ความประมาท

 
papon
วันที่  20 พ.ย. 2557
หมายเลข  25799
อ่าน  3,796

เรียน อาจารย์ทั้งสองท่าน

"ความประมาท" เป็นอกุศลธรรมแบบไหนครับและมีอกุศลอะไรเกิดร่วมด้วยครับ ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 20 พ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจคำว่าประมาท และ ไม่ประมาท ให้ถูกต้องว่าคืออะไรก่อนครับ ความประมาท คือ ขณะที่ไม่มีสติ ซึ่งสติเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี ขณะที่ไม่มีสติ ที่ชื่อว่า

ความประมาท หมายถึง ขณะที่เป็นอกุศล ดังนั้น ขณะใดก็ตามที่เป็นอกุศลจิต ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ชื่อว่าประมาทแล้วในขณะนั้นครับ

ความไม่ประมาท หมายถึง ขณะที่มีสติ เป็นกุศลจิต ดังนั้น ขณะใดที่เป็นกุศลจิต ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิตขั้นใด ไม่ว่าจะเป็นกุศลขั้นทาน ศีล ภาวนา ขณะนั้นชื่อว่าไม่ประมาท เพราะมีสติ อยู่โดยไม่ปราศจากสติในขณะนั้น ดังนั้นความประมาทจึงไม่ใช่ความหมายทางโลก ที่ทำอะไรด้วยความประมาท ข้ามถนน ไม่ดู ก็กล่าวว่าประมาท นั่นไม่ใช่ความหมายของความประมาทที่ถูกต้อง ครับ

ดังนั้น ความประมาท จึงหมายถึง จิตที่เป็นอกุศลจิต ที่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย เช่น อหิริกะ อโนตัปปะเจตสิก อุทธัจจะเจตสิกเจตสิก โมหเจตสิก เป็นต้น ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 20 พ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปกติในชีวิตประจำวันของผู้ที่ยังเต็มไปด้วยกิเลส อกุศลจิตเกิดมากกว่ากุศลจิต กล่าวได้ว่าเป็นผู้ที่ประมาทเกือบทั้งวัน เพราะขณะที่อกุศลจิตเกิดนั้นไม่มีสติ จึงเป็นผู้ประมาท และอกุศลที่สะสมในแต่ละวันจนมีกำลังมากขึ้น จึงเป็นปัจจัยให้กระทำอกุศลกรรม กระทำทุจริตทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ซึ่งเป็นเหตุทำให้ต้องได้รับผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้ในภายหน้า อกุศลนำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อนเท่านั้น ไม่เคยนำประโยชน์สุขมาให้เลยแม้แต่น้อย

ตามความเป็นจริงแล้วถึงแม้ว่าในชีวิตประจำวัน อกุศลจะเกิดมากตามเหตุปัจจัย แต่ก็ไม่ควรที่จะไปคร่ำครวญ เพราะสิ่งที่ผ่านไปแล้วก็ผ่านไป ถ้ามีความเข้าใจในเหตุและผล และรู้ว่ากุศลมีน้อยกว่าอกุศล ก็จะต้องเป็นผู้ไม่ประมาทในการอบรมเจริญกุศลทุกประการ โดยเฉพาะการเจริญปัญญา ด้วยการฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง และไม่ควรประมาทแม้ในอกุศลเพียงเล็กน้อยด้วย เพราะอกุศลแม้เล็กน้อยก็เป็นโทษ เปรียบเหมือนกันคูถ แม้จะมีเพียงนิดเดียว ก็มีกลิ่นเหม็นเหมือนกัน ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 20 พ.ย. 2557

คนที่ประมาท เหมือนคนที่ตายแล้ว เพราะคนที่ตายแล้วไม่สามารถลุกขึ้นมาทำกุศล เช่น ให้ทาน รักษาศีล หรือ ฟังธรรม ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
papon
วันที่ 20 พ.ย. 2557

เรียน อาจารย์ทั้งสองท่าน

สภาพธรรมทุกอย่างเกิดเพราะเหตุปัจจัย การเข้าใจเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดสภาพธรรมต่างๆ เพื่อระงับเหตุปัจจัยหรืออย่างไรครับ และการระงับเหตุปัจจัยด้วยความเป็นตัวตนจะเป็นหนทางที่ถูกหรือครับ ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
tanrat
วันที่ 21 พ.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 21 พ.ย. 2557

เรียน ความคิดเห็นที่ 4 ครับ

ธรรมเกิดเพราะเหตุปัจจัย ความจริงเป็นอย่างนี้ เมื่อมีความเข้าใจถูกเห็นถูกแล้ว ปัญญาทำกิจของปัญญา คือ เข้าใจตามความเป็นจริง ขณะที่เข้าใจ อกุศลใดๆ ก็เกิดไม่ได้ ไม่ใช่ขณะที่ประมาท เพราะในขณะนั้นเป็นกุศล และที่สำคัญความเข้าใจจะเป็นเครื่องปรุงแต่งเกื้อกูลให้กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้นในชีวิตประจำวัน ดังนั้น จึงเป็นชีวิตปกติ ไม่ใช่เรื่องฝืนหรือบังคับด้วยความเป็นตัวตน หรือด้วยความอยากความต้องการ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
papon
วันที่ 21 พ.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
แต้ม
วันที่ 3 ก.พ. 2558

ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้า ได้กล่าวไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนท่านทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อม ความสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลาย จงบำเพ็ญไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญา ให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด” จะเห็นได้ว่า พระพุทธองค์ทรงให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องความไม่ประมาท ให้พิจารณาถึงความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก กฏแห่งกรรม อยู่เนืองๆ เพื่อความไม่ประมาท

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 27 พ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ค่อยๆศึกษา
วันที่ 31 ส.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ