ไม่คิดที่จะทำดีก็อย่าทำชั่ว
ไม่คิดที่จะทำความดีก้ออย่าทำความชั่ว มีความหมายกว้างแค่ไหนค่ะ
บางครั้งอกุศลจิตเกิด ไม่คิดที่จะทำความดีทุกอย่าง แต่ไม่ควรกระทำความชั่วทางกาย ความชั่วทางวาจา ความชั่วทางใจ รวมความว่า อกุศลกรรมทั้งหมดไม่ควรกระทำ เพราะไม่มีประโยชน์ และเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อนตลอดกาลนาน
แต่ก็น่าพิจารณา ว่าถ้าไม่คิดจะทำความดี จิตขณะนั้นเป็นอย่างไร กุศลหรืออกุศลที่จะไม่ทำความดี ต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งครับ ความดีก็มีทั้งทางกาย วาจา และที่สำคัญใจด้วย ฉันใด แม้ความชั่ว ก็มีทั้งทางกาย วาจาและใจด้วยครับ
ขอยกข้อความในพระไตรปิฎกให้พิจารณากันครับ ..
ข้อความบางตอนจาก
[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕- หน้าที่ 173
ฐิติสูตร ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญความตั้งอยู่ในกุศลธรรม
[๕๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญแม้ซึ่งความตั้งอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไฉนจะสรรเสริญความเสื่อมรอบในกุศลธรรมทั้งหลายเล่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แต่เราสรรเสริญความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความตั้งอยู่ มิใช่ความเสื่อมในกุศลธรรม
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัยเรื่อง ควรรีบทำบุญเพราะช้าไปอกุศลย่อมเกิดแทน
[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓- หน้าที่ 8
ข้อความบางตอนจาก
เรื่องพราหมณ์ชื่อจูเฬกสาฎก
"บุคคลพึงรีบขวนขวายในความดี พึงห้ามจิต เสียจากบาป เพราะว่า เมื่อบุคคลทำความดีช้าอยู่ ใจจะยินดีในบาป"
สองบทว่า ทนฺธิ หิ กรโต ความว่า ก็ผู้ใดคิดอยู่อย่างนั้นว่า "เราจักให้ จักทำ ผลนี้จักสำเร็จแก่เราหรือไม่" ชื่อว่าทำบุญช้าอยู่ เหมือนบุคคลเดินทางลื่น ความชั่วของผู้นั้นย่อมได้โอกาส เหมือนมัจเฉรจิตพันดวงของพราหมณ์ชื่อเอกสาฎกฉะนั้น เมื่อเช่นนั้นใจของเขาย่อมยินดีในความชั่ว เพราะว่าในเวลาที่ทำกุศลกรรมเท่านั้นจิตย่อมยินดีในกุศลกรรม พ้นจากนั้นแล้ว ย่อมน้อมไปสู่ความชั่วได้แท้ ในกาลจบคาถา ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.