สด...จากสารนาท พาราณสี ประเทศอินเดีย ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๗
ขอนำเสนอภาพสดๆ ของช่วงเช้าวันนี้ จากสารนาท พาราณสี ให้ทุกๆ ท่านได้ชมนะครับ โดยความเอื้อเฟื้อภาพ จากพี่แก้วตา เอนกพุฒิ และ คุณนภา จันทรางศุ ที่กรุณาส่งภาพให้ทางไลน์สดๆ ในขณะนี้ครับ ข้าพเจ้า จะขอนำลงแบบอัพเดท โดยต่อเนื่องทั้งวัน เมื่อมีภาพส่งมาเพิ่มเติม ทุกท่าน สามารถติดตามได้ทางกระทู้นี้ โดยจะได้เพิ่มภาพหรือความเคลื่อนไหวต่างๆ ของคณะของท่านอาจารย์ ในกระทู้นี้ ให้ทุกๆ ท่านทราบ โดยตลอดทั้งวัน ครับ
โดยในตอนเช้าของวันนี้ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และ คณะ ฯ ได้เดินทางไปยังพระวิหารมูลคันธกุฎี เมืองสารนาถ พาราณสี เพื่อกราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ที่ประดิษฐานอยู่ภายในพระรัตนบุษยภาชน์ อันงดงาม ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้รับโอกาสให้จัดสร้างและนำมาถวายไว้เมื่อปีก่อน
หลังการกราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ท่านอาจารย์ และ ท่านพระสิวลี ได้เดินทางไปวางพวงมาลาสักการะ อนุเสาวรีย์ ท่านพระธรรมปาละ ซึ่งตามประวัติย่อๆ ของท่านในวิกิพีเดีย กล่าวไว้ว่า
อนาคาริก ธรรมปาละ Anagarika Dhammapala (เกิด 17 กันยายน พ.ศ. 2407 มรณภาพ 29 เมษายน พ.ศ. 2476) เป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมมหาโพธิ์ และเป็นผู้เรียกร้องเอาพุทธสถานในอินเดียกลับคืนมาเป็นของชาวพุทธ
หลังจากวางพวงมาลาสักการะอนุเสาวรีย์ของท่านพระธรรมปาละ แห่งแรกเสร็จแล้ว ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ ท่านพระสิวลี เถระ ได้เดินทางต่อไป เพื่อวางพวงมาลาสักการะ รูปปั้นของท่านพระธรรมปาละ ณ บริเวณด้านหน้าอาคารสมาคมมหาโพธิ์ ที่สารนาถ อีกแห่งหนึ่ง
ต่อจากนั้น ท่านอาจารย์ ได้มีการสนทนาธรรม เป็นการส่วนตัว กับท่านพระสิวลี ณ พิพิธภัณฑ์ ท่านธรรมปาละ เมืองสารนาถ ระหว่างเวลา ๙.๐๐ - ๑๐.๐๐ น. ก่อนที่จะเดินทางไปถวายเพลแด่พระภิกษุ
นอกจากนี้ ท่านอาจารย์ยังให้ความเมตตา สนทนาธรรมกับผู้ร่วมคณะ ฯ ระหว่างรอพระภิกษุที่กำลังเดินทาง มาฉันภัตตาหารเพล เป็นภาพของความประทับใจ ใน ณ กาลครั้งหนึ่ง ของทุกๆ ท่าน และผู้ที่ได้เห็นภาพบรรยากาศอันน่าปีติ ในครั้งนี้ครับ
ขณะอย่าล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย เพราะบุคคลที่ปล่อยเวลาให้ล่วงไป พากันยัดเยียดในนรก ก็ย่อมเศร้าโศก หากเขาจะไม่สำเร็จอริยมรรค อันเป็นธรรมตรงต่อสัทธรรมในโลกนี้ได้ เขาผู้มีประโยชน์อันล่วงเสียแล้ว จักเดือดร้อนสิ้นกาลนาน
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต
เล่ม ๔ - หน้าที่ ๔๕๔
(ภาพถวายภัตตาหารเพลและย่ามแด่พระภิกษุ เอื้อเฟื้อโดย คุณจู วรินนภัส สินสมุทรธาวิน)
พระมูลคันธกุฎี ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
ภาพธัมเมกขสถูปยามเย็นขณะปทักษิณข้างบน เอื้อเฟื้อโดยคุณมณฑา ขออนุโมทนา
อันดับต่อไป เป็นภาพท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ นำคณะฯ ปทักษิณ รอบธัมเมกขสถูปซึ่งคุณแอ๊ว นภา จันทรางศุ เพิ่งสามารถส่งไลน์มาได้เช้าวันนี้ (๒๒ ต.ค.) เพราะเหตุสัญญาณอินเทอร์เน็ตอ่อน และ ภาพสนทนาธรรมที่ธัมเมกขสถูป ที่ได้รับจากเฟซบุ๊กส่วนตัวของ อ.คำปั่น อักษรวิลัย
ขออนุโมทนาครับ
[เล่มที่ 6] พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ หน้าที่ 44
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
ปฐมเทศนา
[๑๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะพระปัญจวัคคีย์ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่สุด ๒ อย่างนี้อันบรรพชิตไม่ควรเสพคือ.
การประกอบตน ให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑.
การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น นั่นตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิดย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานนั้น เป็นไฉน
ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แหละ คือ
ปัญญาอันเห็นชอบ ๑
ความดำริชอบ ๑
เจรจาชอบ ๑
การงานชอบ ๑
เลี้ยงชีวิตชอบ ๑
พยายามชอบ ๑
ระลึกชอบ ๑
ตั้งจิตชอบ ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แล คือ ปฏิปทาสายกลางนั้น ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณได้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.
และ อันดับต่อไป ข้าพเจ้าขออนุญาตนำความอรรถกถา จากปฐมตถาคตสูตร ที่กล่าวถึงที่มาของชื่อสถานที่ และ ความสำคัญของสถานที่นี้ ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงพระธรรมโปรดพระปัญจวัคคีย์ หลังจบพระธรรมเทศนา ท่านพระอัญญาโกณทัญญะ ได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นองค์แรก เป็นเหตุให้มีพระรัตนตรัยครบองค์ ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม และ พระอริยสงฆ์ ทรงยังกงล้อพระธรรมจักรให้เป็นไป ณ สถานที่แห่งนี้ เพื่อความเข้าใจ และ ซาบซึ้ง ในสถานที่อันเลิศนี้ ที่ไม่มีในโลกอื่น ในสวรรค์ หรือ แม้ในพรหมโลก
[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒- หน้าที่ ๔๒๔
อรรถกถาธรรมจักกัปปวัตตนวรรคที่ ๒
อรรถกถาปฐมตถาคตสูตร
คำว่า กรุงพาราณสี ได้แก่ พระนครที่มีชื่ออย่างนี้.
คำว่า อิสิปตนมิคทายวัน ได้แก่ ในป่าที่ได้ชื่ออย่างนี้ ด้วยอำนาจการเหาะลงแห่งฤๅษีทั้งหลาย. ในอารามกล่าวคือป่าที่ชื่อว่ามิคทายะ เพราะให้อภัยแก่เนื้อทั้งหลายด้วยอำนาจการให้อภัย.
อธิบายว่า ก็ฤๅษีทั้งหลายที่เป็นสัพพัญญูเกิดขึ้นแล้วๆ ย่อมเหาะลง คือ นั่งในป่านั้น เพื่อให้ธรรมจักรเป็นไป แม้ฤๅษีผู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ล่วงไป ๗ วัน ออกจากสมาบัติ ทำกิจมีการล้างหน้าเป็นต้นที่สระอโนดาต มาทางอากาศจากเงื้อมเขาชื่อว่านันทมูลกะ แล้วเหาะลงด้วยอำนาจการหยั่งลงที่ป่านั้น ย่อมประชุมกันทำอุโบสถ และอนุอุโบสถ มุ่งไปภูเขาคันธมาทน์บ้าง และเหาะมาจากเขาคันธมาทน์นั้นบ้าง
ด้วยคำตามที่กล่าวมาแล้วนี้แล ป่านั้นท่านจึงเรียกว่า อิสิปตนะ ด้วยการเหาะลงและการเหาะขึ้นแห่งฤาษีทั้งหลาย.
คำว่า อามนฺเตสิ ความว่า บำเพ็ญบารมี ตั้งแต่ทำอภินิหารที่ใกล้พระบาทของพระทีปังกรพุทธเจ้า และเสด็จออกผนวชในพระชาติสุดท้ายโดยลำดับ ประทับนั่งบนอปราชิตบัลลังก์ที่ป่านั้น ทรงทำลายมารและกำลังมาร ปฐมยามทรงระลึกถึงบุพเพนิวาสานุสติญาณได้ มัชฌิมยาม ทรงชำระทิพยจักษุให้บริสุทธิ์ มัชฉิมยามสุดท้าย ทรงยังหมุนโลกธาตุให้กึกก้องหวั่นไหวอยู่ ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ แล้วทรงให้ล่วงไปเจ็ดสัปดาห์ที่ควงไม้โพธิ์ มีการแสดงธรรมที่ท้าวมหาพรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงตรวจดูโลกด้วยทิพยจักษุแล้วเสด็จไปเมืองพาราณสี ด้วยการสงเคราะห์สัตวโลก ทรงให้พระปัญจวัคคีย์ยินยอมแล้ว ทรงประสงค์จะประกาศธรรมจักร จึงตรัสเรียกมาแล้ว.
คำว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนสุดทั้งสองอย่างนี้ ความว่า ภิกษุทั้งหลาย ส่วนลามกสองเหล่านั้น ก็พร้อมกับการตรัสถึงบทนี้ เสียงกึกก้องแห่งการตรัส เบื้องล่างต่ออเวจี เบื้องบนจดถึงภวัคคพรหม แผ่ไปทั่วหมื่นโลกธาตุตั้งอยู่.
สมัยนั้นเอง พรหมนับได้ ๑๘ โกฏิ มาประชุมกันแล้ว ดวงอาทิตย์ตกลงทางทิศตะวันตก ดวงจันทร์เต็มดวงประกอบด้วยหมู่ดาวนักษัตรแห่งเดือนอาสาฬหะลอยขึ้นไปอยู่ทางทิศตะวันออก. สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงเริ่มธรรมจักกัปปวัตตนสูตรนี้ จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ส่วนสุดทั้งสองอย่างนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อันบรรพชิต ความว่า ผู้ตัดสังโยชน์แห่งคฤหัสถ์แล้วเข้าถึงการบวช.
คำว่า ไม่ควรเสพ คือไม่พึงใช้สอย.
คำว่า การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย ความว่า การตามประกอบกามสุขในวัตถุกาม กิเลสกาม.
คำว่า เป็นของเลว ได้แก่ลามก.
คำว่า เป็นของชาวบ้าน คือเป็นของมีอยู่แห่งชาวบ้านทั้งหลาย.
คำว่า เป็นของปุถุชน ได้แก่ ที่คนอันธพาลประพฤติเนืองๆ แล้ว.
คำว่า ไม่ประเสริฐ ได้แก่ ไม่บริสุทธิ์ คือไม่ใช่ของสูงสุด อีกอย่างหนึ่ง มิใช่ของพระอริยะทั้งหลาย.
คำว่า ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ คือประกอบด้วยประโยชน์หามิได้ อธิบายว่า ไม่อาศัย เหตุที่นำประโยชน์เกื้อกูลแสะความสุขมาให้.
คำว่า การประกอบความลำบากแก่ตน คือการตามประกอบความลำบากให้ตน อธิบายว่า ทำทุกข์แก่ตน.
คำว่า เป็นทุกข์ ได้แก่ นำทุกข์มาให้ด้วยการฆ่าตน มีการนอนหงายบนหนามเป็นต้น
พระองค์ทรง ทำจักษุคือ ปัญญา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กระทำจักษุ.
บทที่ ๒ เป็นไวพจน์บทนั้นนั่นเอง
คำว่า เพื่อความสงบ คือเพื่อประโยชน์แก่การสงบกิเลส.
คำว่า เพื่อความรู้ยิ่ง คือเพื่อประโยชน์แก่การรู้ยิ่งซึ่งสัจจะทั้ง ๔.
คำว่า เพื่อความตรัสรู้ ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่การตรัสรู้สัจจะ ๔ เหล่านั้นนั่นเอง.
คำว่า เพื่อนิพพาน ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน.
ในบทนี้ คำใดที่เหลือเป็นของพึงกล่าวไว้ คำนั้น ท่านกล่าวไว้ในบทนั้นๆ ในหนหลัง แม้สัจจกถาท่านก็ให้พิสดารแล้วในปกรณ์วิเศษวิสุทธิมรรคโดยประการทั้งปวงนั้นแล.
คำว่า มีวนรอบ ๓ คือ วน ๓ รอบด้วยอำนาจวนรอบ ๓ กล่าวคือ สัจญาณ กิจญาณ และกตญาณ ก็ในวนรอบ ๓ นี้
ญาณตามความเป็นจริงในสัจจะ ๔ อย่างนี้ คือ นี้ทุกขอริยสัจจะ นี้ทุกขสมุทัย ชื่อว่า สัจญาณ
ญาณที่เป็นเครื่องรู้กิจที่ควรทำอย่างนี้ว่า ควรกำหนดรู้ ควรละ ในสัจจะเหล่านั้นเที่ยว ชื่อว่า กิจญาณ
ญาณเป็นเครื่องรู้ภาวะแห่งกิจนั้น ที่ทำแล้วอย่างนี้ว่า กำหนดรู้แล้ว ละได้แล้ว ดังนี้ ชื่อว่า กตญาณ
คำว่า มีอาการ ๑๒ ความว่ามีอาการ ๑๒ ด้วยอำนาจอาการสัจจะละ ๓ นั้น
คำว่า ญาณทัสสนะ คือ การเห็น กล่าวคือญาณที่เกิดขึ้นแล้วด้วยอำนาจวนรอบ ๓ อย่าง อาการ ๑๒ อย่างเหล่านี้.
คำว่า ดวงตาเห็นธรรม ได้แก่ มรรค ๓ และผล ๓ ในที่อื่น ชื่อว่า เป็นธรรมจักษุ ในบทนี้ ได้แก่ ปฐมมรรคทีเดียว.
คำว่า ธรรมจักร ได้แก่ญาณ เป็นเครื่องแทงตลอด และญาณเป็นเครื่องแสดง.
ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนโพธิบัลลังก์ ปฏิเวธญาณ มีอาการ ๑๒ เกิดขึ้นแล้วในสัจจะ ๔ ก็ดี ประทับนั่งแม้ในป่าอิสิปตนะ เทศนาญาณ ที่เป็นไปแล้ว เพื่อแสดงสัจจะมีอาการ ๑๒ ก็ดี ชื่อว่าธรรมจักร ก็ญาณแม้ทั้งสองนั้น ชื่อว่า ญาณที่ที่เป็นไปแล้วในพระอุระของพระทศพลนั่นเที่ยว ธรรมจักรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงประกาศด้วยเทศนา ชื่อว่า ทรงให้เป็นไปแล้ว.
ก็ธรรมจักรนี้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้เป็นไป จนกระทั่งถึงพระอัญญาโกณฑัญญเถระดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล กับพรหม ๑๘ โกฏิ และเมื่อให้ธรรมจักรเป็นไปแล้ว จึงชื่อว่าให้เป็นไปแล้ว.
ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงให้ธรรมจักรเป็นไปแล้ว ท่านหมายเอาคำนั้น จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ภุมมเทวดาทั้งหลายประกาศให้ได้ยินเสียง.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภุมฺมา ได้แก่ เทวดาผู้ดำรงอยู่บนพื้นดิน.
คำว่า ประกาศให้ได้ยินเสียง ความว่า เทวดาทั้งหลายให้สาธุการพร้อมกันทีเดียว กล่าวคำเป็นต้นว่า นั่นธรรมจักรอันยอดเยี่ยม อันพระผู้มีพระภาคเจ้า ... ดังนี้ ประกาศให้ได้ยินแล้ว.
คำว่า แสงสว่าง ได้แก่ แสงสว่างคือ พระสัพพัญญุตญาณ.
จริงอยู่ แสงสว่าง คือพระสัพพัญญุตญาณนั้น ไพโรจน์ล่วงเทวานุภาพของพวกเทพ.
คำว่า โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ความว่า เสียงกึกก้องอย่างโอฬารแห่งพระอุทานนี้ แผ่ไปตลอดหมื่นโลกธาตุแล้วตั้งอยู่.
จบอรรถกถาปฐมตถาคตสูตรที่ ๑
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่แก้วตา เอนกพุฒิ และ คุณนภา จันทรางศุ สำหรับภาพที่ส่งมาสดๆ ทางไลน์ ในวันนี้ ครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณวันชัย พี่แก้วตา และ พี่แอ๊ว นภา
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ด้วยค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง
ขอกราบอนุโมทนาในกุศลของทุกท่านค่ะ
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ
ขอเพิ่มเติมภาพจากคุณทัศนีย์ (กุ้ง) และ พี่แอ๊ว (ฟองจันทร์ วอลช) ที่ได้รวบรวมกลุ่มไลน์ India 2014 Bus No.4 สำหรับการแชร์ภาพและการสื่อสาร ขณะที่เดินทางอยู่ในประเทศอินเดียในครั้งนี้ โดยสมาชิกในกลุ่ม มีกุศลเจตนา ที่จะบันทึกและแชร์ภาพ บรรยากาศของการร่วมกันเจริญกุศล เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ให้ท่านที่ไม่มีโอกาสได้ไปร่วมเจริญกุศลในครั้งนี้ ได้รับรู้ และ ร่วมอนุโมทนา ด้วย ซึ่งข้าพเจ้าขอนำภาพของการจัดเตรียมดอกไม้เพื่อการประดับแท่นพระบรมสารีริกธาตุ ถวายไว้ที่พระมูลคันธกุฎี เพื่อใช้สำหรับงานใหญ่ของสารนาถ ในวันที่ ๔ พฤศจิกายน ที่จะถึง ทุกๆ ท่าน จัดเตรียมด้วยกุศลวิริยะอย่างยิ่ง เมื่อคืนที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อทางคณะฯ ทำเสร็จ ได้ถวายแด่ท่านพระสิวลีไว้แล้ว เพื่อการนั้น ครับ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์ ๗ ประการนี้ ๗ ประการ เป็นไฉน คือ ทรัพย์คือ ศรัทธา ๑ ศีล ๑ หิริ ๑ โอตตัปปะ ๑ สุตะ ๑ จาคะ ๑ ปัญญา ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือศรัทธาเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา คือ เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เรียกว่า ทรัพย์คือศรัทธา.
ขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของทุกๆ ท่าน เป็นอย่างยิ่งครับ
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบเท้าบูชา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพ
ภาพที่ท่านพระสิวลี ได้นำคณะของท่านอาจารย์สุจินต์ ได้เดินทางไปยัง พระวิหารมูลคันธกุฎี เมืองพาราณสี เพื่อกราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ที่ประดิษฐานอยู่ใน พระรัตนบุษยภาชน์อันงดงาม เป็นภาพที่งดงาม เมื่อเห็นแล้วก็เกิดกุศลจิต อันเนื่องจากศรัทธาของท่านอาจารย์ สุจิตต์ บริหารวนเขตต์ และ คณะ ชมรมบ้านธัมมะ มศพ ทุกท่าน
ประวัติ พระรัตนบุษยภาชน์อโศกมหาราชปริวรรต
ที่ประดิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุ ณ มูลคันธกุฎีวิหาร มหาโพธิสมาคม แห่งประเทศอินเดีย สารานาถ พาราณสี มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา มอบถวาย เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 เนื่องในวาระการก่อตั้ง มูลคันธกุฎีวิหาร ครบรอบ 81 ปี ในวันที่ 28 พศจิกายน 2555
ขออนุโมทนาครับ
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณวันชัย พี่แก้วตา พี่แอ๊ว และคุณแอ๊วนภา
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ด้วยครับ
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณวันชัย ภู่งาม เป็นอย่างยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณวันชัย พี่แก้วตา พี่แอ๊ว คุณแอ๊วนภา และ อ.คำปั่น อักษรวิลัย
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ด้วยค่ะ
กราบเท้า อนุโมทนา ในกุศลทุกประการของท่านอาจารย์ และผู้ร่วมการเดินทางในครั้งนี้ทุกท่านค่ะ
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ