ว่าด้วยภาระ ๓ อย่าง
[เล่มที่ 66] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 259
ว่าด้วยภาระ ๓ อย่าง
[๖๙๘] ชื่อว่าภาระ ในคำว่า มุนีนั้น เป็นผู้ปลงภาระลงแล้ว พ้นขาด ได้แก่ ภาระ ๓ อย่าง คือ
ขันธภาระ ๑
กิเลสภาระ ๑
อภิสังขารภาระ ๑.
ขันธภาระเป็นไฉน
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในปฏิสนธิ นี้ชื่อว่า ขันธภาระ.
กิเลสภาระเป็นไฉน
ราคะ โทสะ โมหะ ฯลฯ อกุสลาภิสังขาร ทั้งปวง นี้ชื่อว่า กิเลสภาระ.
อภิสังขารภาระเป็นไฉน
ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร นี้ชื่อว่า อภิสังขารภาระ.
ขันธภาระ กิเลสภาระ และอภิสังขารภาระ เป็นสภาพอันมุนีละแล้ว มีรากอันตัดขาดแล้ว ทำไม่ให้ มีที่ตั้งดังตาลยอดด้วน ให้ถึงความไม่มีในภายหลัง มีความไม่เกิดขึ้น ต่อไปเป็นธรรมดา เมื่อใด เมื่อนั้น มุนีนั้นเรียกว่า เป็นผู้ปลงภาระ ลงแล้ว มีภาระตกไปแล้ว มีภาระอันปลดแล้ว มีภาระอันปล่อยแล้ว มีภาระอันวางแล้ว มีภาระระงับแล้ว