การนั่งเจริญภาวนา กับการสนทนาธรรม
-การนั่งเจริญภาวนา กับการสนทนาธรรม อย่างไหนเพิ่มพูนปัญญาดีกว่ากัน?
-ถ้าเราเลือกอ่านหนังสือธรรมะ ฟังธรรมะ สนทนาธรรมะ จำเป็นไหมที่เราจะต้องนั่งภาวนา+เดินจงกรม?
ขอเรียนถามอาจารย์ ขอบคุณอนุโมทนาบุญครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
-การนั่งเจริญภาวนา กับการสนทนาธรรม อย่างไหนเพิ่มพูนปัญญาดีกว่ากัน?
พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่เรื่องของการไม่เข้าใจ บอกให้ทำก็ทำ ด้วยความไม่รู้ แม้แต่การนั่งภาวนา ภาวนาคืออะไร ถ้ายังไม่รู้จักก็ไปนั่งด้วยความไม่รู้ และสำคัญว่า การนั่งภาวนา คือ การปฏิบัติ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติในพระพุทธศาสนาจึงไม่ใช่การนั่งภาวนา เพราะการปฏิบัติ คือ การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ที่เป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ซึ่งเกิดได้ในขณะไหนเมื่อไหร่ก็ได้โดยไม่ได้จำกัดว่าตอนนั่ง หรือตอนไหน ครับ
นี่แสดงให้เห็นประโยชน์ว่าเพราะอาศัยการฟัง การสนทนาธรรม ย่อมทำให้เข้าใจถูกว่า ปฏิบัติที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนาคืออะไร เพราะฉะนั้น ถามว่าอันไหนดีกว่ากัน ก็ต้องถามว่า สิ่งใดที่ทำให้เกิดความเข้าใจถูกในพระพุทธศาสนา สิ่งนั้นควรทำ สิ่งใดที่ทำโดยที่ไม่มีความเข้าใจถูกในขั้นการฟัง ว่าปฏิบัติ คืออะไร ก็ไม่ควรทำ ครับ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
-ถ้าเราเลือกอ่านหนังสือธรรมะ ฟังธรรมะ สนทนาธรรมะ จำเป็นไหมที่เราจะต้องนั่ง
ภาวนา+เดินจงกรม?
ตามที่กล่าวแล้ว สภาพธรรมที่เป็นปัญญา คือ ความเห็นถูก ย่อมนำพาไปสู่การปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้อง โดยนัยตรงกันข้าม สภาพธรรมที่เป็นความไม่รู้ และความเห็นผิด ความเข้าใจผิด ย่อมนำพาไปสู่การกระทำที่ผิดเช่นกัน เพราะฉะนั้นผู้ที่มีความเข้าใจถูกในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ย่อมเข้าใจความจริงในคำว่าปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง จึงไม่ไปปฏิบัติเป็นรูปแบบที่เป็นการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ที่สำคัญว่าเป็นการปฏิบัติ
แท้ที่จริง ไม่มีใครปฏิบัติ แต่เป็นสภาพธรรมที่เป็นสติและปัญญาปฏิบัติ คือ เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเมื่อเหตุปัจจัยพร้อมที่เข้าใจถูกว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา อันเกิดมาจากการฟังศึกษาพระธรรม สมกับคำว่า สาวก หมายถึง สำเร็จจากการฟัง ครับ ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น มีความละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ทั้งหมดเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยพยัญชนะใด นัยใด ก็ไม่พ้นไปจากเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง
- คำว่า ภาวนา หมายถึง การอบรมเจริญ, การยังกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ภาวนาจึง ไม่ใช่เป็นการไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ไม่ใช่การท่องบ่น ไม่ใช่เป็นการต้องการที่จะ กระทำอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยความไม่รู้ ด้วยความไม่เข้าใจ แต่เป็นการอบรมเจริญกุศลให้มีขึ้น ให้เจริญยิ่งขึ้น
ในทางพระพุทธศาสนา แสดงถึงภาวนา ๒ ที่เป็นสมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา สมถภาวนา เป็นการอบรมความสงบของจิตจนบรรลุฌานขั้นต่างๆ เมื่อฌานไม่เสื่อม ตายไปเกิดที่พรหมโลก วิปัสสนาภาวนาเป็นการอบรมปัญญา เมื่อปัญญาเจริญยิ่งขึ้น ย่อมรู้ความจริง คือ รู้แจ้งอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ ละกิเลสได้ตามลำดับมรรค สูงสุดคือ บรรลุความเป็นพระอรหันต์ ดับภพชาติ ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป
- การอ่าน การฟัง การสนทนา การสอบถาม การพิจารณาไตร่ตรองในพระธรรม ที่ได้ยิน ได้ฟังเป็นต้น ล้วนเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกทั้งหมด ขอเพียงเห็นประโยชน์ของพระธรรม มีโอกาสที่จะได้อ่านเมื่อใด ก็อ่านเมื่อนั้น มีโอกาสที่จะได้ฟังเมื่อใด ก็ฟัง เมื่อนั้น มีโอกาสที่จะสนทนาสอบถามเมื่อใด ก็สนทนาสอบถามเมื่อนั้น ทั้งหมดนั้นไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น แต่เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในธรรมตามความเป็นจริง ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
จึงระลึกได้ว่า พระธรรมเป็นสิ่งที่่ควรฟัง พิจารณา และเป็นความเห็นของตนเอง นำไปประพฤติปฏิบัติตาม
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ปัญญามาจากความเข้าใจถูกในขั้นฟังธรรม ขั้นพิจารณา จนกว่าจะเข้าถึงธรรมะจริงๆ ค่ะ
ขอบคุณครับอาจารย์ และขออนุโมทนาบุญ
พอเข้าใจครับ
และขอขอบคุณเพื่อนๆ ทางธรรมทุกๆ ท่าน