ปรมัตถธรรมและอภิธรรม

 
papon
วันที่  29 ส.ค. 2557
หมายเลข  25420
อ่าน  1,865

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

"ปรมัตถธรรมและอภิธรรม" ทั้งสองคำโดยอรรถและเนื้อหามีความแตกต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไรครับ ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 29 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจก่อนว่า พระอภิธรรม เป็นธรรมที่มีจริง ละเอียดโดยความเป็นธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สภาพธรรมที่เป็นพระอภิธรรม ตามความเป็นจริงแล้วทรงแสดงให้สัตว์โลกได้เข้าใจตามความเป็นจริง พระอภิธรรม จึงไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวัน เป็นธรรมที่มีจริงในขณะนี้ เช่นเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย คิดนึก กุศล อกุศล เป็นต้น นี้แหละ คือ พระอภิธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน

สิ่งที่มีจริง ทั้งหมด เป็นปรมัตถธรรม ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น และสิ่งที่มีจริงเหล่านี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเพื่อให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ต้องมั่นคงจริงๆ ในความเป็นจริงของสภาพธรรม เช่น เห็น ขณะนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงให้รู้ตามความเป็นจริงไหม? ทรงแสดง เพราะในพระไตรปิฎกจะมีคำว่า จักขุวิญญาณ และ จักขุวิญญาณ มีจริงๆ ไหม? ก็มีจริงๆ แล้วเปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม? ก็ไม่ได้ แล้วจะเรียกสิ่งนี้ว่าอย่างไร ถ้าไม่เรียกว่าเป็นปรมัตถธรรม

ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ยากที่จะเข้าใจ แต่ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ การศึกษาธรรม เป็นการศึกษาถึงสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพื่อเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เนื่องจากคุ้นเคยกับความเป็นตัวตน คุ้นเคยกับความเป็นเรา พร้อมทั้งได้สะสมความไม่รู้มาอย่างเนิ่นนาน จึงหลงยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นต้วตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา ดังนั้น ธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงนั้น จึงควรที่จะศึกษา เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกตามความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นไปเพื่อละคลายความไม่รู้ ละความเห็นผิดในสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ในที่สุด

พระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ตลอด ๔๕ พรรษา มีมากมายนับไม่ถ้วน เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง และ ที่ได้ยินได้ฟัง ฟังซ้ำๆ แล้วๆ เล่าๆ ก็ไม่พ้นไปจากการฟังในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ซึ่งถ้าไม่ฟังพระธรรมเลย ย่อมไม่มีทางที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ได้เลย ครับ

พอกล่าวสรุปได้ว่า อภิธรรม กับ ปรมัตถธรรม ต่างเป็นเพียงพยัญชนะ แต่ อรรถ ไม่ต่างกัน คือ แสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริง คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 29 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มีดังนี้

ธรรมะ ปรมัตถธรรม อภิธรรม

ถ้ารู้จักธรรมแล้วจะมีคำขยายเพิ่มเติม ซึ่งธรรมก็ต้องเป็นปรมัตถธรรม ถ้าใช้คำว่า “ธรรม” ไม่ได้เรียกเป็นชื่อคนนั้นคนนี้เลยสักคนเดียว แต่ใช้คำว่าธรรม แสดงความเป็นใหญ่ของสภาพธรรมนั้น ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้

เพราะฉะนั้นการที่ธรรมมีลักษณะอย่างนั้น ซึ่งไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ใช้คำว่า “ปรมัตถธรรม” เป็นบัญญัติใช่ไหมคะ คำว่าปรมัตถธรรม แต่มีสภาพธรรมจริงๆ ลักษณะสภาพธรรมนั้นแหละเป็นปรมัตถธรรม เพราะใครเปลี่ยนแปลงไม่ได้อีก ชื่อหนึ่งอีกคำหนึ่งคร่าวๆ ไม่ละเอียดก็คือ อภิธรรม

เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินคำว่า ธรรม ปรมัตถธรรม อภิธรรม ก็คือความหมายเดียวกัน ถ้ามีคนบอกว่ารู้จักธรรม แต่ไม่รู้จักปรมัตถธรรม ถูกต้องหรือเปล่าคะ ไม่ถูก เพราะถ้าเข้าใจธรรม รู้จักธรรม ก็ต้องรู้ว่าธรรมเป็นปรมัตถธรรม แล้วก็เป็นอภิธรรมด้วย.

"กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง"

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 29 ส.ค. 2557

ปรมัตถธรรม หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง เช่น เห็นมีจริงเป็นธรรมะ ได้ยินมีจริง เป็นธรรมะ ฯลฯ ส่วนอภิธรรม หมายถึง ธรรมะที่ละเอียดยิ่ง ลึกซึ้ง ยากที่จะเข้าถึงธรรมะตัวจริงๆ ที่เกิดทุกขณะ เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับไป ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
orawan.c
วันที่ 29 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ประสาน
วันที่ 30 ส.ค. 2557

ถ้าไม่ฟังพระธรรมเลย ย่อมไม่มีทางที่จะเข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้ได้เลย

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
peem
วันที่ 30 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nopwong
วันที่ 31 ส.ค. 2557

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 31 ส.ค. 2557

ขอบคุณแลขออนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ