ไม่พึงยินดีสังขารเก่า ไม่พึงทำความชอบใจในสังขารใหม่

 
เมตตา
วันที่  27 พ.ย. 2557
หมายเลข  25838
อ่าน  612

[เล่มที่ 66] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒- หน้าที่ 479

ไม่พึงยินดีสังขารเก่า ไม่พึงทำความชอบใจในสังขารใหม่ เมื่อสังขารเสื่อมไป ก็ไม่พึงเศร้าโศก ไม่พึงเป็นผู้อาศัยกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง.

คำว่า ไม่พึงยินดีสังขารเก่า ความว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ล่วงแล้ว เรียกว่า สังขารเก่า บุคคลไม่ควรยินดี ไม่ควรบ่นถึง ไม่ควรติดใจ ซึ่งสังขารทั้งหลายที่ล่วงแล้ว ด้วยสามารถแห่งตัณหา ด้วยสามารถแห่งทิฏฐิ พึงละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความชอบใจ ความบ่นถึง ความติดใจ ความถือ ความยึดถือ ความถือมั่น เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ไม่พึงยินดีสังขารเก่า.

คำว่า ไม่พึงทำความชอบใจสังขารใหม่ ความว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นปัจจุบัน เรียกว่า สังขารใหม่ ไม่ควรทำความชอบใจ ความพอใจ ความรัก ความกำหนัด ในสังขาร ทั้งหลายที่เป็นปัจจุบัน ด้วยสามารถแห่งตัณหา ด้วยสามารถแห่งทิฏฐิ คือ ไม่ให้เกิดพร้อม ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดเฉพาะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่พึงทำความชอบใจในสังขารใหม่.

คำว่า เมื่อสังขารเสื่อมไป ไม่พึงเศร้าโศก ความว่า เมื่อสังขารเสื่อมไป เสียไป ละไป แปรไป หายไป อันตรธานไป ไม่พึงเศร้าโศก ไม่พึงลำบากใจ ไม่พึงถือมั่น ไม่พึงร่ำไร ไม่พึงทุบอก คร่ำครวญ ไม่พึงถึงความหลงใหล คือ เมื่อจักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สกุล คณะ อาวาส ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เสื่อมไป เสียไป ละไป แปรไป หายไป อันตรธานไป ไม่พึงเศร้าโศก ไม่พึงลำบากใจ ไม่พึงถือมั่น ไม่พึงร่ำไรไม่พึงทุบอกคร่ำครวญ ไม่พึงถึงความหลงใหล เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อสังขารเสื่อมไป ไม่พึงเศร้าโศก.

ว่าด้วยกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง

ตัณหา เรียกว่า กิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง ในคำว่า ไม่พึงเป็นผู้อาศัยกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง ได้แก่ ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌาโลภะ อกุศลมูล เหตุไรตัณหาจึงเรียกว่ากิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง บุคคลย่อมเกี่ยวข้องเกาะเกี่ยว ถือ ยึดมั่น ถือมั่น ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คติ อุปบัติ ปฏิสนธิ ภพ สงสาร วัฏฏะ ด้วยตัณหาใด เหตุนั้น ตัณหานั้นจึงเรียกว่า กิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง

คำว่า ไม่พึงเป็นผู้อาศัยกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง ความว่า บุคคลไม่พึงเป็นผู้อาศัยตัณหา พึงละ บรรเทาทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีซึ่งตัณหา เป็นผู้งด เว้น เว้นเฉพาะ ออก สลัดออก พ้นขาด ไม่เกี่ยวข้องตัณหา พึงเป็นผู้มีจิตปราศจากแดนกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่พึงเป็นผู้อาศัยกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ไม่พึงยินดีสังขารเก่า ไม่พึงทำความชอบใจในสังขารใหม่ เมื่อสังขารเสื่อมไป ไม่พึงเศร้าโศก ไม่พึงเป็นผู้อาศัยกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
pichet
วันที่ 7 ก.ค. 2558

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 16 มิ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ