ถามเรื่อง สติ

 
เรียนถาม
วันที่  3 ม.ค. 2550
หมายเลข  2585
อ่าน  1,340

สติเจตสิก เป็นโสภณเจตสิกที่เกิดกับโสภณจิตเท่านั้น และมีสัญญาเป็นเหตุใกล้ให้สติเกิดในพระอภิธัมมัตถสังคหะกล่าวถึงเหตุใกล้ไว้ มี 17 ประการ

(๑) ความรู้ยิ่ง เช่น สติของบุคคลที่ระลึกชาติได้ พระพุทธองค์ระลึกชาติได้ไม่จำกัดชาติ จะระลึกได้ทุกชาติ ที่พระองค์ปรารถนาสติของพระอานนท์ จำพระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ได้หมด

(๒) ทรัพย์ เป็นเหตุให้เจ้าของทรัพย์มีสติคือ เมื่อมีทรัพย์มักจะเก็บรักษาไว้อย่างดีและจะระมัดระวังจดจำไว้ว่าตนเก็บทรัพย์ไว้ที่ใด

(๓) สติเกิดขึ้น เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต เช่น พระโสดาบันจะจำได้โดยแม่นยำถึงเหตุการณ์ ที่ท่านได้บันลุเป็นพระโสดาบันหรือบุคคลที่ได้รับยศยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในชีวิต

(๔) สติเกิดขึ้น โดยระลึกถึงเหตุการณ์ที่ตนได้รับความสุขที่ประทับใจ เมื่อนึกถึงก็จะจำเรื่องต่างๆ ได้

(๕) สติเกิดขึ้น เนื่องจากความทุกข์ที่ได้รับเมื่อระลึกถึงก็จะจดจำได้

(๖) สติเกิดขึ้น เพราะเห็นเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่ตนเคยประสบ

(๗) สติเกิดขึ้น เพราะเห็นเหตุการณ์ที่ตรงกันข้ามกับที่เคยประสบ

(๘) สติเกิดขึ้น เพราะคำพูดของคนอื่น เช่น มีคนเตือนให้เก็บทรัพย์ที่ลืมไว้

(๙) สติเกิดขึ้น เพราะเห็นเครื่องหมายที่ตนทำไว้ เช่น เห็นหนังสือที่เขียนชื่อไว้ถูกลืมไว้

(๑๐) สติเกิดขึ้น เพราะเห็นเรื่องราวต่างๆ หรือผลงาน เช่น เห็นพุทธประวัติก็ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น

(๑๑) สติเกิดขึ้น เพราะความจำได้ เช่น มีการนัดหมายไว้เมื่อมองไปที่กระดานก็จำได้ว่าต้องไปตามที่ได้นัดไว้

(๑๒) สติเกิดขึ้น เพราะการนับ เช่น การเจริญสติระลึกถึงพระพุทธคุณก็ใช้นับลูกประคำเพื่อมิให้ลืม

(๑๓) สติเกิดขึ้นเพราะการทรงจำเรื่องราวต่างๆ ที่ศึกษาค้นคว้าแล้วจำเรื่องราวต่างๆ ได้

(๑๕) สติเกิดขึ้น เพราะการบันทึกไว้ เมื่อดูบันทึกก็จำได้

(๑๖) สติเกิดขึ้น เพราะทรัพย์ที่เก็บได้เช่นเห็นทรัพย์ก็นึกขึ้นได้ว่าได้เก็บทรัพย์ไว้

(๑๗) สติเกิดขึ้น เพราะสิ่งที่เคยพบเคยเห็นมาแล้ว เมื่อเห็นอีกครั้งก็ระลึกได้และในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ให้ความหมายของสติไว้ว่า สติ ความระลึกได้ นึกได้ ความไม่เผลอ การคุมใจไว้กับกิจ หรือคุมจิตไว้กับสิ่งที่เกี่ยวข้อง จำการที่ทำและคำที่พูดแล้ว แม้นานได้

ขอเรียนถามว่า

1. จำการที่ทำและคำที่พูดแล้วแม้นานได้ เหตุใดจึงเป็นสติ ทำไมจึงไม่ใช่สัญญา

2. เมื่อสติเกิดกับโสภณจิตเท่านั้น แต่เหตุใกล้ให้สติเกิดตามที่กล่าวไว้ในข้อ 2, 8, 16 ที่เกี่ยวกับการเก็บทรัพย์ขณะนั้นเกิดสติระลึกไปในกุศลอย่างไรน่าจะเป็นโลภมูลจิตหรือไม่

ขอบพระคุณครับ


Tag  สติ  
  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 3 ม.ค. 2550

๑. ลักษณะของสติคือความไม่เลอะเลือน ไม่หลงลืม ดูคล้ายกับสัญญาแต่ไม่ใช่สัญญา

๒. อาการดังกล่าวอาจเป็นโลภะ ก็ได้ และ เป็นไปในกุศลก็ได้ อยู่ที่สภาพจิต ถ้าหากจิตเป็นไปในเรื่องทาน ศีล ภาวนา ขณะนั้นมีสติเกิดร่วมด้วย แม้ว่าจะเกี่ยวกับทรัพย์ก็ตาม สรุปคือ เพราะเป็นกุศลจิตจึงกล่าวว่าเป็นสติ

[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 386

อีกอย่างหนึ่ง คำที่กล่าวแล้วนี้เป็นเพียงเพิ่มเติมด้วยอุปสรรค อาการที่ระลึก ชื่อว่า สรณตา ก็เพราะคำว่า สรณตาเป็นชื่อแห่งการระลึกทั้ง ๓ ฉะนั้น เพื่อที่จะปฏิเสธคำที่เป็นชื่อทั้ง ๓ นั้น จึงกระทำสตศัพท์ (คือตรัสถึงสติ) อีก ในที่นี้มีอธิบายว่า ภาวะที่ระลึกคือสติ สติ ชื่อว่า ธารณตา เพราะทรงจำสิ่งที่ได้ฟังและได้เรียนมา ภาวะที่ไม่เลอะเลือน ชื่อว่า อปิลาปนตา ด้วยอรรถว่าหยั่งลงคือการไหลเข้าไปในอารมณ์เปรียบเหมือนกระโหลกน้ำเต้าเป็นต้น ลอยอยู่บนน้ำไม่จมน้ำ ฉันใด สติก็ฉันนั้น ตั้งอยู่ในอารมณ์ไม่จมลง เพราะสติย่อมไปตามอารมณ์ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า อภิลาปนตา (ความไม่เลอะเลือน) สติ ชื่อว่า อสัมมุสนตา (ความไม่หลงลืม) เพราะความไม่หลงลืมในการงานที่ทำและคำพูดล่วงมานานได้

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 3 ม.ค. 2550

ถ้าสติเกิดไม่มีปัญญาประกอบก็ได้ เช่น สติที่ระลึกเป็นไปในทานการให้ แต่ไม่ประกอบด้วยปํญญาก็ได้ หรือเวลาที่เรารู้สึกโกรธแล้ว มีสติระลึกเป็นธรรมะอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เราขณะนั้นก็มีปัญญาเกิดร่วมด้วย แต่ปัญญาเกิดต้องมีสติดเกิดร่วมเสมอ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
สามารถ
วันที่ 4 ม.ค. 2550

ขณะใดมีสติ เหมือน บุคคล ที่ตื่นอยู่ เหมือนบุคคลที่ตื่นแล้ว คือ รู้ได้ว่า เมื่อก่อนหน้านี้ เราหลับ เมื่อก่อนหน้านี้เรานอนในที่อันสมควร หรือ ไม่สมควร เมื่อก่อนหน้านี้เรานอนในอิริยาบถที่งาม หรือ ไม่งาม รู้ได้ว่า เมื่อเราหลับอยู่ เราไม่รู้ว่ามีคนเห็นเราหรือไม่ เมื่อเราหลับอยู่ เราไม่รู้ว่ามีคนเดินผ่านเราหรือไม่ เมื่อเราหลับอยู่ มีคนเรียกเราหรือไม่ เป็นความ ระลึกได้ เป็นความดี เป็นเหตุแห่งความเจริญ เป็นกุศล

ดังนั้น สติ จึงต้องเป็นกุศลธรรมเสมอแน่นอน โดยปริยายแต่ขณะใดที่ไม่มีสติ ก็คือ เป็นโมหะ มีความครอบงำตืออกุศล เป็นอกุศลธรรมเกิด มีอกุศลธรรมเป็นประธาน เหมือน บุคคลทีหลับอยู่ เหมือนบุคคลที่ยังไม่ตื่น คือ ไม่รู้ว่า ทำอะไร มีภัยมาหาตัวหรือไม่

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เรียนถาม
วันที่ 4 ม.ค. 2550

ขอเรียนถามเพิ่มเติมครับ...

ต้องขออนุญาตยกเนื้อหาเหล่านี้มาแสดง และขอเรียนถามเพื่อเพิ่มเติมความกระจ่างชัดเจนครับ

หมายเหตุ นื้อหาที่ยกมานี้ คัดมาส่วนหนึ่งจากหนังสือ พุทธธรรม (ฉบับปรับปรุงแลขยายความโดยพระธรรมปิฎก)

ตัวอย่าง 1 นายแดง กับ นายดำ เคยรู้จักกันดี แล้วแยกย้ายกันไปต่อมาอีกสิบปีนายแดงพบนายดำอีก จำได้ว่าผู้ที่ตนพบนั้นคือ นายดำ แล้วระลึกนึกได้ต่อไปอีกว่าตนกับนายดำเคยไปเที่ยวด้วยกันที่นั่นๆ ได้ทำสิ่งนั้นๆ ฯลฯ การจำได้เมื่อพบนั้นเป็น สัญญา การนึกได้ต่อไปถึงเรื่องราวที่ล่วงแล้วเป็น สติ

ตัวอย่าง 2 วันหนึ่ง นาย ก ได้พบปะสนทนากับนาย ข ต่อมาอีกหนึ่งเดือน นาย ก ถูกเพื่อนถามว่าเมื่อเดือนที่แล้ววันที่เท่านั้นๆ นาย ก ได้พบปะสนทนากับใครนาย ก นึกทบทวนดูก็จำได้ว่าพบปะสนทนากับ นาย ข การจำได้ในกรณีนี้เป็น สติ

ตัวอย่าง 3 เครื่องโทรศัพท์ตั้งอยู่มุมห้องข้างหนึ่ง สมุดหมายเลขโทรศัพท์อยู่อีกมุมห้องด้านหนึ่งนาย เขียว เปิดสมุดหาเลขหมายโทรศัพท์ที่ตนต้องการ พบแล้วอ่านและกำหนดหมายเลขเอาไว้แล้ว เดินไปหมุนหมายเลข ที่เครื่องโทรศัพท์ตามต้องการ ระหว่างเดินไปก็นึกถึงหมายเลขนั้นไว้ตลอด การอ่านและกำหนดหมายเลขที่สมุดโทรศัพท์เป็น สัญญา การนึกหมายเลขนั้น ตั้งแต่ละจากสมุดโทรศัพท์ไปเป็น สติ

ตามที่ได้ศึกษามาสติ ซึ่งเป็นโสภณเจตสิก เกิดร่วมกับโสภณจิตเท่านั้น ย่อมเกิดขึ้นระลึกหรือนึกถึงเป็นไปในกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง การเดินข้ามถนนรถไม่ชน ถือชามแกงไม่หกเหล่านี้ไม่ใช่สติ (เว้นแต่ถ้าขณะนั้นสติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้รูป-นาม) แต่จากตัวอย่างทั้ง 3 ที่อ้างอิงนั้น ทำให้เกิดความสงสัยว่าการระลึกหรือนึกถึงได้ในสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ดังตัวอย่าง 1 และ 2 หรือการนึกถึงหมายเลขโทรศัพท์ได้ ดังตัวอย่าง 3 เหตุใดจึงเป็น สติ เพราะเพียงแค่นึกถึงหมายเลขโทรศัพท์ได้หรือนึกถึงได้ว่า เคยพบปะกับใครตามความเข้าใจน่าจะเป็น วิตก วิจาร ที่ตรึกนึกได้ เพราะสัญญาได้จดจำไว้ เคยหมายรู้ไว้ ขอช่วยให้คำอธิบายเพิ่มเติมด้วยครับ

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
shumporn.t
วันที่ 4 ม.ค. 2550

ศึกษาสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ จะทำให้เข้าใจลักษณะของสติมากขึ้น บางครั้งเราไม่ สามารถเข้าใจเรื่องราวได้หมด และแม้แต่สภาพธรรมก็มีความใกล้เคียงกันมาก ถ้าไม่ ศึกษากับสภาพธรรมจริงๆ ที่ปรากฏในทุกๆ ขณะเดี๋ยวนี้ ท่านอาจารย์กล่าวเสมอว่า ขั้น แรกให้รู้ความต่างกันของการมีสติกับการหลงลืมสติ กุศลหรืออกุศลในชีวติประจำวันมีให้ ศึกษาได้เสมอและตลอด อย่าติดในชื่อและพยัญชนะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
study
วันที่ 4 ม.ค. 2550

เมื่อกล่าวถึงปริยัติธรรม ตามหลักพระอภิธรรมปิฎกที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้แล้วนั้นสติ เป็นโสภณเจตสิก เกิดร่วมกับโสภณจิตเท่านั้น ย่อมเกิดขึ้นระลึกหรือนึกถึงเป็นไปในกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต คือ จำแนกละเอียด โดยขณะจิตแต่ละขณะ แต่เมื่อว่าโดยเหตุการณ์โดยรวมยาวๆ อาจกล่าวโดยองค์รวมอันเป็นที่เข้าใจกันว่า ขณะที่เขาฟังธรรมเป็นต้น เป็นจิตที่ดีงามมีสติ

ถ้าแยกเป็นขณะจิตต้องหมายเอาเฉพาะขณะที่เป็นกุศลเท่านั้นฉันใด ตัวอย่างที่ท่านยกมาทั้งหมดก็เช่นกัน เหตุการณ์เดียวกัน บางท่านอาจเป็นกุศล บางท่านอาจเป็นอกุศล อีกอย่างหนึ่งลักษณะของเจตสิก ที่มีลักษณะคล้ายๆ กันหลายประเภทซึ่งยากที่จะแยกโดยเด็ดขาดว่าเป็นเจตสิกประเภทใด เช่น วิตก วิจาร สติ มนสิการ เป็นต้น เพราะฉะนั้น การแยกลักษณะเจตสิกประเภทต่างๆ โดยชัดเจน ไม่ใช่ปัญญาของคนในยุคนี้ แม้ขณะที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ยังไม่สามารถแยกเจตสิกเป็นแต่ละประเภทได้ เบื้องต้นเพียงรู้ว่าขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศลเท่านั้น ส่วนการแยกประเภทว่าไปตามปริยัติเท่านั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เรียนถาม
วันที่ 4 ม.ค. 2550

เข้ามาดูคำตอบขอบพระคุณทุกๆ คำแนะนำครับ

เรียนคุณ shumporn.t คิดว่าการถามเพื่อความกระจ่างนี้คงไม่ใช่เรื่องติดในชื่อและพยัญชนะ แต่เป็นการสอบถามเพื่อให้เกิดความกระจ่างแก่ตนเอง เพื่อให้เกิดความเข้าใจถูกตรงตามสภาพธรรรมที่ปรากฏจริง เนื่องจากสภาพธรรมบางอย่างใกล้เคียงกันมาก จึงเกรงว่าตนเองอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อน หรือสื่อสารผิด เช่น บางคนอาจเข้าใจสภาพของสติกับสมาธิปะปนกัน ทำให้เรียกชื่อ หรือสื่อสารคำบัญญัติปะปนกัน ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งหากเกิดความกระจ่าง เกิดความเข้าใจที่ถูกตรงเข้าใจตัวสภาพธรรมนั้นที่ปรากฏจริง (มากน้อยตามกำลัง) และสื่อสารได้ตรงกับคำที่มีบัญญัติไว้ คิดว่าคงจะเป็นการดีกว่าที่จะสื่อสารผิด ขอบพระคุณมูลนิธิฯ คุณ wanee.s คุณสามารถ คุณ shumporn.t ทุกความเห็นอันเป็นประโยชน์ที่ช่วยให้ความกระจ่างครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ฟาง
วันที่ 5 ม.ค. 2550
อนุโมทนา
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
shumporn.t
วันที่ 5 ม.ค. 2550

อนุโมทนาสมาชิก เรียนถามค่ะ เพราะตอนที่ตัวเองอ่านเรื่องสติ ๑๗ ประการ ก็มีความสงสัย เช่นกันว่า ทำไมความจำการที่ทำหรือคำที่พูดไว้นานจึงเป็นสติ เพราะเป็นอาการเหมือนสัญญา ขณะนั้นก็เข้าใจว่าสติต้องเกิดกับกุศลจิต แต่เพราะตัวเองยังมีอาการพัวพัน ระหว่างสัญญากับสติ เพราะเข้าใจโดยมีความรู้ก่อนที่ได้ศึกษาธรรมะว่า สติในความหมายของคนทั่วไปคือรู้ตัว ไม่ลีม ถ้าไม่ลีมคือจำได้ น่าจะเป็นสัญญา ทำให้สับสนระหว่างความรู้ใหม่กับความรู้เก่า ซึ่งความเข้าใจผิดในลักษณะของสติตอนนั้น พิจารณาแล้วสำหรับตัวเองคือ การติดในชื่อและพยัญชนะ เลยตอบตามประสบการณ์ที่ประสพมา ถ้าใช้พยัญชนะใดที่ทำให้ผู้อื่นได้เข้าใจ หรืออาจเกิดความไม่เห็นด้วย เพราะประสพมาไม่เหมือนกัน ก็ขออภัยมานะที่นี้ด้วยขอน้อมรับทุกความเห็นด้วยความเคารพค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
spob
วันที่ 5 ม.ค. 2550

สติ และ สัญญา เป็นสภาพธรรมที่แตกต่างกัน แต่มีความอุปการะกัน ครับ

ลองเปรียบเทียบลักษณะของ สติ เจตสิก และ สัญญา เจตสิก ดังนี้

สติ มีการระลึกได้เป็นลักษณะ

มีการไม่หลงลืมเป็นรส (กิจรส)

มีการรักษาอารมณ์เป็นปัจจุปัฏฐาน (อาการที่ปรากฏ)

มีความจำได้อันมั่นคง (สัญญา) เป็นปทัฏฐาน (เหตุให้เกิด)

ส่วนสัญญา มีการจำได้เป็นลักษณะ

มีการทำเครื่องหมาย (เพื่อให้จำได้อีก) เป็นรส

มีการทำความโน้มน้าวไว้เป็นปัจจุปัฏฐาน

มีอารมณ์ตามที่ปรากฏเป็นปทัฏฐาน

อยากให้ไปดูเนื้อความทั้งหมด ในอรรถกถาธัมมสังคณี ตอนจิตตุปปาทกัณฑ์ แสดงไว้ละเอียดชัดเจนดีมาก ครับ ถ้าได้ศึกษาพระอภิธรรมแล้ว จะแยกแยะระหว่างสติ และ สัญญา ได้อย่างชัดเจน ครับ เพราะสัญญาเป็นอัญญสมานเจตสิก เกิดขึ้นได้ทั้งกุศล อกุศล และอัพยากตจิต ส่วนสติเจตสิก เป็นโสภณเจตสิก เกิดได้เฉพาะกุศลจิตเท่านั้น ดังนั้น อาการที่ระลึกได้ ต้องเกิดกับกุศลจิตเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีธรรมะที่คล้ายกับสติ อีกเช่น กุกกุจจจะ ความเดือดร้อนใจในกุศลที่ยังไม่ได้ทำ และอกุศลที่ตนทำแล้ว

ถามว่า แม้ในเวลาที่เกิดอกุศลจิต เช่น โลภมูลจิต เป็นต้น บุคคลก็ย่อมมีความรู้สึกตัวอยู่มิใช่ หรือถ้าเช่นนั้น สติ ควรเกิดได้แม้กับอกุศลจิต

ตอบว่า การรู้สึกนั้นไม่ใชสติ แต่เป็นกลุ่มธรรมที่มีโลภะ เป็นต้น เป็นประธานเพราะสติ เมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ่นในเวลาที่ตนไม่ลุ่มหลง กล่าวคือ ย่อมระลึกรู้ว่าสภาพธรรมที่เกิดขึ้น แก่เรานี้เป็นความโลภ เวลานั้น ชื่อว่า กุศลจิต อันมีสตินั่นเองเป็นประธาน

แต่ธรรมชาติของจิต เกิดดับรวดเร็ว ทำให้บคคลมีความสำคัญว่า มีความระลึกได้ แม้ในขณะที่ตนเกิดอกุศลจิต

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
สามารถ
วันที่ 5 ม.ค. 2550

ขอตอบ คุณ"เรียนถาม" ในความเห็นที่ 4 ครับ

ตัวอย่าง 1 นายแดง กับ นายดำ เคยรู้จักกันดี แล้วแยกย้ายกันไป ต่อมาอีกสิบปี นายแดงพบนายดำ อีก จำได้ว่าผู้ที่ตนพบนั้นคือนายดำ แล้วระลึกนึกได้ต่อไปอีกว่าตนกับนายดำเคยไปเที่ยวด้วยกันที่นั่นๆ ได้ทำสิ่งนั้นๆ ฯลฯการจำได้เมื่อพบนั้นเป็น สัญญา "การนึกได้ต่อไป ถึงเรื่องราวที่ล่วงแล้วเป็น สติ " <--ข้อนี้ต้องพิจารณา ครับ ว่าเป็นไปใน กุศลหรือไม่ คือต้องเป็นไปใน การงดเว้น เช่น ระลึกได้ว่า ในสมัยนั้นเราได้งดเว้นการใช้ถ้อยคำหยาบคายเมื่อได้คุยกัน เป็นต้น หรือเป็นไปใน การให้ เช่น ระลึกได้ว่า ในสมัยนั้น นาย ดำ ได้ให้ความสะดวกสบายแก่เรา เป็นต้น หรือเป็นไปใน การเจริญภาวนา เช่น ระลึกได้ว่า แม้เรื่องราวก็ดี เสียงก็ดี ในสมัยนั้นจะไม่มีแล้ว แต่ตอนนี้ยังเหมือนมีอยู่ ก็ด้วย ความจำเป็นสิ่งที่มีจริง ความคิดเป็นสิ่งที่มีจริง จึงทำให้ตอนนี้ยังเหมือนมีอยู่ เป็นต้น ถ้านอกเหนือจากการคิดไปใน ศีล (การงดเว้น) ทาน (การให้) และภาวนา (การทำให้เจริญขึ้น) แล้วจิตนั้นไม่ประกอบด้วย สติ (คือเป็นโมหะแน่นอน) ในหนังสือที่อ้างอิง ท่านมุ่งหมายถึง การนึกด้วยกุศลจิต ครับจึงใช้คำว่า "สติ"

ตัวอย่าง 2 วันหนึ่ง นาย ก ได้พบปะสนทนากับนาย ข ต่อมาอีกหนึ่งเดือน นาย ก ถูกเพื่อนถามว่า เมื่อเดือนที่แล้ว วันที่เท่านั้นๆ นาย ก ได้พบปะสนทนากับใคร นาย ก นึกทบทวนดูก็จำได้ว่าพบปะสนทนากับ นาย ข "การจำได้ในกรณีนี้เป็น สติ " (เหมือนกันครับ ท่านมุ่งหมายถึง การนึกด้วยกุศลจิต ครับจึงใช้คำว่า "สติ")

ตัวอย่าง 3 เครื่องโทรศัพท์ตั้งอยู่มุมห้องข้างหนึ่ง สมุดหมายเลขโทรศัพท์อยู่อีกมุมห้องด้านหนึ่ง นาย เขียว เปิดสมุดหาเลขหมายโทรศัพท์ที่ตนต้องการ พบแล้วอ่านและกำหนดหมายเลขเอาไว้ แล้วเดินไปหมุนหมายเลข ที่เครื่องโทรศัพท์ตามต้องการระหว่างเดินไปก็นึกถึงหมายเลขนั้นไว้ตลอด การอ่านและกำหนดหมายเลขที่ สมุดโทรศัพท์เป็น สัญญา การนึกหมายเลขนั้นตั้งแต่ละจากสมุดโทรศัพท์ไปเป็น สติ (เหมือนกันครับ ถ้าจะพิจารณาดีๆ "การนึกหมายเลขนั้นตั้งแต่ละจากสมุดโทรศัพท์ไป"ประโยคนี้ นึกถึงหมายเลขตลอดการเดินไปหาโทรศัพท์จริงๆ หรือเปล่า หรือว่ามีการสลับกับความคิดที่ว่า"ต้องรีบไปโทรบอกเขาแล้ว หละ เดี๋ยวเขาจะขึ้นรถไม่ทัน" กันแน่ครับ ถ้านึกถึงตัวเลขล้วนๆ ก็ต้องเป็นโมหะ แต่ถ้ามีการคิดไปในกุศลก็มีสติร่วมด้วย แน่นอน โดยปริยาย (คือมีลักษณะที่เหมือนเห็นอยู่ตรงหน้าปรากฎด้วย (แล้วเห็นอะไรอยู่ตรงหน้าเหรอ ก็เห็นความดีไงครับ เห็นเหตุของการกระทำของเรา เห็นผลของการกระทำของเรา เห็นอยู่ตรงหน้าเลย ลักษณะที่เหมือนเห็นอยู่ตรงหน้า นี้เรียกสติ กุศลก็เลยมีสติร่วมด้วย โดยปริยาย) แต่ ถ้าไม่เป็นกุศล ก็เป็นโมหะโดยปริยายเหมือนกัน คือ มีความหลงผิดเป็นอาการปรากฎ เช่น เห็นเป็นตัวเลข ซึ่งตัวเลขเป็นลิ่งที่ไม่มีจริง มีแต่สี การเห็น (จักขุวิญญาณ) ความคิด ความจำ ความตรึก ความไต่สวนเป็นต้น ครับ)

การเดินข้ามถนนรถไม่ชน ถือชามแกงไม่หก (นี่ก็เหมือนกันครับ) (เว้นแต่ถ้าขณะนั้นสติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้รูป-นาม)

ขอให้ท่านเจริญในธรรมนะครับ ความเข้าใจหนีไม่พ้น การพิจารณา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
spob
วันที่ 5 ม.ค. 2550

อนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
เรียนถาม
วันที่ 6 ม.ค. 2550

ขอบพระคุณทุกๆ ท่าน

ที่ให้ธรรมะเป็นทานครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
chatchai.k
วันที่ 27 พ.ย. 2563

เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างละเอียด

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ