ว่าพร้อมที่จะช่วยเหลือ เป็นมิตร ทำประโยชน์ให้กับคนอื่น จึงใช้คำว่า เจริญเมตตา และเป็นสัพพัตถกกรรมฐาน (เป็นประโยชน์ในที่ทั้งปวง) หมายความว่าเป็นสิ่งที่ควรมีทุกวัน ไม่ใช่ว่าวันนี้ ไม่มีก็ได้ แต่จะไปมีตอนกล่าว ตอนพูด แต่เป็นสิ่งที่ควรสะสมไว้ในใจ กุศลทั้งหลายดีเท่าไหร่ก็ไม่พอ จนกว่าจะสามารถละกิเลสได้หมด เพราะอกุศล ไม่สามารถดับอกุศลได้ แต่กุศลสามารถดับอกุศลได้ กุศลก็มีมาก ทุกโอกาส เพียงแค่ความเป็นเพื่อนไม่ยากเลย ช่วยเหลือทันที เป็นมิตรทันที เห็นใครที่กำลังลำบาก จะช่วยหยิบของยื่นให้ยกให้ เป็นต้น ทั้งหมดนั้น ด้วยจิตที่หวังดีพร้อมจะเป็นมิตร เป็นประโยชน์
สำหรับการอุทิศส่วนกุศลนั้น แม้ว่าไม่มีใครอุทิศให้ แต่กุศลนั้นแม้เราไม่ได้ทำเอง แต่ยินดีด้วยในกุศลของคนอื่น ขณะนั้นก็เป็นกุศลประเภทที่เป็นการอนุโมทนาในส่วนกุศล ที่เรียกว่าปัตตานุโมทนา (อนุโมทนาในส่วนบุญ) เพราะเหตุว่า ถ้าเราไม่ชอบคนนั้น ใจไม่พอที่จะชื่นชมด้วย ในกุศล
เพราะฉะนั้นเรื่องของกุศล เป็นเรื่องที่ละเอียด และเรื่องของอกุศลก็ละเอียดมาก สามารถรู้ได้ด้วยตนเองว่า ขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศล ถ้าขณะนั้นไม่ติดข้องด้วยโลภะ ไม่ขุ่นเคืองด้วยโทสะ ไม่มีความไม่รู้ สามารถที่จะรู้เหตุได้ว่า คนนั้นได้ดีเพราะกรรมที่ทำดีที่เขาได้ทำ เพราะฉะนั้น ก็ชื่นชมในกุศลกรรม ไม่ใช่ชื่นชมในอกุศลกรรม แล้วก็ไม่จำกัดด้วยว่า เขาจะบอกเราหรือไม่บอกเราก็ตาม เช่น เพียงอ่านเจอข่าวคนเก็บเงินได้แล้วคืนให้เจ้าของ เราก็ชื่นชมอนุโมทนา ขณะนั้นจิตผ่องใส ในกุศลที่ชื่นชมด้วย
เวลาที่เราใช้คำว่าอุทิศส่วนกุศล หมายความว่า เจาะจงให้บุคคลที่เรากล่าวถึง ได้รู้ในกุศลที่เราได้ทำ แต่เขาจะอนุโมทนาหรือไม่อนุโมทนาบังคับไม่ได้ เหมือนในเวลานี้ ใครจะบังคับให้เราเกิดกุศลเมื่อเห็นคนอื่นได้ดิบได้ดี ก็ไม่ได้ ก็แล้วแต่ว่าเราจะเกิดหรือไม่เกิด เพราะเป็นอนัตตา แต่ให้ทราบว่าเป็นโอกาสหนึ่งซึ่งผู้ที่จากไปแล้ว ยังรู้ในความห่วงใย ในความเป็นมิตร ในความหวังดีของผู้ที่เคยเป็นญาติ เป็นเพื่อน
เพราะฉะนั้น เวลาที่กล่าวอุทิศส่วนกุศล ก็เพื่อบุคคลเหล่านั้น จะได้รู้ถึงความมีน้ำใจของเรา ที่ยังระลึกถึง อุทิศส่วนกุศลความดีของเรา เพื่อให้เขาได้อนุโมทนา แต่ว่าจะอนุโมทนาหรือไม่นั้นก็เป็นเรื่องของเขา แต่ก็ควรที่จะให้โอกาสว่า วันนี้ เราได้ทำกุศล เพราะฉะนั้นเพื่อนฝูง มิตรสหาย ญาติ ที่จากไปแล้ว ถ้าได้ล่วงรู้ ก็คงจะได้เกิดกุศลจิตอนุโมทนา
...ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ซาบซึ้งในหทัย...
ขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของคุณทักษพล คุณจริยา เจียมวิจิตร ท่านเจ้าบ้านผู้เปี่ยมด้วยเมตตา
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ด้วยครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
... กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง,
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธา
ของคุณทักษพล และคุณจริยา เจียมวิจิตร
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่วันชัย ภู่งาม
ที่ได้ลงข้อความอันซาบซึ้งในหทัย ครับ ,
และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
อนุโมทนาคุณน้าวันชัยอย่างสูงครับ
หนังสือบุญญกริยาวัตถุของ มศพ .มีประโยชน์มากครับ
ชอบมาก ท่านอาจารย์อธิบายได้ชัดเจนมากเรื่องของกุศลในชีวิตประจำวัน
กุศลพึ่งได้อกุศลพึ่งไม่ได้เลยครับ