พจนาท่านอาจารย์

 
papon
วันที่  2 ก.ย. 2557
หมายเลข  25453
อ่าน  1,083

เรียน​อาจารย์​ทั้งสอง​ท่าน

"พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมดเป็นสมมติสัจจะ เพื่อให้​เข้าถึงลักษณะของปรมัตถสัจจะ"

พจนา​ท่าน​อาจารย์​ใน​พระ​อภิธรรมพื้นฐาน ๑๙๒ ขอความอนุเคราะห์อาจารย์ช่วยให้ราย

ละเอียดด้วยครับ ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 2 ก.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความหมายของ สมมติสัจจะ กับ ปรมัตถสัจจะ

โดย ท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ปรมัตถธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างจริงๆ แต่ว่าสิ่งที่รวมกัน แล้วก็เกิดความทรงจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือแม้แต่คำภาษาที่ใช้ไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่เป็นบัญญัติ หมายความว่าเป็นสิ่งที่กล่าวขานให้รู้ความหมายของสิ่งนั้น

เพราะฉะนั้นชื่อทั้งหมดเป็นบัญญัติ แต่สภาพธรรมแม้ไม่มีชื่อก็มีลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ แต่จำเป็นต้องใช้ชื่อ เพื่อที่จะได้ให้เข้าใจว่า หมายความถึงสภาพธรรมอะไร ทุกคนมีชื่อหมดเลย ใช่ไหมคะ ความจริงก็คือขันธ์ ๕ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ แล้วจะเรียกยังไงคะ ถ้าไม่มีชื่อทำให้สะดวกขึ้น ขันธ์ทางซ้าย ขันธ์แถวที่ ๖ หรืออะไรอย่างนี้ ก็ลำบาก หรือว่าขันธ์ ๕ สร้างพระวิหารเชตวันอย่างนี้ แต่ถ้ากล่าวว่า ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างพระวิหารเชตวัน เราก็เข้าใจได้ แล้วก็ไม่เข้าใจผิดว่า หมายถึงขันธ์ ๕ ไหน ก็ขันธ์ ๕ ที่ใช้คำว่า ท่านอนาถบิณฑิกะ ใช้ชื่อนั้นเป็นผู้สร้าง

นี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจว่า มี ๒ อย่าง สมมติสัจจะ กับ ปรมัตถสัจจะ ถ้าสมมติสัจจะก็เป็นบัญญัติ ถ้าปรมัตถสัจจะก็เป็นปรมัตถ์ พอจะเข้าใจความต่างของสัจธรรมที่เป็นปรมัตถสัจจะกับสมมติสัจจะว่า เพราะถ้าเป็นปรมัตถสัจจะ หมายความถึงเป็นปรมัตถธรรม มีจริงๆ เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นปรมัตถ์ แต่ถ้าเป็นสมมติสัจจะก็คือเป็นสิ่งที่มีจริงโดยคำที่ใช้ให้เข้าใจความหมายนั้นเท่านั้น เช่น ถ้วยแก้วเป็นสัจจะไหนคะ ปรมัตถสัจจะหรือสมมติสัจจะ ถ้วยแก้ว สมมติสัจจะ จาน ช้อน ซ้อมพวกนี้ก็สมมติสัจจะ แต่ลักษณะที่แข็ง เป็นปรมัตถสัจจะ

เพราะฉะนั้นก็สามารถจะแยกว่า สิ่งที่มีลักษณะจริงๆ ที่เป็นปรมัตถธรรม จริงโดยความที่เป็นลักษณะนั้น ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นปรมัตถสัจจะ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ซึ่ง สมมติสัจจะ คือ ชื่อเรื่องราว ปรมัตถสัจจะ คือ ลักษณะของสภาพธรรม ที่อาศัยชื่อ เรื่องราว ที่เป็นสมมติสัจจะ เพื่อเข้าถึงสภาพธรรม คือ ปรมัตถสัจจะ คือ อาศัยพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดง ที่เป็น ชื่อ เริ่องราว จากการอ่าน ได้ยินได้ฟัง เพื่อให้เกิดปัญญา ความเข้าใจ ย่อมจะทำให้เกิดปัญญารู้ความจริงที่เป็นปรมัตถสัจจะได้ครับ

ถ้าหากพระพุทธเจ้าไม่ตรัสอะไรเลย ทรงนิ่งเงียบ ก็คงไม่สามารถที่จะเข้าใจอะไรได้ แต่เพราะอาศัยพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ที่เป็นสมมติเรื่องราวให้เข้าใจ ก็ทำให้เข้าใจพระธรรม จนถึงปัญญาที่รู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ตามความเป็นจริงได้ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 2 ก.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น แต่ธรรมเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีใครทำอะไรให้เกิดขึ้นได้ มีแต่ความเป็นไปของสภาพธรรมที่มีจริงเท่านั้นเอง

ในการฟังในการศึกษาพระธรรม ต้องอาศัยคำ ต้องอาศัยชื่อของธรรม มิฉะนั้นก็จะไม่สามารถเข้าใจได้ว่ากล่าวถึงอะไร แต่ไม่ใช่เพื่อจำชื่อ แต่เพื่อเข้าใจความจริงของสภาพธรรมตามความเป็นจริง คำที่กล่าวถึง ต้องเป็นคำที่กล่าวให้เข้าถึงตัวจริงของสภาพธรรม

การฟังพระธรรมให้เข้าใจในสิ่งที่กำลังฟังบ่อยๆ เนืองๆ สังขารขันธ์ย่อมปรุงแต่งน้อมไปให้เข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ตัวตนที่ไปประพฤติตาม เป็นธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ซึ่งต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาไปตามลำดับเท่านั้น ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 2 ก.ย. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ประสาน
วันที่ 3 ก.ย. 2557

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
tanrat
วันที่ 5 ก.ย. 2557

การที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจ นั้นนับว่าเป็นพระมหากรุณาคุณยิ่ง พระธรรมนั้นยากที่จะเข้าใจ การที่เราได้ยินได้ฟังเพราะพระปัญญาธิคุณที่ทรงตรัสรู้ ความจริงซึ่งมีอยู่จริงและยากที่จะเข้าใจ พระองค์ทรงแสดงเพื่อผู้ฟังจริงๆ ประโยชน์อยู่ที่ผู้ฟังมิใช่อยู่ที่พระองค์ และกัลยาณมิตรอย่างท่านอาจารย์สุจินต์ และท่านวิทยากรทุกท่านของมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

กราบอนุโมทนาในกุศลจิตค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
napachant
วันที่ 5 ก.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 6 ก.ย. 2557

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ