การเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

 
pdharma
วันที่  26 ส.ค. 2557
หมายเลข  25400
อ่าน  2,670

ในเรื่อง สติปัฏฐาน ๔ จาก พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ สติปัฏฐานวิภังค์ ในส่วน "กายานุปัสสนานิทเทส" มีว่า

[๔๓๒] ก็ภิกษุ พิจารณาเห็นกายในกายภายในเนืองๆ อยู่ เป็นอย่างไร?

ภิกษุในศาสนานี้ พิจารณาเห็นกายภายใน แต่พื้นเท้าขึ้นไปในเบื้องบน แต่ปลายผมลงมาในเบื้องต่ำ มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ ว่า ในกายนี้ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร.

ภิกษุนั้น ย่อมเสพ เจริญ ทำให้มาก กำหนดด้วยดี ซึ่งนิมิตนั้น...

----

เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่า ทรงใช้คำที่เป็น "คำบัญญัติ" เช่น กระดูก หัวใจ ตับ ไต ไม่ได้ใช้คำที่เป็น "ปรมัตถ์" เช่น อ่อน แข็ง และทรงให้พิจารณาว่าเป็นของไม่สะอาด

จึงใคร่เรียนถามว่า การเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน นั้น หากพิจารณาว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ฯลฯ เป็นรูป (อ่อน แข็ง) ไม่เที่ยง มีการดับไป ไม่ใช่เรา อย่างนี้ก็ยังเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานตามพระไตรปิฎกใช่หรือไม่ (และทำนองเดียวกันนี้กับเวทนา จิต ธรรม)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 26 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กายคตาสติ คือ การเจริญอบรมปัญญา ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่เนื่องด้วยกาย ซึ่งกายคตาสติ เป็นธรรมที่ลึกซึ้ง มีหลากหลายนัย ทั้งที่เป็นสมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา

กายคตาสติ โดยนัย สมถภาวนา คือ การระลึกรู้ และ พิจารณาด้วยปัญญา ในความจริงของร่างกายต่างๆ ในส่วนต่างๆ เช่น พิจารณาโดยความเป็นของน่าเกลียด สกปรก พิจารณาโดยความเป็นซากศพ การพิจารณาถูกต้องเช่นนี้ ทำให้ละคลายกิเลส มีความติดข้องในร่างกายได้ แต่เพียงชั่วคราว เพราะยังไม่สามารถระงับ ดับกิเลสได้จริง เพราะก็ยังมีความยึดถือว่า เป็นร่างกายของเราส่วนต่างๆ

กายคตาสติ โดยนัยวิปัสสนา คือ ปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ที่เนื่องด้วยกาย เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เหล่านี้เป็นการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่เป็นแข็ง เย็น ร้อน เป็นต้น ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เป็นการเจริญกายคตาสติ หรือ อีกชื่อหนึ่งของกายคตาสติ คือ กายยานุปัสสนาสติปัฏฐาน อันสามารถทำให้ละความยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคลได้ เพราะรู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรม ดังนั้นการเจริญสติปัฏฐาน ที่เป็นการระลึกรู้ทางกาย ที่เป็นกายยานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นกายคตาสติโดยนัยวิปัสสนาสามารถทำให้ละกิเลสได้จนหมดสิ้นได้จริงๆ เพราะสามารถละความยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล และละกิเลสได้เป็นลำดับขั้น ครับ

กายคตาสติโดยนัยวิปัสสนา ที่เป็นการเจริญสติปัฏฐานที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่ปรากฏทางกาย ย่อมถึงอมตะ นิพพาน ดับกิเลสได้ในที่สุดครับ ซึ่งกว่าจะถึงตรงนั้น จะต้องอบรมปัญญา ตั้งแต่เบื้องต้น ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในเรื่องของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ ตามความเป็นจริง ครับ ขอนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 26 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สติปัฏฐานเป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมี กำลังปรากฏตามความเป็นจริงบุคคลของผู้อบรมนั้น ซึ่งจะต้องเป็นผู้ได้ฟังพระธรรม ได้ศึกษาพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ มีความเข้าใจที่ถูกต้องในธรรม ที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม ไม่มีการเลือก ไม่มีการเจาะจง หรือไม่มีการเว้นไม่ให้รู้รูปนั้น นามนี้ เป็นต้น และสภาพธรรมที่เป็นที่ตั้งให้สติปัฏฐานเกิดนั้น ล้วนเป็นธรรมที่มีจริงทั้งสิ้น เมื่อประมวลแล้ว ไม่พ้นไปจาก กาย เวทนา จิต และธรรม

กายานุปัสสนาสติปัฏฏฐาน เป็นการระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย หรือ ที่เคยยึดถือว่าเป็นกายของเรา นั่นก็คือ มหาภูตรูป ๔ คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุลม ตึง ไหว ซึ่งจะต้องเห็นว่า ว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่กายของเรา เป็นเพียงรูปธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏเท่านั้น ควรที่จะได้พิจารณาว่าทุกคนมีกายแน่นอน แต่ว่าก่อนที่ได้ฟังธรรม เรายึดถือว่า กายเป็นของเรา หรือเป็นตัวเรา แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วรู้ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาแม้แต่คำว่า ธรรม คำเดียว ก็จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า เมื่อเป็นธรรมแล้วก็ต้องไม่ใช่เรา

ทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นธรรมที่มีจริงทั้งสิ้น และประการที่สำคัญ สติปัฏฐาน ไม่ใช่การคิดนึก แต่เป็นการระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง และก่อนที่จะไปถึงสติปัฏฐาน ก็ต้องเริ่มที่การสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 26 ส.ค. 2557

ขณะที่สติปัฏฐานเกิดไม่มีชื่อ มีแต่ลักษณะของธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดแล้วดับทันที ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
kullawat
วันที่ 27 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
peem
วันที่ 27 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pdharma
วันที่ 28 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ