เหตุปัจจัยที่มองไม่เห็น

 
นิ้ง
วันที่  4 ก.ย. 2557
หมายเลข  25463
อ่าน  1,265

การให้รู้สิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้น เช่น การได้ยินได้ฟัง/ประสบพบเจอสิ่งที่น่าพอใจ ก็เป็นเพราะเหตุปัจจัยที่ได้กระทำไว้แล้ว ส่วน การได้ยินได้ฟัง/ประสบพบเจอสิ่งที่ไม่น่าพอใจนั้น ก็เป็นเพราะเหตุปัจจัยที่ได้กระทำไว้แล้วเช่นกัน..เป็นต้น จากข้อความดังกล่าว ผู้เขียนมีข้อสงสัยว่า คนเราจะได้พบเจอ/ได้รับสิ่งใด ก็เป็นเพราะเหตุปัจจัยที่ทำเอาไว้ ธรรมดาหากพบเจอแต่สิ่งที่น่ารักน่าพอใจ ใครๆ ก็คงจะยินดีและน้อมตามกับคำกล่าวข้างต้นนั้น แต่หากได้พบเจอสิ่งที่ไม่น่ารักไม่พอใจ ก็ยากที่จะทำใจได้ว่า ที่ตนต้องประสบสิ่งที่ไม่น่ารักน่าพอใจนั้น มีปัจจัย/สาเหตุมาจากการกระทำของตน โดยเฉพาะกับการกระทำบางอย่างที่เราไม่เคยมองเห็น หรือรับรู้ได้ในอดีตชาติ และยิ่งชาตินี้ไม่เคยทำสิ่งที่ไม่น่าพอใจเหล่านั้นกับผู้อื่นเลย เมื่อตนถูกกระทำ ย่อมเกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ หรือ แม้กระทั่งความคิดที่ว่า "ทำไมฉันต้องเจอแบบนี้ ฉันไม่เคยทำแบบนี้กับคนอื่น" และเมื่อมีเสียงสะท้อนตอบกลับมาว่า "แน่ใจหรือ ไม่เคยทำ เราเกิดมากี่ภพกี่ชาติ จำได้เหรอว่าเคยหรือไม่เคย" นี่ก็เป็นสิ่งที่น่าคิด เพียงแต่ผู้เขียนไม่อยากกดดันตัวเองด้วยการแบกรับ ความผิดทั้งหมดไว้ที่ตัวเอง จนรู้สึกว่า เหมือนโทษตัวเองไปเสียทุกเรื่อง...ด้วยการให้คิดว่า " เพราะมันเป็นกรรม เราทำไว้ เราก็ต้องได้แบบนี้ บางเรื่องที่ได้กระทำแล้วในชาตินี้ และระลึกได้ ก็ยังพอทำใจได้ แต่กับบางเรื่องที่ไม่เคยทำเลย แต่กลับต้องถูกกระทำจากผู้อื่นนั้น ผู้เขียนไม่สามารถยอมรับได้อย่างเต็มใจว่า มันเป็นกรรมของเรา ด้วย การคิดถึงเหตุปัจจัยที่มองไม่เห็น (ที่อาจเคยเกิดมาแล้วในอดีตชาติ) จริงๆ และบ่อยครั้ง กลับคิดในมุมกลับกันว่า สมมติว่าเราไม่เคยทำสิ่งนี้กับคนอื่นเลยไม่ว่าจะชาติไหนๆ เลยล่ะ? แต่เป็นคนอื่นที่เริ่มกระทำเราก่อน แบบนี้แล้วก็รู้สึกไม่ยุติธรรมอยู่ดีหากต้องเจอเรื่องไม่น่าพอใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้าจะให้คิดอย่างสบายใจได้บ้างก็คือ ทุกอย่างเกิดแล้วต้องดับ สิ่งที่ไม่น่ารักไม่น่าพอใจที่ได้เจอ เกิดแล้วก็ต้องดับเช่นกัน นี่คือความคิดที่ผู้เขียนใช้แก้ปัญปัญหากับความรู้สึกขัดแย้งของตัวเองบ่อยครั้ง เมื่อได้ประสบกับสิ่งที่ไม่น่ารักน่าพอใจ จึงอยากเรียนถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วผู้เขียนควรทำอย่างไรคะ กับเหตุปัจจัยที่มองไม่เห็น (และก็คงไม่พยายามจะไปมองเห็น เพราะเป็นเรื่องของอดีต) การอยู่กับปัจจุบันนั้นสำคัญที่สุด แต่อยู่อย่างไร จึงจะไม่เป็นการโทษตัวเองไปเสียทุกเรื่องเพราะปัจจัยที่มองไม่เห็นคะ?

-ขออนุโมทนาและขอบพระคุณค่ะ-


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 5 ก.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กรรม เป็นสภาพธรรมที่ปกปิด คือ ไม่รู้ว่ากรรมใดจะให้ผล และให้ผลเมื่อไหร่ และสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆ ตน ไม่มีผู้อื่นทำให้ แต่ตนเท่านั้นที่ทำ และตนเท่านั้นที่รับกรรม อย่างเช่น พระนางสามาวดี ถูกไฟเผาทั้งเป็นจากคนๆ อื่น พระภิกษุสนทนากันว่าไม่ควรเลยกับคนดีเช่นท่าน ที่เป็นพระโสดาบัน แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า กรรมย่อมสมควรกับพระนางแล้วเพราะในอดีตชาติเคยเผาพระปัจเจกพุทธเจ้า กรรมนั้นย่อมให้ผลโดยไม่มีคนอื่นทำให้แต่กรรมของตนเองเท่านั้นที่ให้ผล กรรมจึงเป็นสภาพธรรมที่ปกปิดยากที่จะรู้

การเข้าใจ พิจารณาอย่างถูกต้อง คือ การเข้าใจถูกว่า ไม่มีเราที่ทำกรรม และไม่มีเราที่รับกรรม มีแต่สภาพธรรมที่เกิดขึ้น การเข้าใจถูกเช่นนี้ ย่อมไม่พยายามไม่ให้เกิดอกุศล เพราะอกุศลย่อมเกิดเป็นปกติ และทุกข์ใจก็เกิดเป็นปกติ พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของความเข้าใจ ปัญญา เพราะฉะนั้น ก็เข้าใจถูก แม้อกุศลที่เกิดขึ้นว่าเป็นธรรม เข้าใจถูก แม้ทุกข์ที่เกิดขึ้นว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา การเข้าใจเช่นนี้ ย่อมเป็นหนทางการละกิเลส ละทุกข์ทั้งปวง เพราะ เป็นการเดินทางสายกลาง อริยมรรค ครับ

อาศัยการฟังศึกษาพระธรรมต่อไปอย่างยาวนาน และในหนทางที่ถูกต้อง คือ เข้าใจสิ่งที่เกิดแล้วว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ย่อมละกิเลส ละทุกข์ทั้งปวงได้ในที่สุด แต่ต้องอบรมอย่างยาวนานนับชาติไม่ได้ ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
peem
วันที่ 5 ก.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 5 ก.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ประโยชน์ของการฟัง การศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงก็เพื่อเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง และธรรมก็ไม่ได้อยู่ในหนังสือแต่มีจริงทุกขณะ แม้แต่ในเรื่องกรรม และผลของกรรม ก็เป็นธรรม ไม่พ้นจากธรรมเลย เพราะกรรม เป็นเจตนา เป็นความจงใจ ตั้งใจขวนขวายที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งที่เข้าใจกันมีทั้งกระทำกรรมดี และกระทำกรรมไม่ดี เป็นเหตุที่จะทำให้ได้รับผลข้างหน้า ตามเหตุตามปัจจัย

ส่วนผลของกรรม มี ๒ อย่าง คือ เป็นนามธรรม กับ รูปธรรม, นามธรรม ได้แก่ วิบากจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ส่วนรูป ที่เป็นผลของกรรม ได้แก่ กัมมชรูป (รูปที่เกิดจากกรรม) เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นต้น เป็นรูปที่เกิดจากกรรม

เมื่อได้ศึกษาในเรื่องกรรมและผลของกรรมแล้ว ก็จะเป็นเครื่องเตือนที่ดีในการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน เพราะในอดีตชาติเราก็เคยได้กระทำกรรมมาแล้วทั้งดี ทั้งไม่ดี โดยเฉพาะในส่วนที่ไม่ดีนั้น เราไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขหรือทำอะไรได้ แต่ในขณะนี้ เราสามารถสะสมในสิ่งที่ดีงามต่อไปได้ ด้วยความเป็นผู้ไม่ประมาท ไม่ประมาทในการสะสมความดีประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการสะสมเหตุที่ดี ที่จะเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ดี ในอนาคตข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา สะสมความเห็นที่ถูกต้องตรงตามพระธรรม เมื่อมีความเข้าใจธรรมมากๆ ขึ้นก็จะเป็นเครื่องอุปการะให้มีความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจา และทางใจดีขึ้นทำให้เป็นผู้ถอยกลับจากอกุศลไปตามลำดับ, ความดีที่ได้สะสมไว้นี้ไม่สูญหายไปไหนสะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ และความดี ย่อมนำมาซึ่งสิ่งที่ดี ไม่เคยนำความทุกข์ ความเดือดร้อนมาให้เลยแม้แต่น้อย, เราไม่สามารถรู้ได้ว่า กรรมใดจะให้ผลเมื่อใด ทางที่ดีที่สุด คือ สะสมความดีต่อไป

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
peem
วันที่ 12 ก.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
thilda
วันที่ 2 พ.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ