โลภะ โทสะ
ขอเรียนถามว่าโลภะเป็นปัจจัยให้โทสะเกิดจะถูกไหมเพราะการที่โกรธเกิดจากการที่ไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ถ้าไม่มีโลภะก็ไม่มีโทสะ
ขอบคุณครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ถูกต้องครับ เพราะ อาศัยโลภะ เป็นปัจจัยให้เกิดโทสะ เพราะ ติดข้องยินดี เมื่อไม่ได้ย่อมเกิดโทสะ หรือ สูญเสียสิ่งที่ยินดี ที่ติดข้องก็เกิดโทสะ เป็นต้น ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเหตุให้เกิดโทสะดังนี้
[เล่มที่ 66] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 8
[๓๘๔] ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ผู้ไม่โกรธ ในคำว่า ผู้ไม่โกรธไม่สะดุ้ง ก็แต่ว่าความโกรธควรกล่าวก่อน ความโกรธ ย่อมเกิดด้วยอาการ ๑๐ อย่าง คือ ความโกรธย่อมเกิดด้วยอาการว่า เขาได้ประพฤติ
สิ่งไม่เป็นประโยชน์แก่เราแล้ว ๑
เขากำลังประพฤติสิ่งไม่เป็นประโยชน์แก่เรา ๑
เขาจักประพฤติสิ่งไม่เป็นประโยชน์แก่เรา ๑
เขาได้ประพฤติสิ่งไม่เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักชอบใจของเราแล้ว ๑
เขากำลังประพฤติสิ่งไม่เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักชอบใจของเรา ๑
เขาจักประพฤติสิ่งไม่เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ๑
เขาได้ประพฤติสิ่งเป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา๑
เขากำลังประพฤติสิ่งเป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ๑
เขาจักประพฤติสิ่งเป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ๑
ความโกรธย่อมเกิดในที่มิใช่เหตุ ๑
-------------------------------------------
แต่ เมื่อว่าโดยละเอียดลงไปแล้ว กิเลสทั้งปวง ทั้งโลภะ โทสะ เกิดได้เพราะอาศัยความไม่รู้ อวิชชาเป็นเหตุสำคัญ เพราะไม่รู้จึงติดข้อง เพราะไม่รู้จึงโกรธ เป็นต้น อวิชชา ความไม่รู้ จึงเป็นหัวหน้าของอกุศลธรรมทั้งหลาย ครับ
เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรเห็นโทษเพียงโลภะ โทสะ แต่ กิเลส คือ อวิชชา เป็นสภาพที่น่ากลัว เป็นเหวลึก ยังสัตว์ให้ตกไปในสังสารวัฏฏ์ ควรที่จะอบรมปัญญา ศึกษาพระธรรม เพื่อละ อวิชชา ความไม่รู้ และ กิเลสทั้งปวง ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
โลภะกับโทสะ ถึงแม้จะเป็นอกุศลเจตสิก แต่ก็เป็นธรรมคนละประเภทกัน โลภะ เป็นสภาพธรรมที่ติดข้องต้องการยินดีพอใจ ส่วนโทสะ เป็นสภาพธรรมที่ขุ่นเคืองใจ โกรธ ไม่พอใจ โลภะเกิดร่วมกับอกุศลจิตประเภทที่มีโลภะเป็นมูลเท่านั้น (โลภมูลจิต) ส่วนโทสะเกิดร่วมกับอกุศลจิตประเภทที่มีโทสะเป็นมูล (โทสมูลจิต) อกุศลธรรมที่กล่าวมาก็ไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวัน เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวันในฐานะของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ยากที่จะพ้นไปได้จริงๆ เกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล ทั้งความยินดีพอใจติดข้อง และไม่พอใจ โกรธขุ่นเคืองใจ เวลาที่กระทบกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่เป็นไปตามความปรารถนา ความต้องการ ก็เกิดโทสะ เกิดความเดือดร้อนใจขึ้นได้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมีโลภะเป็นพื้นอยู่นั่นเอง มีโลภะติดข้องในสิ่งหนึ่งสิ่งใด เมื่อไม่ได้ตามที่ปรารถนาตามที่ติดข้องก็เป็นเหตุให้เกิดโทสะ จึงแสดงให้เห็นว่าผู้ที่จะไม่มีโทสะเลย นั้น คือ พระอนาคามีบุคคล ก็เพราะว่าท่านดับโลภะที่ติดข้องยินดีพอใจในรูป เสี่ยง กลิ่นรส โผฏฐัพพะ ได้แล้ว ด้วยอนาคามิมรรคจิต แต่พระอนาคามี ก็ยังมีโลภะ ที่เป็นความติดข้องยินดีในภพ อยู่ ซึ่งจะถูกดับได้อย่างหมดสิ้น เมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์
กิเลสที่มีมาก มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น จะค่อยๆ ละคลายลงไปได้ ก็ด้วยการอบรมเจริญปัญญา หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเป็นหนทางที่จะให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงและสามารถดับกิเลสได้เป็นลำดับขั้น และที่สำคัญ สังสารวัฏฏ์ จะหมดสิ้นไปได้ ไม่ต้องมีการเวียนว่ายตายเกิด ก็ด้วยการอบรมเจริญปัญญา ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง จะได้ประโยชน์มากหากท่านผู้ฟังมีการพิจารณา ไตร่ตรอง จนเป็นปัญญาแห่งตน
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
สาธุ
ผมขอนำคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกไว้พิจารณา ดังนี้ครับ
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย...เพราะอาศัยตัณหาจึงมีการแสวงหา เพราะอาศัยการแสวงหาจึงมีการได้ เพราะอาศัยการได้จึงมีความปลงใจรัก เพราะอาศัยความปลงใจรักจึงมีความกำหนัดด้วยความพอใจ เพราะอาศัยความกำหนัดด้วยความพอใจจึงมีความสยบมัวเมา เพราะอาศัยความสยบมัวเมาจึงมีความจับอกจับใจ เพราะอาศัยความจับอกจับใจจึงมีความตระหนี่ เพราะมีความตระหนี่จึงมีการหวงกั้น เพราะมีการหวงกั้นจึงจึงมีเรื่องราวอันเกิดจากการหวงกั้นอันเป็น บาปอกุศลหลายประการ คือ การจับท่อนไม้ จับศาตรา การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท กล่าววาจาส่อเสียดว่ามึงๆ และพูดเท็จ ย่อมเกิดขึ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมมีตัณหาเป็นมูล ๙ ประการนี้แล ฯ” ขอให้พิจารณาแล้วปัญญาจะค่อยๆ เกิดครับ ขออนุโมทนาครับ