พระธรรมเทศนา จึงแจ่มแจ้ง กะ พระตถาคต

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  14 พ.ย. 2557
หมายเลข  25770
อ่าน  1,515

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

แนวทางเจริญวิปัสสนา แผ่นที่ ๒๐ - ครั้งที่ 1187

พระผู้มีพระภาค ตรัสว่าดูกรปุณณิยะ แต่ในกาลใด ภิกษุ เป็นผู้มีศรัทธา เข้าไปหา เข้านั่งใกล้ สอบถาม เงี่ยโสตลงฟังธรรม ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มีวาจางาม เจรจาถ้อยคำไพเราะ สละสลวย ไม่หยาบคาย ให้รู้เนื้อความได้แจ่มแจ้ง เป็นผู้ชี้แจงเพื่อนพรหมจรรย์ ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ร่าเริง ในกาลนั้น พระธรรมเทศนา จึงแจ่มแจ้งกะพระตถาคต

ขอเรียนถามค่ะ

“พระธรรมเทศนา จึงแจ่มแจ้ง กะ พระตถาคต” หมายความประการใดคะ

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่งสำหรับคำตอบค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 14 พ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรม จะแจ่มแจ้งก็ต่อเมื่อมีการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แจ่มแจ้งเพราะได้ฟังพระธรรม ซึ่งเป็นพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ

ขอเชิญอ่านคำถามของ อ.นิภัทร และคำตอบของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต๋ดังนี้

ถาม ผมสงสัยข้อความเมื่อกี้ที่อาจารย์แสดงว่า ธรรมไม่ปรากฏแจ่มแจ้งกะพระตถาคต แทนที่จะพูดว่า ธรรมไม่แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ ทำไมจึงว่า ธรรมไม่แจ่มแจ้งกับพระตถาคต ตามธรรมดาธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏแจ่มแจ้งกับพระองค์อยู่ตลอดเวลา

ส. สำนวนพระสูตร แต่อรรถก็จะต้องเข้าใจด้วยว่า เข้าใจธรรมของใคร เข้าใจธรรมกะใคร กะบุคคลไหน พยายามที่จะเข้าถึงอรรถของพยัญชนะนี้ ที่เข้าใจนั้นถูก ไม่ผิด แต่ทีนี้ผู้ที่ไม่แจ่มแจ้งคือ ผู้ฟัง หรือผู้ที่เริ่มจะมีศรัทธา และบางท่านก็เข้าไปหา บางท่านก็ไม่เข้าไปหา บางท่านเข้าไปหา แต่ยังไม่นั่งใกล้ เพราะฉะนั้น ความไม่แจ่มแจ้งควรจะเป็นของบุคคลเหล่านั้น ไม่ใช่ของพระผู้มีพระภาค แต่ธรรมที่แจ่มแจ้ง แจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาค

เพราะเป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ถ้าจะพยายามให้เข้าใจในความหมาย อย่างนี้จะได้ไหม ไม่ใช่เข้าใจแก่คนอื่น ไม่ใช่ธรรมของบุคคลอื่นที่จะต้องเข้าใจกับบุคคลอื่น

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ที่เคารพยิ่ง

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 14 พ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[๑๘๘] ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณิยะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่บางครั้งพระธรรมเทศนาแจ่มแจ้งกะพระตถาคต บางครั้งไม่แจ่มแจ้ง


ปุณณิยสูตร เป็นพระธรรมเทศนา ที่แสดงเกี่ยวกับว่า เหตุใดพระธรรมจึงไม่แจ่มแจ้ง คือ ไม่เกิดปัญญาความเข้าใจ และเหตุใด พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงจึงแจ่มแจ้ง ซึ่งมีเหตุปัจจัย ดังนี้ เพราะการที่พระธรรมไม่แจ่มแจ้งคือ ไม่เกิดความเข้าใจ เพราะแม้มีศรัทธาในพระธรรม แต่เมื่อเข้าไปหา คือ ไม่ฟังพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ก็เป็นไปกับการคิดเอง ก็คิดไม่ออก จึงทำให้ธรรมไม่แจ่มแจ้ง แต่เมื่อมีการเข้าไปหา สัตบุรุษ มีการฟังธรรม ก็ทำให้เกิดปัญญาขั้นการฟัง ก็ธรรมนั้น ในขั้นการฟัง ก็แจ่มแจ้งตามกำลังของปัญญาครับ แต่หากว่าฟังธรรมแล้ว ไม่สอบถาม

สนทนาก็เป็นการคิดเอง ตามที่ได้ฟัง ก็เข้าใจผิดได้ ก็เป็นการไม่เข้าใจธรรมแจ่มแจ้ง แต่เพราะอาศัยการสนทนา สอบถาม ย่อมได้รับความเข้าใจครับ การเข้าไปหาแต่เมื่อไปนั่งใกล้ เพื่อที่จะได้ฟัง สนทนาก็เช่นกัน ย่อมเป็นเหตุให้ไม่เข้าใจธรรม แต่เพราะอาศัยการนั่งใกล้ด้วยการสนทนา สอบถาม ย่อมได้ปัญญา ได้ความเข้าใจ ธรรมก็ย่อมแจ่มแจ้งกับผู้นั้นครับ และหากเมื่อเข้าไปสอบถาม สนทนาแล้ว แต่ไม่เงี่ยโสตลงสดับความหมาย คือ ไม่ตั้งใจที่จะฟัง ก็ทำให้ไม่เข้าใจ แต่หากสนทนา สอบถาม และตั้งใจฟังด้วยดี ย่อมเกิดปัญญา ความเข้าใจที่แจ่มแจ้งได้ครับ และหากได้ฟังแล้ว ไม่ทรงจำในสิ่งที่ได้ฟัง ธรรมก็เลอะเลือน ก็ทำให้ธรรมไม่แจ่มแจ้ง ไม่เข้าใจในโอกาสต่อไป แต่หากฟังด้วยความเข้าใจและจำได้ คราวต่อไปก็สามารถเข้าใจ ระลึกขึ้นได้

เพราะอาศัยการจำไว้ได้ แต่หากเพียงจำ ไม่พิจารณาไตร่ตรองธรรม ก็ทำให้ไม่เข้าใจธรรมนั้นสูงยิ่งขึ้น ปัญญาก็ไม่แจ่มแจ้งในพระธรรมอย่างละเอียดขึ้น แต่หากมีการทรงจำไว้แล้วและพิจารณาธรรมอย่างละเอียดรอบคอบ ย่อมเกิดปัญญาความเข้าใจพระธรรมละเอียดขึ้นครับ และแม้พิจารณาธรรมแล้ว แต่ไม่ได้ประพฤติปฏฺิบัติธรรม ไม่ได้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม คือ การรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่า เป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ก็ไม่สามารถที่จะเป็นความเข้าใจ แจ่มแจ้งในการรู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมได้จริงๆ ต่อเมื่อใด เมื่อฟัง พิจารณาแล้วเกิดสติ และปัญญาที่รู้ความจริงว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ธรรมย่อมแจ่มแจ้งกับบุคคลนั้น เพราะได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ครับ

ดังนั้น ความเข้าใจพระธรรมและไม่เข้าใจพระธรรม ก็แบ่งเป็นหลายระดับ และต้องอาศํยเหตุปัจจัยหลายๆ ประการ โดยอาศัยการฟัง ศึกษาพระธรรมและสนทนา สอบถาม พิจารณาธรรม ปัญญาก็เกิดขึ้นเป็นไปตามลำดับโดยไม่มีเราที่จะพยายามที่จะทำ แต่ธรรมจะปรุงแต่งเอง จากการฟัง ศึกษาพระธรรม ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
tanrat
วันที่ 15 พ.ย. 2557

กราบอนุโมทนาสาธุค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pulit
วันที่ 15 พ.ย. 2557

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาบุญค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ประสาน
วันที่ 15 พ.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
sairung
วันที่ 18 พ.ย. 2557

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
sairung
วันที่ 18 พ.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 19 พ.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 27 พ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ