สังฆาทิเสสหรือเปล่า

 
channarong
วันที่  25 ส.ค. 2557
หมายเลข  25392
อ่าน  1,099

1. คือผมบวชมาแล้วคุยโทรศัพท์กับภรรยาเกือบทุกวัน แต่ไม่ได้พาดพิงทวารหนักทวารเบานะครับ แต่บางทีมีเผลอบอกคิดถึงบ้างแบบนี้จะสังฆาทิเสสหรือเปล่า

2. สึกออกไปจะมีกรรมติดตัวหรือเปล่า เห็นบางคนบอกว่าจะหากินไม่ขึ้น จริงหรือเปล่า ถ้าไม่ได้ปาริวาส


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

นมัสการ พระคุณเจ้า ที่เคารพ ครับ

การบอกเพียงคิดถึง ไม่ต้องอาบัติปาราชิก

พระวินัยบัญญัติแต่ละสิกขาบท พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติด้วยพระองค์เอง เพื่อให้พระภิกษุได้สำรวมระวัง ไม่ล่วงละเมิดในสิกขาบทนั้นๆ อันจะเป็นไปเพื่อฝึกหัดกาย วาจา ใจ ให้เป็นไปในทางที่ถูก ที่ควร เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ให้เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว โอกาสที่จะล่วงละเมิดสิกขาบท ก็ย่อมจะมีได้มาก รวมถึงต้องอาบัติสังฆาทิเสสด้วย ซึ่งเมื่อต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว ต้องแก้ไขด้วยการประพฤติวุฏฐานวิธี (อยู่กรรม) ตามพระวินัย จึงจะพ้นจากอาบัติสังฆาทิเสสได้ ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาบัติหนักหรือเบา ถ้าไม่ได้แก้ไขให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยแล้ว ย่อมมีโทษแก่ภิกษุรูปนั้น เป็นเครื่องกั้นในการบรรลุมรรคผลนิพพาน และถ้ามรณภาพในขณะที่ยังมีอาบัติอยู่ก็เป็นผู้มีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้า แต่ถ้าได้แก้ไขให้ถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เป็นเครื่องกั้น เมื่อลาสิกขาแล้ว ย่อมไม่มีอาบัติอีกต่อไป สามารถเป็นคนดีในเพศคฤหัสถ์ได้ โดยไม่ต้องวิตกกังวล ในเรื่องอาบัติ เพราะเป็นคฤหัสถ์แล้ว ไม่มีอาบัติ ไม่ใช่เพศบรรพชิตอีกต่อไป ก็ควรที่จะเป็นคนดี ควบคู่ไปกับการฟังพระธรรมให้เข้าใจ แต่ถ้ากลับเข้ามาบวชใหม่ อาบัติที่เคยต้องไว้ยังไม่ได้แก้ไขเมื่อตอนบวชครั้งก่อน กลับมาทั้งหมด ก็จะต้องแก้ไขให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ต่อไป

ความเจริญจริงๆ คือ ความเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก เมื่อลาสิกขาแล้ว ก็ขอให้เป็นคฤหัสถ์ที่ดี เราไม่สามารถจะรู้ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่ควรลืมกิจที่ควรทำ คือ ทำดีและฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 25 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบนมัสการพระคุณเจ้าที่เคารพ ครับ

เรื่องของคำพูดก็มาจากจิตใจ เพราะฉะนั้น เมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้ว กล่าวได้ว่า เพศสตรีเป็นเพศที่เป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์จริงๆ แม้แต่การพูดกับสตรีอาจจะเป็นเหตุให้ต้องอาบัติต่างๆ ได้ เช่น พูดเกี้ยว พาดพิงถึงเมถุน พาดอิงอวัยวะเพศ ก็ทำให้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ทางที่ดีที่สุด ก็คือ ควรกล่าวให้เขาเข้าใจว่า ตอนนี้บวชอยู่ จะต้องดำรงตนในฐานะของบรรพชิตที่จะต้องฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา น้อมประพฤติตามพระธรรม ไม่ใช่ว่าจะทำอะไรก็ได้ที่อยากจะทำ เพราะอันตรายอย่างยิ่งทีเดียว ถ้ารักษาความเป็นบรรพชิตไม่ดี มีแต่จะนำไปสู่อบายภูมิเท่านั้น

- ถ้าได้ลาสิกขาเป็นคฤหัสถ์แล้ว ไม่มีอาบัตติดตัวแต่ประการใด ก็ขอให้สบายใจได้ ไม่ต้องคิดกังวลอะไรเลย เพราะไม่ได้เป็นพระภิกษุแล้ว ควรที่จะได้เป็นคฤหัสถ์ที่ดี มีหน้าที่อะไรก็ทำหน้าที่นั้นๆ ให้ดี พร้อมทั้งเป็นคนดีและฟังพระธรรมให้เข้าใจ ความดี ที่ได้ทำนั้น ก็เป็นสิ่งที่ดีแล้ว และที่ไม่ควรลืม คือ ความดี เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 25 ส.ค. 2557

1. ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ พูดเกี้ยวผู้หญิง ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

2. สึกแล้วไม่มีอาบัติ ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ