เจตนา

 
papon
วันที่  31 ส.ค. 2557
หมายเลข  25440
อ่าน  963

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

วันนี้ฟังพระธรรมในชั่วโมง "พื้นฐานพระอภิธรรม" "ปัจจัย" และ "ปฏิบัติธรรม" มีการพูดถึง "เจตนาเจตสิก" ที่เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัยและสหชาตกัมมปัจจัย แล้วกระผมมาตรึกตรองดู พอจะสรุปขั้นต้นว่า เจตนาเป็นทั้งผู้ทำกรรมและเป็นทั้งผู้รับกรรม ไม่ว่าจะเป็นกุศลและอกุศล ผู้สร้างกรรมคือนานักขณิกกัมมปัจจัยและรับกรรมคือสหชาตกัมมปัจจัย ถูกผิดอย่างไร ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยกรุณาให้คำแนะนำด้วยครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 31 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กัมมปัจจัย คือ ความเป็นปัจจัยโดยเจตนา เป็นปัจจัย และเมื่อกล่าวถึงกัมมปัจจัยแล้วก็ต้องกล่าวถึงผลของกัมมปัจจัย ด้วย

การศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบ ย่อมเป็นไปเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงแล้ว เจตนา เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตทุกประเภท ไม่มียกเว้น ทุกครั้งที่จิตเกิดขึ้นจะต้องมีเจตนาเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นเจตนาที่เกิดกับจิตประเภทใด กล่าวคือ ถ้าเกิดร่วมกับกุศลจิตก็เป็นกุศล ถ้าเกิดร่วมกับอกุศลจิต ก็เป็นอกุศล ถ้าเกิดร่วมกับวิบากจิต ก็เป็นวิบาก ถ้าเกิดร่วมกับกิริยาจิต ก็เป็นกิริยา ความจริงเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงได้

เจตนาเจตสิก เป็นกรรม เป็นสภาพธรรมที่ตั้งใจ จงใจขวนขวายในการปรุงแต่ง จึงเป็นกัมมปัจจัย กัมมปัจจัย จำแนกออกเป็น ๒ อย่าง คือ สหชาตกัมมปัจจัย กับ นานักขณิกกัมมปัจจัย

สหชาตกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกัมมปัจจัยเกิดพร้อมกับปัจจยุปบันนธรรม (ธรรมที่เป็นผลของปัจจัย) คือ เกิดพร้อมกับจิตและเจตสิกอื่นๆ ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น สหชาตกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิต ๘๙ ดวง และเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกันในขณะนั้น และรูปที่เกิดขึ้นเพราะจิตและเจตสิกในขณะนั้น ซึ่งก็ต้องเกิดเพราะเจตนาที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้นด้วย ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ ที่ทำให้เกิดรูปได้

นานักขณิกกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกัมมปัจจัยทำให้ปัจจยุปบันนธรรม คือ ผลของกัมมปัจจัยนั้นเกิดขึ้นต่างขณะกัน คือ ไม่ใช่เกิดพร้อมกับเจตนาเจตสิกเหมือนอย่างสหชาตกัมมปัจจัย แต่ว่า ทำให้ผลของเจตนาเจตสิก เกิดขึ้นต่างขณะกัน ไม่ใช่ในขณะเดียวกัน จึงชื่อว่า “นานักขณิกกัมมปัจจัย” เป็นกัมมปัจจัยที่ทำให้ผล คือ วิบากจิต และเจตสิก และกัมมชรูป (รูปที่เกิดจากกรรม) เกิดขึ้นในภายหลังเมื่อเจตนาซึ่งเป็นกรรมนั้นดับแล้ว เพราะฉะนั้น สำหรับนานักขณิกกัมมปัจจัย ก็ได้แก่ เจตนาในกุศลจิตและในอกุศลจิตเท่านั้น ไม่ใช่เจตนาในจิตซึ่งเป็นวิบาก หรือเจตนาในจิตซึ่งเป็นกิริยา นี้คือ ความละเอียดลึกซึ้งของธรรม

พระอภิธรรมปิฎก ปัฏฐาน เล่ม ๗ ภาค ๑- หน้าที่ 80

วรรณนานิทเทสแห่งกัมมปัจจัย

พึงทราบวินิจฉัยใน กัมมปัจจัยนิทเทส ต่อไป. บทว่า กมฺม ได้แก่ เจตนาธรรม.

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ

กัมมปัจจัย

เชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ได้ที่นี่ ครับ

สุ. เจตนามี ๒ ประเภท คือ สหชาตกัมมปัจจัย ๑ นานักขณิกกัมมปัจจัย ๑ สหชาตกัมมปัจจัย หมายความถึงเจตนาซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง

เพราะฉะนั้นเจตนาซึ่งเกิดกับวิบากจิต ก็เป็นวิบากเจตสิก เจตนาที่เกิดกับกุศลจิตก็เป็นกุศลเจตนาเพราะเกิดกับกุศลจิต เจตนาที่เกิดกับอกุศลก็เป็นอกุศลเจตนา เกิดกับอกุศลจิต เจตนาที่เกิดกับกิริยาจิตก็เป็นกิริยาเจตนา เพราะเหตุว่าเกิดกับกิริยาจิต

เพราะฉะนั้น ก็ต้องจำแนกแม้เจตนาว่า เจตนาที่เป็นกรรม เป็นนานักขณิกกรรม ทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นข้างหน้าได้ คำว่า “นานักขณิกกรรม” หมายความถึงกรรมที่ให้ผลต่างขณะ ไม่ใช่ในขณะที่เจตนานั้นเกิดขึ้น แต่ถ้าเป็นสหชาตกรรม เจตนานั้นให้ผลคือ ทำให้เจตสิกอื่นเกิดพร้อมกับตนในขณะที่ตนเองเกิดขึ้น จึงเป็นสหชาตกรรม แต่ถ้าเป็นนานักขณิกกรรม ก็หมายความถึงกรรมที่เราเข้าใจกันว่า เมื่อกรรมได้กระทำแล้วก็เป็นปัจจัยทำให้วิบากเกิดขึ้นภายหลัง คือ ให้ผลต่างขณะ ไม่ใช่ในขณะที่ตนเองเกิดขึ้น

-----------------------------------------------

จึงควรเข้าใจแม้แต่การศึกษาเรื่องพระอภิธรรม เรื่องกรรม และ เรื่องอื่นๆ ว่าต้องใช้เวลา ปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูก ย่อมเจริญขึ้นไปตามลำดับ ไม่ใช่ว่าปัญญาจะเจริญขึ้นสมบูรณ์เต็มที่ด้วยการฟังเพียงครั้งเดียว หรือ สองครั้งเท่านั้น จึงต้องอาศัยการฟังบ่อยๆ เนืองๆ พิจารณาไตร่ตรองในเหตุในผล ขณะที่สามารถทำให้ตนเองได้มีความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้นนั้น เป็นช่วงเวลาที่ประเสริฐของชีวิต เพราะเหตุว่าในวันหนึ่งๆ ส่วนมากจะเป็นไปด้วยอำนาจของอกุศล (อกุศลไม่นำคุณประโยชน์อะไรมาให้เลย) แต่บางครั้งบางเวลาก็มีเหตุปัจจัยทำให้เป็นผู้ที่มีความสนใจที่จะสละเวลาจากที่เป็นอกุศล มาเพื่อฟังพระธรรม (ซึ่งหาฟังได้ยาก อย่างยิ่ง) และจากการฟังในแต่ละครั้ง ความเข้าใจย่อมจะค่อยๆ เจริญขึ้น จึงเป็นช่วงเวลาที่ประเสริฐจริงๆ เพราะจะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน กิเลสที่มีมาก ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว ย่อมไม่สามารถที่จะขจัดออกไปจากจิตใจได้ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 31 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะกล่าวถึงสิ่งใด ก็มีจริงๆ ในขณะนี้ แต่ไม่รู้จนกว่าจะได้ฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง แม้แต่ เจตนา ก็มีจริงๆ แต่ก่อนอาจจะเข้าใจเพียงว่า มี เจตนาดี กับ เจตนาไม่ดี เท่านั้น แต่พระธรรมละเอียดมาก แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรม ตรง ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น เจตนาเจตสิกเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก คือ เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง ทั่วไปกับจิตทุกดวง ไม่ว่าจิตนั้นจะเป็นกุศลหรืออกุศล หรือวิบาก หรือกิริยา จะไม่ปราศจากเจตนาเจตสิกเลย

เพราะฉะนั้น โดยชาติของเจตนา ซึ่งอาจจะเคยเข้าใจเพียงในลักษณะ ที่ว่าเป็นกุศลเจตนา หรือเป็นอกุศลเจตนา แต่ตามความจริงแล้ว เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น ลักษณะสภาพของเจตนาเจตสิก โดยชาติ (ความเกิดขึ้น) จึงมี ทั้ง ๔ ชาติ คือเจตนาที่เป็นอกุศลก็มี เจตนาที่เป็นกุศลก็มี เจตนาที่เป็นวิบากก็มี เจตนาที่เป็นกิริยาคือ ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่วิบาก ก็มี ขึ้นอยู่กับว่าเจตนาจะเกิดกับจิตประเภทใด ก็มีความเสมอกันกับจิตประเภทนั้น แต่ที่จะเป็นเหตุที่จะให้เกิดผลในภายหน้า ต้องเป็นเฉพาะกุศลเจตนา กับ อกุศลเจตนา เท่านั้น

เพราะฉะนั้นแล้ว เจตนาที่เป็นประโยชน์ มีคุณ ก็ต้องเป็นเจตนาที่เป็นไปกับกุศลเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกุศลเจตนาในการที่จะฟังที่จะศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ส่วน อกุศลเจตนา นั้น ไม่มีประโยชน์ มีแต่โทษโดยส่วนเดียว และโทษนั้นก็เกิดกับตนเองเท่านั้น ถ้าเป็นอกุศลเจตนาที่เป็นไปในทางเบียดเบียนผู้อื่น เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ก็จะเบียดเบียนตนเอง ในขณะที่ผลที่ไม่น่าปรารถนาเกิดขึ้น ตรงกับข้อความที่ว่า เจตนาที่จะเบียดเบียนผู้อื่น ก็จะเบียดเบียนตนเอง ซึ่งจะประมาทอกุศลไม่ได้เลยทีเดียว ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 31 ส.ค. 2557

ไม่มีใครสร้างกรรม มีแต่กรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่ได้สะสมกุศล หรือ อกุศลไว้ในจิตทุกขณะ ที่จะให้เกิดผลในอนาคต ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
papon
วันที่ 1 ก.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
orawan.c
วันที่ 1 ก.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ