จิตเห็นไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย....แล้วทิฏฐิเกิดตอนไหนครับ

 
papon
วันที่  10 พ.ย. 2557
หมายเลข  25755
อ่าน  1,279

เรียน อาจารย์ทั้งสองท่าน

"จิตเห็นไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย" พจนาท่านอาจารย์ แล้วทิฏฐิเกิดตอนไหน ครับ ขอความอนุเคราะห์อาจารย์ช่วยกรุณาให้ปัญญาด้วยครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 10 พ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การเห็นว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แม้แต่พระอริยเจ้าและพระพุทธเจ้า ผู้ที่ดับความเห็นผิดจนหมดสิ้นก็ยังจะต้องเห็นเป็นสิ่งนั้น เห็นเป็นดอกไม้ เป็นพระอานนท์ เพราะเหตุใด เพราะตามธรรมชาติของวิถีจิตที่จะต้องเป็นอย่างนั้น คือ เกิดทางปัญจทวาร แล้วก็เกิดทางมโนทวารต่อ ที่คิดในรูปร่างสัณฐานของสิ่งนั้น จึงเห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งเห็นแล้ว คิดนึกเป็นสัตว์ บุคคลต่างๆ ด้วยกุศลจิตก็ได้ เช่น เห็นขอทานแล้วเกิดชวนจิตที่เป็นกุศลที่มีเจตนาจะให้ โดยมีบัญญัติ เรื่องราว สัตว์ บุคคล หรือขอทานเป็นอารมณ์ แม้จะเห็นเป็นสัตว์บุคคล แต่ไม่ได้มีความเห็นผิด แต่เกิดกุศลจิตแทนครับ

ดังนั้น การเห็นเป็นสัตว์ บุคคลไม่จำเป็นจะต้องมีความเห็นผิด เพราะเห็นแล้วเกิดกุศลจิต ขณะนั้นก็ไม่ได้เห็นผิด เห็นแล้วโกรธ ขณะที่โกรธ ไม่ได้มีความเห็นผิดเกิดขึ้นมาว่า มีคน มีสัตว์จริงๆ คือ ไม่ได้เกิดความเห็นผิดขึ้นในจิตใจ ก็ไม่ได้เห็นผิด

ทิฏฐิเจตสิกคือความเห็นผิดเป็นนามธรรม เกิดร่วมกับจิต ขณะใดที่มีความเห็น ต้องย้ำคำว่าความเห็นนะครับ คือมีความเห็นเกิดขึ้นที่ใจด้วยคิดว่า เที่ยง เป็นสุข และเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล ขณะใดที่มีความเห็นเช่นนั้นเกิดขึ้นก็มีความเห็นผิดแล้ว ซึ่งอาจแสดงออกมาทางวาจา ก็ได้ แต่ก็ต้องคิดในใจก่อน ซึ่งขณะนั้นก็มีความเห็นผิดเกิดแล้ว

คำถามก็คือในชีวิตประจำวัน เมื่อเห็นเป็นสัตว์ บุคคล เห็นเป็นสิ่งต่างๆ มีความเห็นผิดไหมครับ..... คำตอบคือไม่จำเป็นต้องมีความเห็นผิด ตรงนี้ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นก็จะสำคัญว่า เมื่อเห็นเป็นสัตว์บุคคลแล้วจะต้องเป็นความเห็นผิด หรือจะต้องเป็นทิฏฐิวิปลาส ไม่จำเป็นครับ เหตุผลก็คือตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น ขณะที่เห็นผิด คือ ขณะที่มีความเห็นขึ้นมาในใจว่า เที่ยง เป็นสุขและมีเรา เป็นสัตว์ บุคคล

เพราะไม่เช่นนั้นเราคงเห็นผิดตลอดเวลา เพราะเห็นเป็นสิ่งต่างๆ พระพุทธเจ้าก็เห็นเป็นพระอานนท์ แต่ไม่ได้เห็นผิดเพราะไม่ได้มีความเห็นว่าเป็นสัตว์ บุคคลจริงๆ ครับ หากแต่ว่าถ้าคุณเห็นแก้ว แล้วผมถามคุณว่าแก้วมีจริงไหม แล้วคุณก็ตอบว่าแก้วมีจริง ขณะที่คุณตอบอย่างนั้น ก็มีความเห็นขึ้นมาแล้วใช่ไหมครับ จึงตอบอย่างนั้น ต่างจากขณะที่เห็นแก้ว แต่ไม่ได้มีความเห็นอะไร ขณะที่ตอบว่าแก้วมีจริง หรือไม่ตอบก็ตามแต่คิดในใจว่าแก้วมีจริงขณะนั้นเป็นความเห็นผิด

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
papon
วันที่ 10 พ.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 10 พ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเป็นจริงของสภาพธรรมเป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น และสภาพธรรมแต่ละอย่างเป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละอย่างโดยไม่ปะปนกัน แม้แต่ที่กล่าวถึง เห็น กับ ความเห็นผิด ก็ไม่ใช่สภาพธรรมอย่างเดียวกัน แต่เป็นคนละประเภทกัน เพราะ เห็น เป็นวิบากจิต มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ประเภทเท่านั้น คือ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ และ มนสิการะ ส่วน มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด เป็นอกุศลเจตสิก ซึ่งจะเกิดกับจิตชาติอื่นไม่ได้ นอกจากเกิดร่วมกับจิตชาติอกุศล และเกิดร่วมกับอกุศลจิตประเภทที่มีโลภะเป็นมูล (โลภมูลจิต) เท่านั้น ตามเหตุปัจจัย นี้คือ ความเป็นจริงของสภาพธรรม

มิจฉาทิฏฐิ เป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของสภาพธรรม เช่น เห็นว่าทานที่ให้แล้วไม่มีผลการบูชาไม่มีผล มารดาบิดา ไม่มีคุณ เป็นต้น เกิดพร้อมกับอกุศลจิตประเภทที่มีโลภะเป็นมูล และเกิดร่วมกับอกุศลเจตสิก และเจตสิกอื่นๆ ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้นที่จะเป็นไปเพื่อละคลายความเห็นผิด ความไม่รู้ และ กิเลสประการอื่นๆ ครับ

..ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 10 พ.ย. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
tanrat
วันที่ 11 พ.ย. 2557

ปัญจทวารทั้งห้า ตา หู จมูก ลิ้น กาย มีความสำคัญเพราะเป็นประตูที่ให้จิตได้รับรู้สิ่งต่างๆ ทางตา ทางหู ลิ้น และกายที่กระทบอยู่ทุกขณะ นี่คือพระปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ได้คิดเอง กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล แต่อกุศลเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ พระองค์ทรงแสดงความจริงมากมาย ทั้งปรมัตถธรรม สมมติธรรม เพื่อผู้ฟังจะเข้าใจถูกตรงตามที่ทรงแสดง ปัญญาจะทำหน้าที่ของตนๆ ไม่มีใครทำอะไร นอกจากทุกอย่างทำกิจของตนๆ

กราบอนุโมทนาสาธุค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ประสาน
วันที่ 11 พ.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 29 พ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ