เสี้ยวหนึ่งในชีวิตประจำวันกับธรรมะ

 
tanrat
วันที่  28 ส.ค. 2557
หมายเลข  25411
อ่าน  1,248

หากขั้นการฟังมีความเข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นธรรมะ ธรรมะไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เกิด ตั้งอยู่นิดหนึ่ง แล้วดับไป ไม่กลับมาอีก มีสภาพธรรมะใหม่เกิดขึ้น ในชีวิตประจำวัน อันนี้เป็นการประจักษ์แจ้งในลักษณะของธรรมะ นั่นคือพระปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่สำหรับปุถุชน มีเรื่องราวแต่ละวันเป็นไปตามฐานะแห่งตน เช่นการเจริญกุศลทั้งปวงให้ถึงพร้อม ทุกด้านจริงๆ เช่น ก่อนไปทำงานเดินผ่านตลาด มีผู้คนมากมาย บ้างใส่บาตร บ้างให้ทาน บ้างทะเลาะกัน พอถึงที่ทำงาน ต้องทำงานนี้ก่อน เอางานนั้นเก็บไว้ ทั้งๆ ที่อยากทำงานเก่าให้เสร็จสิ้น เกิดโทสะ ต้องระลึกตลอดเวลา จึงมีความมั่นคง ไม่ไหลไปกับรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ นี่แหละธรรมะกับเสี้ยวหนึ่งในชีวิตประจำวัน ระลึกได้เพราะมีการฟังพระธรรม บ่อยๆ เนืองๆ บ่อยครั้งที่หลงลืมสติ ขอความกรุณาท่านอาจารย์ให้ความกระจ่างของการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันด้วยค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 28 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ในชีวิตประจำวันของปุถุชน ก็เป็นไปตามกิเลสที่สะสมมามาก สะสมอกุศลมามาก จิตก็น้อมไปในทางอกุศล มีการเห็นสิ่งต่างๆ เป็นต้น ซึ่งก็เป็นไปตามการสะสมมาของแต่ละคน ว่าชอบสิ่งใด อาจไม่ดูละครก็ไปเล่นกีฬา ทำอะไรในสิ่งที่ชอบ ตามโลภะ ตามฉันทะที่ชอบในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ดังนั้น ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย ที่จะไม่เป็นโลภะ หากเป็นผู้ตรงแล้วก็อยู่กับโลภะเกือบตลอดเวลา แม้ขณะนี้ ยังไม่ได้ไปตลาดก็ยังเป็นโลภะโดยไม่รู้ตัวเลยครับ ดังนั้น หนทางในการอบรมปัญญา เมื่อศึกษาพระธรรมก็จะรู้ว่าการละกิเลสต้องเป็นไปตามลำดับ กิเลสที่ต้องละอันดับแรก คือ ทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดที่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน นั่นคือ พระโสดาบันท่านละได้ ส่วนความติดข้อง ที่เป็นโลภะ ความยินดีพอใจในรูป เสียง...พระอนาคามีท่านถึงจะละได้ ดังนั้น การอบรมปัญญาจึงต้องเริ่มจากความเข้าใจถูกก่อน ครับว่า ปัญญาขั้นแรกรู้อะไร เพื่อที่จะละอะไร ดังนั้น ปัญญาขั้นแรกคือเข้าใจความจริงที่เกิดแล้วว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา อกุศลมีจริงเป็นธรรมไม่ใช่เรา กุศลมีจริงเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนี้มีสภาพธรรมมีจริง เป็นธรรมไม่ใช่เรา เข้าใจตรงนี้ก่อนครับ คือ ละความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์บุคคลตัวตนก่อนจึงจะสามารถละโลภะได้ ครับ จึงไม่ใช่หลีกหนีที่จะไม่มีโลภะ เพราะโลภะเกิดแล้วในขณะนี้ แต่อยู่ด้วยความเข้าใจว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา แม้ขณะที่เห็น ได้ยิน มีธรรมไหมครับ มีครับ ขณะที่ทำงานไปตลาด มีธรรมไหมครับ มี ปัญญาควรรู้ว่า ขณะนั้นว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา นี่คือหนทางการอบรมปัญญาที่ถูกต้องครับ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เมื่อตอนที่ยังไมได้บวช ท่านไปดูมหรสพกัน ท่านก็ยังใช้ชีวิตปกติ แต่ท่านก็มีปัญญา สังเวชว่าแม้คนที่แสดงก็จะต้องตาย เราควรหาทางหลุดพ้น ดังนั้น ปัญญาจึงสามารถเกิดตอนดูมหรสพได้ครับ

การศึกษาพระธรรม เมื่อปัญญาเจริญมากขึ้น ก็จะรู้ว่า สิ่งใดมีประโยชน์ สิ่งใดไม่มีประโยชน์กับชีวิต ก็จะค่อยๆ เสพคุ้นในสิ่งที่มีประโยชน์มากขึ้น คือ การฟังพระธรรมและศึกษาพระธรรม พร้อมๆ กับการเป็นไปในอกุศลที่มีในชีวิตประจำวัน แต่ปัญญาก็สามารถเข้าใจความจริง แม้ขณะที่ใช้ชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นกุศล หรือ อกุศล ครับ

การศึกษาธรรม ก็ต้องรู้จักธรรมว่าคืออะไร และต้องเข้าใจถูกว่า การปฏิบัติธรรมที่จะเป็นการรู้ธรรมนั้นคืออย่างไร ก็จะเข้าใจหนทางที่ถูก ในการอบรมปัญญาที่ถูกต้องครับว่าคือ อย่างไร

การจะปฏิบัติธรรมก็ต้องเริ่มจากความเข้าใจพระธรรมเบื้องต้นก่อนครับ โดยเริ่มจากการฟังพระธรรมให้เข้าใจ เมื่อเราพูดถึงปฏิบัติธรรม ดังนั้น ก็ต้องเข้าใจความจริงขั้นการฟังว่า ที่ไปหาธรรม ไปปฏิบัติธรรม ก็ต้องเข้าใจคำว่าธรรมคืออะไรเป็นเบื้องต้นก่อน ครับ เพราะหากไม่เข้าใจคำว่าธรรม ก็จะทำให้ไปแสวงหา ไปปฏิบัติผิดได้

ธรรม คือ สิ่งที่มีจริงเพราะมีลักษณะ ดังนั้น ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ที่เป็นสัจจะจึงไม่ได้หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นธรรมชาติ แม่น้ำ ภูเขา ทุกอย่างเป็นธรรม อันนี้ ไม่ใช่ธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ แต่สิ่งที่พระองค์ตรัสรู้ ธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริง ที่มีลักษณะ คือ นามธรรมและรูปธรรม นั่นก็คือ จิต เจตสิก และรูป เช่น การเห็นมีจริง ครับ มีลักษณะ แต่เป็นจิตที่เห็น การได้ยิน เป็นจิตที่ได้ยิน เป็นจิต เป็นธรรม การคิดนึก เป็นจิตที่คิด ดังนั้น จิตที่คิดมีจริงเป็นธรรม เรื่องที่คิด ไม่มีจริง เพราะไม่มีลักษณะให้รู้ จึงไม่ใช่ธรรม จิตที่เป็นโลภะเป็นธรรม จิตที่เป็นโทสะเป็นธรรม เป็นต้น เสียง สี กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัสมีจริง มีลักษณะให้รู้เป็นธรรม ดังนั้น ธรรม ก็คือ สิ่งที่มีจริง ที่มีลักษณะ เป็นนามธรรมและรูปธรรมที่เป็น จิต เจตสิก รูป ครับ ซึ่งจะเห็นว่าจากตัวอย่างที่ยกมาว่าธรรมมีอะไรบ้างนั้น มีในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เช่น สี (สิ่งทีเห็น) เสียง ได้ยิน คิดนึก โกรธ โลภ มีอยู่ในชีวิตประจำวัน เมื่อเราเข้าใจถูกว่าธรรม คือสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ที่เป็นจิต เจตสิก รูป แล้ว ก็ไม่ต้องไปแสวงหาธรรมที่อื่นอีก ไม่ต้องแสวงหาที่เงียบที่สงบปลีกวิเวกเพื่อหาธรรม (ปฏิบัติธรรม) ไม่ต้องแสวงหาห้องปฏิบัติเพื่อรู้ธรรม ไม่ไต้องนั่งสมาธิเพื่อที่จะรู้ธรรม เพราะขณะนี้ เป็นปกติ ยืน ก็มีธรรม นอนก็มีธรรม เดินก็มีธรรม ขาดแต่เพียงปัญญาที่จะไปรู้ตัวธรรมที่มีในชีวิตประจำวัน ครับ

ดังนั้น หนทางการอบรมปัญญาที่ถูกต้อง คือ เข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา เพราะกิเลสที่จะต้องละอันดับแรก ไม่ใช่ โลภะความติดข้อง เช่น ติดข้อง ในการดูทีวี เป็นต้น แต่กิเลสที่จะต้องละเป็นอันดับแรก คือ ความเห็นผิดที่ยึดถือว่าเป็นเราเป็นสัตว์บุคคล จะเห็นนะครับว่า ถ้าเราไม่ศึกษาธรรมก็คิดว่าจะต้องละโลภะ ไม่ให้โลภะเกิด ไม่ดูทีวี ไม่ทำอะไร ไม่เล่นสิ่งต่างๆ แท้ที่จริงแม้ไม่ดูทีวี ไม่เล่นสิ่งต่างๆ แต่กิเลสก็เกิดแล้วในขณะนี้โดยไม่รู้ตัว เพียงแค่เห็นกิเลสก็เกิดแล้ว ดังนั้น กิเลสจะต้องละเป็นไปตามลำดับ นั่นคือ ละความเห็นผิดว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล ซึ่งหนทางการเจริญอบรมปัญญา พระพุทธเจ้าทรงแสดงสติปัฏฐาน 4 คือ การรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ที่มีจริงว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ทั้งกาย เวทนา จิต ธรรม คือ ทั้งสภาพธรรมที่เป็น รูปธรรม เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ว่าเป็นแต่เพียงธรรม เวทนา ความรู้สึก รวมทั้งจิตประเภทต่างๆ ซึ่งรวมทั้งกุศลจิต และอกุศลจิตด้วย ควรรู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ดังนั้น ก็รู้ความจริง แม้อกุศลที่เกิดขึ้นว่า เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา คือ เป็นผู้มีปรกติอบรมสติปัฏฐาน คือ เป็นผู้มีปรกติอบรมเจริญปัญญา เพราะธรรมมีอยู่แล้ว ควรรู้แม้อกุศลที่เกิดขึ้น แม้พระอริยสาวก ก่อนบรรลุธรรม ท่านก็ใช้ชีวิตเป็นปกติ เพียงแต่ท่านฟังพระธรรมอบรมปัญญาในชีวิตประจำวัน ไม่ได้ไปนั่งสมาธิปลีกวิเวก ตามที่เข้าใจผิดกัน แม้เมื่อท่านทำอาหารในครัวเห็นน้ำแห้งในหม้อก็เกิดปัญญาบรรลุเป็นพระอนาคามี นี่แสดงให้เห็นถึงการอบรมปัญญาในชีวิตประจำวัน ขณะที่ดูทีวี ก็มีเห็น มีคิดนึก มีโลภะเป็นแต่เพียงธรรมทั้งสิ้น ควรรู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ซึ่งโลภะ ที่ติดข้องในรูป รส เป็นต้น มีการดูทีวี ละได้เมื่อเป็นพระอนาคามี ดังนั้น จึงควรอบรมปัญญา ละกิเลส เป็นลำดับ หนทางที่ถูกคต้อง คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมต่อไป และก็ใช้ชีวิตที่เป็นปกติ ปัญญาเกิดเมื่อไหร่ก็รู้ความจริงที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ครับ

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เป็นเรื่องที่เบาสบาย เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกอย่างแท้จริง ในแต่ละวันชีวิตของแต่ละบุคคล ย่อมดำเนินไปแตกต่างกัน บางครั้งบางคราวก็เพลิดเพลินสนุกสนานไปด้วยอำนาจของกิเลส อย่างเช่น ดูหนัง ดูละคร เป็นต้น บางครั้งบางเวลามีโอกาสก็ได้ฟังพระธรรมสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกขึ้นตามแต่โอกาสจะอำนวย เป็นชีวิตปกติ เพราะคงไม่มีใครสามารถฟังพระธรรมได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง บางครั้ง ก็มีโอกาสได้สนทนาธรรมกับกัลยาณมิตรผู้มีปัญญา เพิ่มพูนความเข้าใจสภาพธรรมยิ่งขึ้น สะสมเป็นอุปนิสัยที่ดีต่อไป ทั้งหมดทั้งปวง ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แต่สามารถที่จะค่อยๆ สะสม อบรมเจริญได้ ในชีวิตประจำวัน ที่สำคัญที่สุด คือ ความเข้าใจ (ปัญญา)

ชีวิตของแต่ละบุคคลที่ดำเนินไปตามการสะสมจริงๆ แต่สำหรับผู้ที่เห็นคุณประโยชน์ของพระธรรม ย่อมให้เวลากับพระธรรม เป็นผู้ใคร่ในการฟังพระธรรมอยู่เสมอ ไม่ละเลยโอกาสสำคัญที่สุดในชีวิต คือ โอกาสที่จะทำให้ตนเองได้เข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น แม้จะเล็กน้อยเพียงใดก็สำคัญ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
tanrat
วันที่ 28 ส.ค. 2557

กราบขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ปวีร์
วันที่ 28 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 28 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

แม้ว่าจะมีคำว่า “ปฏิบัติธรรม” ปรากฏในคำสอนที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็ไม่ใช่การปฏิบัติธรรม แต่เป็นการปฏิบัติผิด ไม่เป็นไปเพื่อความเข้าขึ้นของปัญญา ในขณะที่ปฏิบัติผิดนั้น ก็เพิ่มพูนโลภะ ความติดข้องต้องการ และ ความเห็นผิด ให้เพิ่มขึ้น แท้ที่จริงแล้ว การปฏิบัติธรรม เป็นการอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้สภาพธรรมที่ปรากฏ คือรู้นามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเริ่มต้นด้วยการศึกษาให้เข้าใจในสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมโดยประเภทต่างๆ ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่างๆ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อมีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้สติและปัญญา เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่สติและปัญญาเกิดขึ้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นการถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงตามความเป็นจริง โดยที่ไม่เลือกสถานที่ กาลเวลา และไม่มีการเจาะจงที่จะรู้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ทั้งหมดล้วนเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ขณะนี้มีธรรม ถ้าไม่มีการได้ยินได้ฟังเลย จะไม่สามารถเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ได้ ในเมื่อเป็นธรรม แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ก็ย่อมไม่สมควรแก่การที่จะรู้ชัด รู้จริง รู้แจ้งในสภาพธรรม ได้ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้มีความละเอียดยิ่งในการฟัง ในการศึกษา ไม่ประมาทในพระธรรมแต่ละคำ เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ ในสิ่งที่กำลังฟัง ซึ่งเป็นเหตุสำคัญที่จะนำไปสู่ความเจริญขึ้นของปัญญายิ่งๆ ขึ้นไป

สิ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือ การฟังพระธรรม กาลสมัยนี้ ยังเป็นยุคที่พระธรรมยังดำรงอยู่ บุคคลผู้ที่เป็นกัลยาณมิตร เผยแพร่พระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็ยังมีอยู่ จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ที่สะสมบุญมาแต่ปางก่อน เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริง จะได้สะสมปัญญาจากการได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมในแต่ละครั้ง สะสมเป็นอุปนิสัยที่ดีต่อไป จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์พร้อมของปัญญาได้ในที่สุด เพราะการที่ปัญญาจะมีมาก จนเป็นเหตุให้สติสัมปชัญญะเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้นั้น ก็จะต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปทีละเล็กทีละน้อย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 28 ส.ค. 2557

ทุกอย่างเกิดแล้วดับแล้ว ก็มีธรรมะใหม่เกิดดับสืบต่อทุกขณะ สำคัญที่ปัญญารู้ว่าเป็นธรรมะแต่ละอย่างเกิดแล้วดับ ไม่เยื่อใยกับสิ่งที่หมดไปแล้ว ผ่านไปแล้ว ไม่มีเรา เขา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
peem
วันที่ 28 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
thilda
วันที่ 28 ส.ค. 2557

ชัดเจนมากเลยค่ะ ขออนุญาตส่งต่อนะคะ ขอบพระคุณและขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ประสาน
วันที่ 29 ส.ค. 2557

สิ่งที่่ขาดไม่ได้คือการฟังพระธรรม

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
siraya
วันที่ 29 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
danai2523
วันที่ 29 ส.ค. 2557

สาธุ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ