สักกายทิฏฐิมี ๒๐

 
papon
วันที่  29 ต.ค. 2557
หมายเลข  25701
อ่าน  2,179

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

"สักกายทิฏฐิมี ๒๐" พจนาท่านอาจารย์ในพระอภิธรรมพื้นฐาน ๒๙๓ หมายความว่าอย่างไร และมีรายละเอียดอย่างไรครับ ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 29 ต.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สักกายทิฏฐิ สก (ของตน) + กาย (ที่ประชุม) + ทิฏฺฐิ (ความเห็น)

ความเห็นว่าเป็นกายของตน, ความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน หมายถึง ความเห็นผิดในขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา ของเรา หรือเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งผิดไปจากความเป็นจริงตามสภาพธรรม เช่น ยึดถือ ขณะที่ว่า เห็น เป็นเราที่เห็น เป็นเราที่ได้ยิน เป็นต้น

สักกายทิฏฐิ เป็นความเห็นผิดที่เป็นพื้นฐาน เป็นอนุสัยกิเลสซึ่งมีอยู่กับทุกบุคคลที่ไม่ใช่พระอริยะ เรียกว่า ทิฏฐิสามัญ ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดทิฏฐิพิเศษที่มีโทษมากได้ เช่น สัสสตทิฏฐิ อเหตุกทิฏฐิ อกิริยทิฏฐิ นัตถิกทิฏฐิ คือ เห็นว่าบุญไม่มีบาปไม่มี

และ สักกายทิฏฐิ ยังแบ่ง เป็น 20 ประการ ด้วย ลักษณะของความยึดถือ ว่าเป็นตัวตนมีลักษณะ หลายประการ 20 ประการมีดังนี้ครับ

๑. เห็นรูปเป็นตน คือ ขณะที่เห็นผิดยึดถือว่า รูปร่างกายเป็นเรา (ตน) อุปมาเหมือนเห็นเปลวไฟและสีของเปลวไฟเป็นอย่างเดียวกัน

๒. เห็นตนมีรูป คือ ขณะที่ยึดถือว่า นามธรรมเป็นเราที่มีรูปร่างกาย อุปมาเหมือนเห็นต้นไม้มีเงา

๓. เห็นรูปในตน คือ ขณะที่ยึดถือว่า นามธรรมเป็นเรา และรูปอยู่ในนามที่เราอุปมาเหมือนกลิ่นในดอกไม้

๔. เห็นตนในรูป คือ ขณะที่ยึดถือว่า นามธรรมเป็นเราที่อยู่ในรูปร่างกายอุปมาเหมือนแก้วมณีในขวด

๕. เห็นเวทนาเป็นตน คือ ขณะที่ยึดถือว่า ความรู้สึกเป็นเรา (ตน) อุปมาโดยนัยเดียวกันกับรูป

๖. เห็นตนมีเวทนา คือ ขณะที่ยึดถือรูป สัญญา วิญญาณ ว่าเป็นเรา และเรามีเวทนา

๗. เห็นเวทนาในตน คือ ขณะที่ยึดถือรูป สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นเรา และมีเวทนาในเรา

๘. เห็นตนในเวทนา คือ ขณะที่ยึดถือรูป สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นเรา และเรามีอยู่ในเวทนา

๙. เห็นสัญญาเป็นตน คือ ขณะที่ยึดถือว่า ความจำเป็นเรา (ตน)

๑๐. เห็นตนมีสัญญา คือ ขณะที่ยึดถือรูป เวทนา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นเรา และเรามีสัญญา

๑๑. เห็นสัญญาในตน คือ ขณะที่ยึดถือรูป เวทนา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นเรา และมีสัญญาในเรา

๑๒. เห็นตนในสัญญา คือ ขณะที่ยึดถือรูป เวทนา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นเรา และเรามีอยู่ในสัญญา

๑๓. เห็นสังขารเป็นตน คือ ขณะที่ยึดถือว่า สังขารตัวปรุงแต่งเป็นเรา

๑๔. เห็นตนมีสังขาร คือ ขณะที่ยึดถือรูป เวทนา สัญญา วิญญาณ ว่าเป็นเรา และเรามีสังขาร

๑๕. เห็นสังขารในตน คือ ขณะที่ยึดถือรูป เวทนพ สัญญา วิญญาณ ว่าเป็นเรา และมีสังขารในเรา

๑๖. เห็นตนในสังขาร คือขณะที่ยึดถือรูป เวทนา สัญญา วิญญาณ ว่าเป็นเรา และเรามีอยู่ในสังขาร

๑๗. เห็นวิญญาณเป็นตน คือในขณะที่ยึดถือว่า วิญญาณเป็นเรา (ตน)

๑๘. เห็นตนมีวิญญาณ คือขณะที่ยึดถือรูป เวทนา สัญญา สังขาร ว่าเป็นเรา และเรามีวิญญาณ

๑๙. เห็นวิญญาณในตน คือขณะที่ยึดถือรูป เวทนา สัญญา สังขาร ว่าเป็นเรา และมีวิญญาณในเรา

๒๐. เห็นตนในวิญญาณ คือขณะที่ยึดถือรูป เวทนา สัญญา สังขาร ว่าเป็นเรา และเรามีอยู่ในวิญญาณ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 29 ต.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สักกายทิฏฐิ เป็นความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก

สิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรม และสิ่งที่มีจริงนั้น มีจริงในชีวิตประจำวัน ทุกขณะมีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้ รวมถึงความเห็นผิดก็มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เป็นทิฏฐิเจตสิก ผู้ที่เป็นปุถุชน สะสมความเห็นผิดมามากในสังสารวัฏฏ์ สะสมความเห็นผิดว่ามีเรา มีสัตว์ มีบุคคล เห็นผิดว่าเที่ยง เป็นสุข เป็นต้น การจะไถ่ถอนความเห็นผิดได้นั้น ก็ด้วยปัญญา แต่เพราะยังไม่ได้ดับความเห็นผิดได้อย่างเด็ดขาด ยังมีพืชเชื้อของความเห็นผิดอยู่ ความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล (สักกายทิฏฐิ) ก็ย่อมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เป็นอกุศลธรรมที่เห็นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นจริง และที่ตั้งที่จะให้ทิฏฐิประเภทนี้เกิดขึ้น ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่จริงที่เกิดดับในขณะนี้ ที่เป็นขันธ์ ๕ ได้แก่รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ซึ่งล้วนเป็นธรรมที่มีจริงในขณะนี้ เพราะยังไม่เข้าใจตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง เช่น เห็นเป็นธรรม ไม่ใช่เราที่เห็น ได้ยินเป็นธรรม ไม่ใช่เราที่ได้ยิน เป็นต้น จึงมีการยึดถือความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน

ตราบใดก็ตามที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ก็ยังไม่สามารถดับความเห็นผิดใดๆ ได้เลย แต่ความเห็นผิดทุกประการจะถูกดับได้อย่างหมดสิ้น เมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระโสดาบัน พระโสดาบันดับความเห็นผิดได้อย่างหมดสิ้น สักกายทิฏฐิ ซึ่งเป็นความเห็นผิดที่ยึดถืดสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนสัตว์บุคคลก็ดับได้ ไม่เกิดขึ้นอีกเลย พระโสดาบันไม่มีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล

การมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม มีประโยชน์อย่างยิ่ง ขณะที่ฟังแล้วเข้าใจ ขณะนั้นกุศลธรรมเจริญขึ้น ศรัทธา ปัญญา เป็นต้น เกิดขึ้น เป็นการขัดเกลาละคลายความเห็นผิด รวมถึงอกุศลธรรมประการอื่นๆ ด้วย ขณะที่กุศลธรรมเกิดอกุศลธรรมจะเกิดร่วมด้วยไม่ได้ และความเห็นผิดจะถูกดับได้อย่างเด็ดขาดเมื่ออบรมเจริญปัญญาถึงความเป็นพระโสดาบัน เมื่อนั้นความเห็นผิด จะไม่เกิดขึ้นอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งจะต้องเริ่มสะสมอบรมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับจริงๆ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 29 ต.ค. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
tanrat
วันที่ 30 ต.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
peem
วันที่ 30 ต.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
orawan.c
วันที่ 2 พ.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
สิริพรรณ
วันที่ 3 พ.ย. 2557

เมื่อก่อน ที่ยังไม่ได้ฟังท่านอ.สุจินต์

อ่านบทนี้แล้วไม่เข้าใจจริงๆ เลย

แม้พยายายามท่องจำโดยหวังว่าจะละคลายความมีตัวตน

ก็ไม่เข้าใจอยู่นั่นเอง

แต่เมื่อฟังท่านอ.สุจินต์บ่อยๆ หลายๆ ครั้ง

ท่านอ.ย้ำให้ระลึกเรื่องสภาพธรรมแต่ละหนึ่ง

กลับมาอ่านแล้ว ความรู้สึกต่างจากเมื่อก่อนมากๆ

กราบแทบเท้าบูชาพระคุณท่านอ.สุจินต์ ที่เคารพเป็นอย่างสูง

และขออนุโมทนาท่านวิทยากรทุกท่านค่ะ

การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมด้วยความเคารพ

เกื้อกูลต่อชีวิตมากกว่าโภคทรัพย์ใดๆ

จะฟังพระธรรมตราบจนชีวิตจะหาไม่

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 5 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ