ภัณฑะ ของฆราวาส และภิกษุ ต่างกันไหมคะ

 
SuMitta
วันที่  11 ก.ย. 2557
หมายเลข  25508
อ่าน  4,861

ดิฉันได้ฟังรายการแนวทางเจริญวิปัสสนา ที่ท่านอาจารย์สุจินต์ กล่าว ถึง บริขารของภิกษุ มีทั้งภิกษุที่เคร่งกับไม่เคร่ง เคยฟังว่ามีบริขารแปด แต่ท่านบอกว่า มีบริขารเก้า และสิบด้วย จึงสับสน สงสัยว่า บริขารภิกษุมีอะไรบ้าง และมีมากน้อยอย่างไร และคำว่า ภัณฑะ กับบริขารต่างกันอย่างไรบ้าง สงสัยหลายเรื่องมากเลยค่ะ เช่นสมัยนี้ถ้าเป็นผู้ชายควรบวชเป็นพระไหม จะได้ปฏิบัติธรรมได้สะดวกกว่าคนทำงานอย่างเรา ถ้าจะบวช จะบวชวัดไหนดี ไม่ทราบทางเวปนี้พอจะแนะนำวัดที่ผู้ต้องการบวชไปบวชได้ไหม ต้องขอโทษด้วยค่ะ สงสัยหลายเรื่องมากๆ แค่นี้ก่อนนะคะ จะรออ่านคำตอบจากคำถามทั้งหมดนะคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 11 ก.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่า ภัณฑะ หมายถึง วัตถุสิ่งของต่างๆ มีความหมายกว้างขวางมาก ขึ้นอยู่กับว่าจะกล่าวถึงวัตถุสิ่งของอย่างใด แต่ถ้ากล่าวถึงบริขารแล้ว ก็ต้องมุ่งไปที่วัตถุเครื่องใช้สอย อันเหมาะควรแก่เพศบรรพชิต เท่านั้น ตามความเป็นจริงแล้ว บริขารของพระภิกษุมี ๘ ได้แก่ ผ้าจีวร (ผ้าอุตราสงค์) , ผ้าห่มซ้อน (ผ้าสังฆาฏิ) , ผ้านุ่ง หรือ ผ้าสบง (ผ้าอันตรวาสก) , บาตร, มีด, เข็ม, ประคดเอว และผ้ากรองน้ำ

ส่วนสิ่งของอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปูลาด ผ้าปูนั่ง ไม้เท้า ร่ม รองเท้า ก็เป็นวัตถุที่พระภิกษุสามารถจะใช้เป็นบริขารเครื่องใช้สอยได้

แต่ถ้าเป็นผู้ที่สันโดษจริงๆ มีเพียงบริขาร ๘ อย่างก็เพียงพอต่อการที่จะใช้เป็นเครื่องใช้ให้ชีวิตบรรพชิตเป็นไปได้

สำหรับประเด็นเรื่องการบวช ควรที่จะได้พิจารณาว่าการบวช เป็นเรื่องที่ยากมากและการยินดีในการบวชก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นเดียวกัน เป็นอันตรายมากทีเดียวถ้าหากว่าบวชแล้วล่วงละเมิดพระธรรมวินัย ไม่ประพฤติตามพระวินัย เป็นผู้ย่อหย่อนไม่รักษาพระวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติ ขาดความเคารพยำเกรงในพระรัตนตรัย ย่อมเป็นผู้มีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้าเท่านั้น เมื่อต้องอาบัติแล้ว ไม่กระทำคืนตามพระวินัย ก็เป็นเครื่องกั้นการบรรลุมรรคผลนิพพาน กั้นการไปสู่สุคติด้วย แทนที่จะได้กระทำกิจที่ควรทำที่จะเป็นที่พึ่งสำหรับตนเอง แต่กลับไปเพิ่มอกุศล เพิ่มความไม่รู้ เพิ่มเหตุที่ไม่ดีให้กับตนเองที่จะทำให้ได้รับผลที่ไม่ดีในอนาคตข้างหน้า เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาเป็นอย่างมากทีเดียว

บุคคลในครั้งพุทธกาล ท่านได้ฟังพระธรรม ได้เข้าใจพระธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เห็นโทษของการอยู่ครองเรือน ว่า คับแคบ (คับแคบด้วยอกุศล คับแคบด้วยกิเลส) มีแต่จะเป็นเครื่องพอกพูนกิเลส ให้หนาแน่นขึ้น แล้วมีอัธยาศัยน้อมไปที่จะขัดเกลากิเลสให้ยิ่งกว่าเพศคฤหัสถ์ จึงสละทุกสิ่งทุกอย่าง สละทรัพย์สมบัติ สละวงศาคณาญาติแล้วออกบวช เป็นบรรพชิต ด้วยความจริงใจ ด้วยความตั้งใจที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ เพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ จนกระทั่งสูงสุดถึงความเป็นพระอรหันต์

การอบรมเจริญปัญญาไม่ได้จำกัดเฉพาะเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าผู้นั้นจะเห็นคุณประโยชน์ของพระธรรมมากน้อยแค่ไหน แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่งไม่เหมือนกันเลย ถ้าหากว่ามีความประสงค์จะศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกแล้ว แม้จะอยู่ครองเรือนเป็นคฤหัสถ์ ก็สามารถศึกษาพระธรรมได้ เป็นคฤหัสถ์ที่ดี พร้อมกับอบรมเจริญปัญญา ได้ ซึ่งมีเป็นส่วนน้อยมากที่จะได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่สะสมเหตุที่ดีมาแล้วที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกต่อไป เพราะไม่มีใครสามารถที่จะทราบได้ว่าโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมในชาตินี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด

ดังนั้น ถ้าจะพูดให้ได้คิดพิจารณา (แทนที่จะแนะนำให้ไปบวช) ว่า บวชเพื่ออะไร ส่วนใหญ่ก็จะตอบว่า บวชเพื่อศึกษาพระธรรม ก็ในเมื่อเป็นคฤหัสถ์ก็สามารถศึกษาพระธรรมได้ ทำไมจะต้องไปบวช?

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 12 ก.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บุคคลผู้ที่จะบวชในพระพุทธศาสนา จะต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง มีอัธยาศัยน้อมไปในความเป็นบรรพชิต เห็นประโยชน์ของการขัดเกลากิเลสที่มีเป็นอย่างมาก ในเพศของบรรพชิตซึ่งเป็นเพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์ โดยเห็นว่าอยู่ครองเรือนของคฤหัสถ์เป็นที่หลั่งไหลมาของอกุศลธรรมทั้งหลาย แล้วจึงสละทุกสิ่งทุกอย่างมุ่งสู่ความเป็นบรรพชิต ซึ่งเป็นอัธยาศัยของบุคคลนั้นจริงๆ ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ เป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างแน่นอน เป็นที่ชื่นชมอนุโมทนาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะความเป็นบรรพชิตไม่ได้อยู่ที่เพศ หรือ เครื่องแต่งกาย แต่อยู่ที่ความเป็นผู้จริงใจในการขัดเกลากิเลส บุคคลผู้เห็นโทษของการอยู่ครองเรือน ว่า คับแคบ (คับแคบด้วยอกุศล คับแคบด้วยกิเลส) มีแต่จะเป็นเครื่องพอกพูนกิเลส ให้หนาแน่นขึ้น แล้วมีอัธยาศัยน้อมไปที่จะขัดเกลากิเลสให้ยิ่งกว่าเพศคฤหัสถ์ จึงสละทุกสิ่งทุกอย่าง สละทรัพย์สมบัติสละวงศาคณาญาติ แล้วออกบวชเป็นบรรพชิต ด้วยความจริงใจ ด้วยความตั้งใจที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ ไม่ใช่บวชด้วยความไม่รู้ ไม่ใช่บวชตามๆ กัน ที่สำคัญการบวชไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นเรื่องของอัธยาศัยที่ได้สะสมมาจริงๆ ที่จะมีชีวิตที่ขัดเกลายิ่งกว่าเพศคฤหัสถ์ ชีวิตความเป็นอยู่ย่อมแตกต่างไปจากคฤหัสถ์ที่เคยเป็นอย่างสิ้นเชิง

ซึ่งถ้าบวชด้วยจุดประสงค์อย่างนี้และเห็นโทษของกิเลสและการครองเรือนจริง ก็เป็นกุศลจิตที่คิดถูก แม้จะสละ บุตร ภรรยา ก็ตามครับ แต่ถ้าบวชอยากถึงนิพพาน แต่ไม่ได้เห็นโทษของการครองเรือนจริงๆ ก็เป็นความอยาก แต่ไม่ใช่ปัญญา แต่เป็นอกุศลในขณะนั้นครับ จึงต้องพิจารณาจิตเป็นสำคัญ ครับ

ดังนั้น ขึ้นอยู่กับความเข้าใจเป็นสำคัญ ถ้าบวชไปแล้วประพฤติผิดประการต่างๆ ล่วงละเมิดสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้ นั่น เป็นอันตรายมาก มีแต่จะคร่าไปสู่อบายภูมิ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้บวช แต่เป็นคฤหัสถ์ผู้ดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ และมีโอกาสศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย กล่าวได้ว่า ชีวิตในชาตินี้ย่อมไม่เปล่าประโยชน์อย่างแน่นอน ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ ย่อมดีกว่าบวชไปแล้วเป็นบรรพชิตที่ไม่ดี ไม่มีความรู้ความเข้าใจพระธรรม ครับ

สิ่งที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือ สำคัญ ความเป็นบรรพชิต รักษายาก ถ้าหากว่ารักษาไม่ดี มีการประพฤติปฏบัติตนไม่สมควรแก่ความเป็นบรรพชิตแล้ว มีแต่จะเป็นโทษแก่ตนเองเพียงอย่างเดียว ในยุคนี้สมัยนี้ จึงเป็นเรื่องที่ยากจริงๆ สำหรับความเป็นบรรพชิตที่บริสุทธิ์บริบูรณ์

ควรที่จะพิจารณาว่า ทำไมถึงบวช? เพราะถึงแม้ว่าไม่ได้บวช ก็สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาและกุศลประการต่างๆ ได้ ซึ่งถ้ากล่าวถึงจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการบวชแล้ว คือ เพื่ออบรมเจริญปัญญา จนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้กล่าวถึงความต่างระหว่างเพศบรรพชิตกับคฤหัสถ์ ไว้ น่าพิจารณาทีเดียว ว่า

ความต่างกันของผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชน พุทธบริษัท ระหว่างผู้ที่บวชกับผู้ที่ไม่บวช คือว่าพุทธบริษัทที่ไม่บวช เพราะว่าไม่ได้สะสมอัธยาศัยที่จะบวช ไม่มีอัธยาศัยใหญ่ถึงกับสละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิตได้ แต่ว่าคฤหัสถ์ผู้นั้นก็เป็นพุทธบริษัทที่ดี สามารถอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มหาอุบาสิกาวิสาขา และท่านอื่นๆ อีกมาก ท่านก็เป็นผู้ที่เป็นพุทธบริษัทที่อบรมเจริญปัญญาในเพศคฤหัสถ์ แล้วก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

--------------------------------------------------------

เพราะฉะนั้นการจะบวชจึงเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ และจุดประสงค์ของการบวชต้องตรงด้วย เพื่อศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเองเป็นสำคัญ ถ้าหากว่าจุดประสงค์ไม่ตรงแล้ว แทนที่จะได้ประโยชน์จากการเป็นผู้ทรงเพศอันสูงสุด ก็จะทำให้นำพาตนเองลงสู่ที่ต่ำ ก็เป็นได้ เพราะความเป็นบรรพชิตถ้ารักษาพระวินัยไม่ดี มีแต่จะคร่าไปสู่อบายภูมิโดยส่วนเดียว

ประการที่สำคัญ คือ เพศไหน ก็สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาได้ สามารถที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม และน้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตามได้ทั้งนั้น ที่สำคัญคือ จะเห็นประโยชน์ จะเห็นคุณค่าของพระธรรมหรือไม่? เป็นคฤหัสถ์ที่ดี โดยที่ไม่ประมาทในการเจริญกุศลประการต่างๆ ไม่ขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาไปตามลำดับเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดี โดยไม่จำเป็นต้องถือเพศเป็นบรรพชิตก็ได้ การเดินทางในสังสารวัฏฏ์ยังไม่จบสิ้น ก็ต้องจะต้องอบรมเจริญปัญญาต่อไป ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
kullawat
วันที่ 13 ก.ย. 2557

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nopwong
วันที่ 13 ก.ย. 2557

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
peem
วันที่ 13 ก.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pichet
วันที่ 18 มิ.ย. 2558

ยินดีในบุญ ครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ