ความไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ

 
pdharma
วันที่  1 ก.ย. 2557
หมายเลข  25443
อ่าน  1,739

จาก พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ หน้าที่ ๖๓๐

เรื่องสัทธรรมปฏิรูปกสูตร

[๕๓๔] ดูก่อนกัสสปะ เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้ ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความฟั่นเฟือน เพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเป็นไฉน คือ

ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดา ๑

ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรงในพระธรรม ๑

ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรงในพระสงฆ์ ๑

ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรงในสิกขา ๑

ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ ๑

เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความฟั่นเฟือน เพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม.

เรียนถามว่า "ไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ" เป็นอย่างไร และเหตุใดความไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ จึงสำคัญถึงขนาดต้องยกไว้เป็น ๑ ใน ๕ ข้อ ที่นำไปสู่ความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม

ขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 1 ก.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ในอรรถกถาสัทธรรมปฏิรูปกสูตร ท่านอธิบายข้อนี้ว่า ดังนี้ :-

ผู้ไม่ยังสมาบัติ ๘ ให้เกิด หรือ ไม่ทำความเพียร เพื่อความเกิดสมาบัติเหล่านั้น ชื่อว่าไม่มีความเคารพในสมาธิ..

ส่วนผู้ใดยังสมาบัติ ๘ ให้เกิด หรือทำความเพียร เพื่อความเกิดสมาบัติเหล่านั้น ชื่อว่ามีความเคารพในสมาธิ.

ซึ่งการเคารพในสมาธิยังมีอีกหลายนัย การที่ประพฤติ ปฏิบัติผิด ที่เป็นมิจฉาสมาธิ ชื่อว่า ไม่เคารพในสมาธิ แต่การที่ประพฤติสัมมาสมาธิ ขณะนั้น ชื่อว่าเคารพในสมาธิ ซึ่งการเคารพในสมาธิจะมีไม่ได้เลย ถ้าปราศจากปัญญา ความเข้าใจ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ปัญญาเกิดรู้ความจริงในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้น ก็มีสมาธิด้วย เป็นสัมมาสมาธิ เพราะเกิดพร้อมปัญญา ชื่อว่าเป็นผู้เคารพในสมาธิแล้วในขณะนั้น ครับ

พระพุทธศาสนา หมายถึง พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดจากการตรัสรู้ของพระองค์ ที่กว่าจะได้ตรัสรู้นั้นพระองค์ต้อง บำเพ็ญพระบารมีตลอดระยะเวลาที่ยาวนานถึงสี่อสงไขยแสนกัป พระบารมีที่พระองค์ทรงบำเพ็ญมาทั้งหมดก็เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกอย่างแท้จริง ให้มีความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของ สภาพธรรมตามความเป็นจริง พร้อมทั้งน้อมประพฤติปฏิบัติตามจนกระทั่งถึงความเป็นผู้หมดจดจากกิเลสในที่สุด จะเห็นได้ว่าเมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว พระองค์ทรงแสดงพระธรรมตลอด ๔๕ พรรษา ทรงพร่ำสอนพุทธบริษัทบ่อยๆ เนืองๆ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า พระธรรมมีประโยชน์มาก ทำให้ผู้ได้ฟังได้ศึกษามีความเข้าใจถูก เห็นถูก เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลส

ดังนั้น พระพุทธศาสนาเจริญ เพราะมีผู้เห็นประโยชน์ ได้ฟังได้ศึกษามีความเข้าใจถูกเห็นถูก พร้อมทั้งน้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วยความจริงใจ พระธรรมย่อมไม่มีวันอันตรธานไปจากใจของผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาอย่างแน่นอน แต่ที่จะเสื่อมหรือจะอันตรธานไปในที่สุดนั้น ก็เพราะไม่มีผู้ศึกษา ไม่มีผู้เข้าใจ ไม่มีผู้น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม ถ้าจะกล่าวตามความเป็นจริงแล้ว สัตว์โลกผู้ที่ไม่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ย่อมเสื่อมจากพระพุทธศาสนา คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่อยู่ในใจของสัตว์โลกเหล่านั้น ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่เห็นประโยชน์ของพระธรรม

ดังนั้น เหตุผลที่ยกแสดงว่า การไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ เป็นไปเพื่อความอันตรธานของพระสัทธรรม คือ เพราะพุทธบริษัท ไม่ประพฤติปฏิบัติ ในสัมมาสมาธิที่มีปัญญา ความเห็นถูกที่รู้ความจริง ในขณะนี้ว่า เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา และเจริญสมถภาวนา ในหนทางที่ผิดกัน และเข้าใจธรรมผิด ขณะนั้นก็เป็นมิจฉาสมาธิ เมื่อนั้นก็ทำให้ พระพุทธศาสนา คือ คำสอนที่เป็นความเข้าใจถูก อันตรธานไปจากใจของบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงอันตรธานไปจากใจของบุคคลที่เข้าใจธรรมที่ผิด มีการปฏิบัติสมาธิผิด ที่เป็นมิจฉาสมาธิ การไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ คือ ประพฤติมิจฉาสมาธิย่อมทำให้ ศาสนา ความเห็นถูก อันตรธานไปจากใจของบุคคลนั้น ครับ

ถึงแม้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว แต่ก็ยังมีพระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนพระองค์ และในยุคนี้สมัยนี้ เป็นยุคที่พระธรรมยังดำรงอยู่ จึงควรอย่างยิ่งที่จะได้ศึกษา เพราะยังไม่รู้ ก็จะต้องศึกษา เพื่อจะได้รู้ ได้สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกต่อไป มีโอกาสที่จะได้ฟังได้ศึกษา ก็ฟังก็ศึกษาต่อไป สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกยิ่งขึ้น ก่อนที่พระธรรมจะอันตรธาน ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 1 ก.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ควรที่จะได้เข้าใจตั้งแต่ต้นว่า สมาธิ เป็นธรรมที่มีจริง สมาธิเป็นชื่อของเอกัคคตาเจตสิก ที่เกิดร่วมกับจิตทุกดวง สมาธิแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ มิจฉาสมาธิ ๑ สัมมาสมาธิ ๑

มิจฉาสมาธิ คือ เอกัคคตาที่เกิดร่วมกับอกุศลจิต สัมมาสมาธิเป็นเอกัคคตาที่เกิดร่วมกับจิตฝ่ายดี

สัมมาสมาธิมีหลายระดับ คือ สมาธิที่เป็นไปในวัฏฏะ และสมาธิที่นำออกจากวัฏฏะ สมาธิที่เป็นฌานระดับขั้นต่างๆ มีปฐมฌาน เป็นต้น เพียงเพื่อสงบระงับกิเลสประการต่างๆ มีโลภะ เป็นต้น และทำให้เกิดในพรหมโลกเท่านั้น ไม่สามารถพ้นจากทุกข์ได้

สมาธิหรือเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดร่วมกับองค์มรรค เป็นสมาธิที่นำออกจากวัฏฏะ กล่าวคือ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งมีสมาธิเกิดร่วมด้วยทุกขณะเมื่อปัญญาเจริญขึ้น จนมีกำลังย่อมเป็นการทำกิจร่วมกันในอริยมรรค

เพราะฉะนั้นแล้ว จึงสำคัญตั้งแต่เบื้องต้น คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ เพราะสิ่งที่ควรรู้ควรศึกษานั้นมีมาก ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบแล้ว ย่อมไม่ชื่อว่าเคารพในพระธรรม เป็นเหตุให้เข้าใจผิด ปฏิบัติผิด ความเข้าใจพระธรรมย่อมไม่มี ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 1 ก.ย. 2557

อบรมสมาธิ มิจฉาสมาธิ ไม่เคารพสมาธิ แต่ เข้าใจธรรม เกิดสติปัฏฐาน เคารพในสมาธิ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
thilda
วันที่ 1 ก.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ