ช่วยอธิบาย วาจาส่อเสียด ให้เข้าใจหน่อยครับ ?

 
danai2523
วันที่  10 ก.ย. 2557
หมายเลข  25502
อ่าน  1,204

อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายหน่อยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 10 ก.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การพูดส่อเสียด ปิสุณาวาจา เพื่อให้ผู้อื่นแตกแยกกัน หรือ คำพูดส่อเสียด เพื่อมุ่งที่จะทำให้ตนเป็นที่รัก เป็นที่ไว้วางใจนั้น เป็นวจีทุจริต ซึ่งขณะใดที่เอาคำพูดของคนอื่นไปบอกอีกคน ด้วยเจตนาให้สองคนนั้นทะเลาะกัน หรือ บอกความไม่ดีของอีกคนให้คนอื่นฟัง และบอกความดีของตนเองให้คนนั้นฟัง เพื่อให้คนที่รับฟังไม่ชอบคนอื่น มารักตน ทั้งสองอย่างนี้ เป็นการพูดส่อเสียด ครับ ซึ่งการพูดส่อเสียด เป็นอกุศลกรรมบถ เมื่อถึงคราวให้ผล อย่างหนักย่อมทำให้ไปเกิดในอบายภูมิ อย่างเบาเมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ย่อมทำให้แตกจากมิตร คบกับใครไม่นานก็แตกแยกกัน

โดยมูลแล้วการพูดส่อเสียดเกิดจากโลภะ (ความโลภ ติดข้องยินดี พอใจ) บ้าง เกิดจากโทสะ (ความโกรธ ความไม่พอใจ) บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่อย่างแท้จริง ครับ

เรื่องที่เกี่ยวกับคำพูด หรือ ความประพฤติเป็นไปทางวาจานั้น บุคคลผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ก็จะเห็นได้ว่า มีคำพูดหลายอย่างที่ควรเว้น ไม่ควรพูด คำพูดส่อเสียด คำพูดที่คนฟังฟังแล้วเจ็บใจ ไม่สบายใจ คำพูดเหน็บแนม คำเท็จ เป็นต้น เป็นคำที่ไม่ควรพูด แต่ถ้าเป็นคำพูดที่เป็นคำจริงเป็นประโยชน์ เป็นคำที่ควรพูด ซึ่งเป็นข้อความที่ควรพิจารณาว่า นี้เป็นความจริง เป็นเครื่องเตือนที่ดีสำหรับบุคคลที่ยังมีกิเลสอยู่, อาจจะย้อนกลับไปคิดถึงในกาลก่อนก็ได้ว่า ตนเองมีวาจาที่ไม่เหมาะสมหรือไม่? และได้กล่าววาจาที่เป็นประโยชน์หรือไม่? ตนเองไม่ชอบคำพูดอย่างไร ก็ไม่ควรพูดคำอย่างนั้นกับคนอื่น

จึงแสดงให้เห็นว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงนั้น มีความละเอียดลึกซึ้ง เตือนให้เห็นกุศลและโทษภัยของกุศลประการต่างๆ ตามความเป็นจริง เพื่อให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษา ได้เข้าใจตามความเป็นจริง และจะได้ขัดเกลากิเลสของตนเองในชีวิตประจำวันต่อไป ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
tanrat
วันที่ 11 ก.ย. 2557

นอกจากส่อเสียดยังมีพูดเพ้อเจ้ออีก เช่นพูดตลกให้คนหัวเราะ พูดเรื่องตน ไม่มากก็หมดเลย ไปพูดเรื่องคนอื่น ล้อเลียนต่างๆ นานา ผู้ไม่เข้าใจก็ว่าเป็นการผ่อนคลายความเครียด นี่แหละความเข้าใจผิดในชีวิตปกติประจำวัน

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
kullawat
วันที่ 11 ก.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 11 ก.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปิสุณาวาจาอันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย, วิบากแห่งปิสุณาวาจา อย่างเบาที่สุด ย่อมยังการแตกจากมิตรให้เป็นไป แก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์ ” (จาก...พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต สัพพลหุสสูตร)

* * * * * * * * * * * * * * *

“ วาจาที่เป็นเหตุทำตนให้เป็นที่รักในใจของผู้ที่ตนพูดด้วย และเป็นเหตุส่อเสียดผู้อื่น ชื่อว่า ปิสุณาวาจา ” ปิสุณาวาจานั้น มีองค์ ๔ คือ

๑. ภินฺทิตพฺโพ ปโร (ผู้อื่นที่พึงให้แตกกัน)

๒. เภทปุเรกฺขารตา (มุ่งให้เขาแตกกันว่า คนเหล่านี้จักเป็นผู้ต่างกันและแยกกันด้วยอุบายอย่างนี้ หรือ ประสงค์ให้ตนเป็นที่รักว่า เราจักเป็นที่รักจักเป็นที่ไว้วางใจด้วยอุบายอย่างนี้)

๓. ตชฺโช วายาโม (ความพยายามที่เกิดแต่ความมุ่งให้เขาแตกกันนั้น)

๔. ตสฺส ตทตฺถวิชานนํ (ผู้นั้นรู้เรื่องนั้น) .

(จาก..สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พรหมชาลสูตร)

* * * * * * * * * * * * * * *

คำพูดส่อเสียด (ปิสุณาวาจา) เพื่อให้ผู้อื่นแตกแยกกัน หรือ คำพูดส่อเสียดเพื่อมุ่งที่จะทำให้ตนเป็นที่รักเป็นที่ไว้วางใจนั้นเป็นวจีทุจริต เป็นอกุศลกรรมบถ เมื่อถึงคราวให้ผล อย่างหนักย่อมทำให้ไปเกิดในอบายภูมิ อย่างเบาเมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ย่อมทำให้แตกจากมิตร คบกับใครไม่นานก็แตกแยกกัน โดยมูลแล้วการพูดส่อเสียดเกิดจากโลภะ (ความโลภ ติดข้อง ยินดี พอใจ) บ้าง เกิดจากโทสะ (ความโกรธ ความไม่พอใจ) บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่อย่างแท้จริง

พระธรรม จึงเป็นเครื่องเตือนที่ดีให้เป็นผู้ระมัดระวังแม้ในการพูด (โดยต้องระวังที่จิตใจของตนเอง เมื่อจิตใจสะอาด คำพูดก็สะอาด แต่เมื่อจิตใจไม่สะอาด คำพูดก็ไม่สะอาด) เพราะการพูดในบางครั้ง ดูเหมือนว่าไม่ได้พูดส่อเสียดให้ผู้อื่นแตกแยกกัน แต่ถ้าพูดถึงบุคคลอื่นในทางที่ไม่มีประโยชน์ คำพูดดังกล่าวย่อมไม่เกิดประโยชน์ทั้งคนพูดและคนฟัง ก็ไม่ควรที่จะพูด, ควรพูดเฉพาะคำที่จริง ไพเราะเป็นประโยชน์ ถูกกาลเทศะ และพูดด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตาเท่านั้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 11 ก.ย. 2557

ในสมัยพุทธกาล มีภิกษุสองรูปรักกัน ภิกษุอีกรูปหนึ่งพูดส่อเสียดกับทั้งสองรูปเพื่อให้เขาแตกกัน ภายหลังภิกษุทั้งสองรูปรู้ความจริงก็เลยไล่ภิกษุรูปนั้นออกจากวัดไป ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
danai2523
วันที่ 13 ก.ย. 2557

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
napachant
วันที่ 23 ก.ย. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ