การสะสมอุปนิสัยที่เป็นโทสะ
ขอเรียนถามท่านอาจารย์ว่าการสะสมอุปนิสัยที่เป็นโทสะจากชาติก่อนๆ จนมาถึงชาตินี้ เคยได้ฟังมาว่าอุปนิสัยนี้จะไม่หายไปและไม่ลดลง แม้จะระงับโกรธได้ก็เป็นเพียงขั้นสมถะ จึงอยากทราบว่าสภาพที่โทสะลดลงในขั้นที่อุปนิสัยค่อยๆ หายไปเรื่อยๆ ต่างจากการระงับโทสะขั้นสมถะอย่างไรครับ
อุปนิสัย สะสมมาเพราะอาศัยการเกิดขึ้นของจิต เจตสิก ที่เป็นชวนจิต ที่เป็น กุศล อกุศลประเภทต่างๆ ซึ่งสะสมไปทุกภพ ทุกชาติ เป็นวาสนาที่มีเหตุปัจจัยก็เกิดอุปนิสัยนั้นได้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็สามารถสะสมอุปนิสัยใหม่ที่ดีได้ ด้วยการฟัง ศึกษาพระธรรม แม้อุปนิสัยเก่าไม่หายไป เพราะสะสมในจิต สมถะ ก็ไม่สามารถละอุปนิสัยนั้นได้ แต่สมถะ และ การเจริญศึกษาพระธรรม ก็ทำให้เกิดอุปนิสัยที่ดีเพิ่มขึ้น วาสนาที่ดีขึ้นได้ ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ธรรม ไม่ง่าย เป็นเรื่องที่ยากมาก แต่ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ ถ้ามีศรัทธา เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริง ซึ่งมีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน แม้ความโกรธก็มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับความโกรธได้หมดสิ้น เมื่อได้เหตุปัจจัย ความโกรธก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ การดับกิเลสไม่ใช่ด้วยความอยาก หรือด้วยความเป็นตัวตน แต่ต้องด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง และจะดับในทันทีทันใดไม่ได้ ต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการสะสมปัญญา ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ที่สำคัญ คือ ไม่ประมาทพระธรรมว่าง่าย ก่อนที่จะดับโทสะ ควรที่จะได้เข้าใจว่า ในชีวิตประจำวัน พอที่จะเป็นไปได้ไหมสำหรับการขัดเกลาโทสะ จากที่เคยโกรธ เคยไม่พอใจคนนั้นคนนี้ สามารถที่จะมีเมตตาได้ไหม แทนที่จะโกรธ ขณะใดที่กุศล เช่น เมตตา เกิดขึ้น ขณะนั้นโทสะหรือ ความโกรธ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ทั้งหมดก็ต้องอาศัยความเข้าใจพระธรรม ค่อยๆ สะสม ความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขออธิบายเพิ่มเติม คำว่าวาสนาที่ท่านอาจารย์กล่าว เป็นคำที่ไม่ดี ไม่เหมือนทางโลกที่กล่าวว่าท่านผู้นี้วาสนาดีจัง ทั้งสวยและร่ำรวย แท้ที่จริงคำว่าวาสนาคืออย่างไรคะ
ขอความกรุณาท่านอาจารย์ให้ความกระจ่างของคำว่าวาสนาค่ะ กราบขอบพระคุณค่ะ
เรียน ความคิดเห็นที่ ๙ ครับ
วาสนา คือ ความประพฤติทั้งทางที่ดีและไม่ดีสะสมอบรมมาแต่ชาติก่อนๆ หมายถึงการสะสมอุปนิสสัย ซึ่งเป็นความเคยชินที่ได้ประพฤติมาแล้วในกาลก่อนจนไม่สามารถที่จะละได้ เช่น บางคนเป็นผู้ที่ทำอะไรเร็ว เดินเร็ว พูดเร็ว ทานอาหารเร็ว หรือบางท่านมีกิริยาอาการที่ไม่น่าเลื่อมใส บางท่านก็พูดคำที่ตนเองพูดจนเคยชิน เป็นต้น ในพระไตรปิฎกมีตัวอย่างแสดงไว้ว่า ...
วัสสการพราหมณ์ซึ่งเป็นมหาอำมาตย์แห่งเมืองราชคฤห์ เห็นท่านพระมหากัจจายนเถระซึ่งเป็นพระอรหันต์เดินลงมาจากภูเขา ก็ได้กล่าวว่าท่านผู้นี้มีกิริยาอาการคล้ายลิง เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงให้ขอขมาโทษต่อท่านพระมหากัจจายนเถระ ไม่เช่นนั้นเมื่อวัสสการพราหมณ์สิ้นชีวิตแล้ว จะไปเกิดเป็นลิงในป่าไผ่ แต่ด้วยมานะกิเลสของวัสสการพราหมณ์ จึงไม่ยอมขอขมาโทษ และยังให้บริวารไปปลูกไม้ผลต่างๆ เพื่อที่เมื่อตนตายไปเกิดเป็นลิงแล้วจะได้มีผลไม้กิน ในที่สุดวัสสการพราหมณ์ก็ได้สิ้นชีวิตแล้วไปเกิดเป็นลิงจริงๆ
การสะสมอุปนิสัยของท่านพระมหากัจจายนเถระ ทำให้มีอาการบางอย่างที่ไม่น่าเลื่อมใสต่อผู้ที่พบเห็น ซึ่งอาการเหล่านี้เรียกว่า วาสนา แม้เป็นพระอรหันต์ หรือพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ละไม่ได้ นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ที่สะสมอบรมปัญญาบารมีมาเพื่อเกื้อกูลสัตว์โลก จึงต้องสมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง แม้พระรูปกายและกิริยาอาการก็ต้องเป็นที่น่าเลื่อมใส พระองค์จึงทรงละกิเลสได้พร้อมทั้งวาสนาซึ่งเป็นอาการกิริยาที่ไม่ดี ครับ
ขอเชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...