เวทนาเป็นปัจจัยแห่งตัณหา?

 
dets25226
วันที่  27 ส.ค. 2557
หมายเลข  25408
อ่าน  5,141

ด้วยความเคารพอย่างสูง

วันนี้มีคำถามมาถามด้วยความอยากรู้ครับ เพราะจำเป็นต้องเขียนงานเรื่องนี้ซึ่งผมได้หาข้อมูลส่วนหนึ่งแล้วครับ เข้ามาถามเพื่อความรู้เพิ่มเติมน่ะครับ

1. ในปฏิจจสมุปบาท เวทนาหมายถึงเวทนา 3 ได้หรือไม่?

2. เวทนาดังกล่าว จะเป็นปัจจัยแก่ตัณหา 3 อย่างไร?

ขอบคุณล่วงหน้าที่กรุณาตอบครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 27 ส.ค. 2557

 ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อกล่าวถึงเวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ก็เป็นเวทนาทั้งหมด และเวทนา 3 ด้วยครับ เมื่อกล่าวว่าเหตุให้เกิดทุกข์นั้น ก็สามารถกล่าวได้หลายนัย หลากหลายมากมาย เช่น จะกล่าวว่า เพราะมีตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ คือ ทุกขสมุทัย หรือ เพราะมีขันธ์ 5 ก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ หรือ เพราะมีการเกิด ก็เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์กายและทุกข์ใจ และเมื่อกล่าวถึงเวทนาก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ได้เช่นกันครับ

เวทนา คือ ความรู้สึก เวทนาเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นเจตสิก เกิดกับจิตทุกประเภท ดังนั้นเมื่อจิตเกิดขึ้น ก็จะต้องมีความรู้สึก คือ มีเวทนาเสมอครับ ซึ่งเวทนา ความรู้สึก แบ่งได้ 5 อย่าง คือ โสมนัสเวทนา (ความรู้สึก สุขทางใจ) สุขเวทนา (ความรู้สึกสุขทางกาย) อุเบกขาเวทนา (ความรู้สึกเฉยๆ ) โทมนัสเวทนา (ความรู้สึกทุกข์ใจ) ทุกขเวทนา (ความรู้สึกทุกข์กาย)

ซึ่งในปฏิจจสมุปบาท แสดงว่า เวทนา เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ความหมายคือ เพราะมีความรู้สึกสุขและทุกข์เป็นปัจจัยให้ยินดี พอใจ ติดข้องเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นในขณะนี้ที่เราแสวงหา ต้องการติดข้อง เพราะเราติดเวทนา ติดความรู้สึกที่ดีที่ทำให้เรามีความสุข เมื่อเรามีความสุขในสิ่งนั้นก็ปรารถนา ติดข้อง แสวงหาในสิ่งนั้นเพิ่มขึ้น เมื่อไม่ได้ในสิ่งนั้นตามที่ติดข้องก็เป็นทุกข์ใจ และเมื่อมีการกระทำผิดที่เป็นอกุศลกรรม เพราะเมื่อติดเวทนาความรู้สึกก็เกิดตัณหา ต้องการ จึงแสวงหาด้วยการกระทำที่ผิด ทำบาป เมื่อทำบาปแล้วก็ทำให้มีการเกิด (ชาติ) เมื่อมีการเกิด มีการเกิดในนรกเป็นต้น ก็ต้องได้รับทุกข์กายมากมาย ได้รับทุกข์ใจด้วยเมื่อทุกข์กาย ก็เกิดความทุกข์มากมายนับไม่ถ้วน เพราะอาศัยเวทนาเป็นปัจจัยจึงทำให้เกิดทุกข์ตามที่กล่าวมาครับ และเราก็ติดข้องแม้ความรู้สึกเฉยๆ เช่น เฉยๆ ก็ดี ไม่เดือดร้อน และก็ติดข้องแม้ทุกข์กาย ความรู้สึกทุกข์กายก็ได้ครับ เช่น บางคนก็ชอบความเจ็บปวด แสวงหาความเจ็บปวด เป็นต้น

เวทนาจึงเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา คือ โลภะ และย่อมนำมาซึ่งทุกข์ประการต่างๆ ทั้งทุกข์กาย ทุกข์ใจ และทุกข์คือการเกิด ตายอยู่ร่ำไปครับ

การจะถอนเวทนาออกจากใจ หรือ การถอนความรู้สึก สุข ทุกข์ออกจากใจ ก็เท่ากับไม่ให้เวทนา ความรู้สึก เกิดขึ้นอีก ซึ่งเวทนาเกิดกับจิตทุกดวง ดังนั้นก็เป็นอันว่า ถ้าจะดับเวทนาก็เท่ากับดับ จิต เจตสิกทั้งหมด ซึ่งผู้ที่จะดับเวทนา ความรู้สึกและจิต เจตสิก รูปทั้งหมดถาวร ไม่เกิดอีกเลย คือ พระอรหันต์ที่ดับขันธปรินิพพาน ซึ่งหนทางก็ด้วยการอบรมปัญญา เจริญอริยมรรค โดยเริ่มจากการฟังพระธรรมไปเรื่อยๆ ครับ และวันหนึ่งก็จะถึงการดับกิเลส และก็จะไม่มีการเกิดขึ้นของจิต เจตสิก และรูปอีก ก็ชื่อว่าดับเวทนา ดับเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวงครับ

ข้อความบางตอนจากการบรรยายธรรมโดยท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ท่านอาจารย์  ก็เป็นปัจจัยให้เวทนาเกิดขึ้น มีความสุข หรือ มีความทุกข์ โสมนัส หรือ โทมนัส หรือว่า อุเบกขาเฉยๆ ก็เป็นสภาพธรรมซึ่งต้องเกิด ไม่มีใครยับยั้งว่า เมื่อ ผัสสะ กระทบแล้ว จะไม่ให้มีเวทนา เพราะฉะนั้นในขณะนี้เองก็มีเวทนา ซึ่งแล้วแต่ว่า เวทนาในขณะนี้เป็นปัจจัยแก่ ตัณหา หรือไม่ ถ้าเป็นปัจจัยแก่ตัณหาซึ่งเป็นไปใน สังสารวัฏฏ์ ก็เป็นเรื่องของการเกิดอีกๆ ๆ ไม่จบ จนกว่าจะเป็นหนทางที่รู้สภาพธรรม จึงจะเป็นหนทางดำเนินไปสู่ทางดับ ซึ่งเป็น สัมมาปฏิปทา

มีคำถามว่า  เรื่องเวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ถ้า ผัสสะ กระทบกับอารมณ์ที่ไม่ทำให้ สุขเวทนา เกิด แต่ทำให้ ทุกข์ โทมนัส เกิด เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ได้หรือครับ หรือจะหมายเอาเพียงสุขเวทนาเท่านั้น ที่ทำให้เกิดตัณหา

ผู้ถาม  คลัายๆ กับคำถามของท่านผู้ฟังเมื่อกี้นี้ ที่ถามว่า เมื่อผัสสะกระทบกับอารมณ์ที่ไม่ทำให้สุขเวทนาเกิด แต่ทำให้ทุกข์ โทมนัส เกิด เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาได้หรือครับ

ท่านอาจารย์  ไม่ว่าจะเป็นเวทนา ประเภทใดทั้งสื้น เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาได้ ถึงแม้ อุเบกขาเวทนา ตัณหาก็ชอบ ไม่เดือดร้อน ชอบจริงๆ พอใจที่จะได้มีอุเบกขาเวทนานั้นอีก ถ้าเป็น สุขเวทนา ตัณหาก็ชอบ พอใจที่จะให้เกิดสุข ถ้าเป็น ทุกขเวทนา ตัณหาก็ชอบ ที่จะให้ไม่ทุกข์ หรือ โทมนัสในขณะนั้น เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรสักอย่างเดียวที่จะไม่ทำให้เกิด ตัณหา เวลาที่มีทุกข์แล้วไม่มีตัณหา เป็นไปได้ไหมคะที่ไม่อยากจะพ้นทุกข์ แต่ทุกคนก็ทนทุกข์นั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่อยากที่จะให้มีทุกข์นั้น โดยอยากให้ทุกข์นั้นหมดไป เพราะฉะนั้นในขณะที่อยากให้ทุกข์หมด ก็เป็นตัณหาที่ต้องการให้ทุกข์นั้นหมดไป และสำหรับ โทมนัสก็เช่นเดียวกัน ไมมีใครชอบความโศก ความทุกข์ ความไม่สบายใจ เพราะฉะนั้น ทุกคนก็ถามว่าทำอย่างไร ถึงจะไม่ทุกข์ ไม่โทมนัส ไม่เสียใจ เพราะว่าทราบได้เลยจากคำถามว่า เป็นอารมณ์ที่ไม่พึงปรารถนา แต่ว่าปรารถนาอารมณ์อื่น เพราะฉะนั้นก็มีตัณหาความต้องการ ที่จะให้พ้นจากอารมณ์นั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
dets25226
วันที่ 27 ส.ค. 2557

"เวทนาเป็นเหตุแห่งทุกข์"

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 27 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เวทนา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นความรู้สึก ไม่มีตัวตนที่รู้สึก แต่เป็นกิจหน้าที่ของสภาพธรรม คือ เวทนาเจตสิก นี้เองเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เวทนาเป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตทุกประเภท ทุกขณะ ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดร่วมกับจิตประเภทใด ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเกิดร่วมกับจิตเห็น ก็เป็น อทุกขมสุขเวทนา (เฉยๆ ) ถ้าเกิดร่วมกับจิตที่มีโลภะเป็นมูล บางครั้งก็เป็นโสมนัสเวทนา บางครั้งก็เป็นอทุกขมสุขเวทนา ถ้าเกิดร่วมกับกุศลจิต บางครั้งก็เป็นโสมนัสเวทนา บางครั้งก็เป็นอทุกขมสุขเวทนา แต่ถ้าเป็นโทมนัสเวทนาซึ่งเป็นความรู้สึกไม่สบายใจ ต้องเกิดร่วมกับอกุศลจิตประเภทที่มีโทสะเป็นมูล โทมนัสเวทนาจะไม่เกิดร่วมกับจิตประเภทอื่นเลย นอกจากโทสมูลจิตเท่านั้น นี้คือสภาพธรรมที่มีจริงประเภทหนึ่ง คือ เวทนา

เวทนา ความรู้สึก เป็นที่ตั้งของตัณหา สำหรับผู้ที่ยังดับตัณหาไม่ได้ เมื่อได้เหตุได้ปัจจัยก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่

เวทนา เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ จึงเป็นทุกข์ เพราะเกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ต้องดับไป และยังเป็นเหตุแห่งทุกข์ได้ด้วย เมื่อต้องการความรู้สึกที่สบายๆ แล้วไม่ได้ หรือพลัดจากจากความรู้สึกนั้นๆ ก็เป็นทุกข์ ไม่สบายใจ ซึ่งจะเป็นเหตุแห่งทุกข์สำหรับผู้ที่มีกิเลสเท่านั้น เพราะถ้าเป็นผู้ที่ดับกิเลสหมดแล้ว ถึงความเป็นพระอรหันต์ กิเลสใดๆ ย่อมไม่เกิดขึ้น ไม่มีทุกข์เพราะกิเลสอีกต่อไป แต่ท่านก็ยังมีขันธ์เป็นไป ยังมีจิต เจตสิก รูป เกิดขึ้นเป็นไป ยังมีเวทนาเกิดขึ้นเป็นไป เพราะพระอรหันต์ยังมีเวทนาที่เกิดร่วมกับจิต ๒ ชาติ คือ ชาติวิบาก กับ ชาติกิริยา แต่เวทนาที่เกิดร่วมกับกุศลจิต กับ เวทนาที่เกิดร่วมกับอกุศลจิต ไม่เกิดอีกเลย จนกว่าท่านจะดับขันธปรินิพพาน เมื่อดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่มีการเกิดอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ ไม่มีสภาพธรรมใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย

ตามความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่จะต้องละคือความเห็นผิดและกิเลสประการต่างๆ ซึ่งจะต้องละได้ด้วยปัญญาเท่านั้น ถ้าดับกิเลสใดๆ ได้แล้ว เวทนาที่เกิดร่วมกับกิเลสประเภทนั้นก็ถูกดับไปด้วย เช่น พระโสดาบัน ท่านดับความเห็นผิดได้ทั้งหมด ดังนั้น โลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับมิจฉาทิฏฐิไม่เกิดอีกเลยสำหรับพระโสดาบัน นั่นก็หมายความว่า เวทนาที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับมิจฉาทิฏฐิก็ไม่มีด้วยเช่นกัน

การที่จะดำเนินไปถึงซึ่งการดับกิเลสไ้ด้นั้นต้องเริ่มที่การอบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูก ไปตามลำดับ ไม่ใช่เรื่องเร่งรีบ เพราะจะต้องสะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ ทุกข์ทั้งหลายที่มีเพราะมีกิเลส ดังนั้น การที่จะดับทุกข์ ก็ต้องดับที่เหตุคือกิเลสทั้งปวง หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาจึงเป็นหนทางที่เป็นไปเพื่อการดับกิเลสในที่สุด ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 27 ส.ค. 2557

เวทนา คือ ความรู้สึก เช่น มีความรู้สึกโสมนัสในรสอาหาร ทำให้อยากที่จะรับประทานอาหารนั้นอีก เวทนาจึงเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ปวีร์
วันที่ 27 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

ก็ไม่พ้นจากขณะนี้เลย

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
peem
วันที่ 28 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
danai2523
วันที่ 29 ส.ค. 2557

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
สิริพรรณ
วันที่ 10 พ.ค. 2564

กราบขอบพระคุณด้วยความเคารพค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 10 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Jarunee.A
วันที่ 20 ธ.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ