ปฐมอุคคสูตร - อุคคคฤหบดี - ๐๖ ม.ค. ๒๕๕๐

 
บ้านธัมมะ
วันที่  4 ม.ค. 2550
หมายเลข  2588
อ่าน  1,631

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••

ทุกวันเสาร์ ...

ขอเชิญร่วมรายการ

สนทนาธรรมที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๖ มค ๒๕๕๐

เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น.

ปฐมอุคคสูตร

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 420

นำการสนทนาโดย..

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

ขอเชิญท่านอ่านพระสูตรนี้ได้ในกรอบต่อไป ครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 ม.ค. 2550

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 420

คหปติวรรคที่ ๓

๑. ปฐมอุคคสูตร

[๑๑๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้กรุงเวสาลี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย ทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทรงจำอุคคคฤหบดีชาวเมืองเวสาลีว่า เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๘ ประการ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคต ครั้นได้ตรัสพระดำรัสนี้แล้ว เสด็จ ลุกจากอาสนะเข้าไปสู่พระวิหาร.

ครั้งนั้น เวลาเช้า ภิกษุรูปหนึ่ง นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปสู่นิเวศน์ของอุคคคฤหบดีชาวเมืองเวสาลี ครั้นแล้วจึงนั่ง บนอาสนะที่เขาปูไว้ ลำดับนั้น อุคคคฤหบดีชาวเมืองเวสาลีได้ เข้าไปหาภิกษุนั้น ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ภิกษุนั้นได้กล่าวกะอุคคคฤหบดีชาวเมืองเวสาลีว่า ดูก่อนคฤหบดี พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ท่านว่า เป็นผู้ประกอบด้วยธรรม ที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมา ๘ ประการ ดูก่อนคฤหบดี ธรรม ที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๘ ประการ เป็นไฉน

อุคคคฤหบดีกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมก็ไม่ทราบ เลยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์กระผม ว่าเป็นผู้ประกอบ ด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๘ ประการ เป็นไฉน แต่ขอท่านได้โปรดฟังธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๘ ประการ ของกระผมที่มีอยู่ จงใส่ใจให้ดี กระผมจักเรียนถวาย ภิกษุนั้น รับคำอุคคคฤหบดีชาวเมืองเวสาลีแล้ว อุคคคฤหบดีชาวเมืองเวสาลี ได้กล่าวว่า

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ในคราวที่กระผมได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแต่ไกลเป็นครั้งแรก พร้อมกับการเห็นนั้นเอง จิตของ กระผมเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า นี้แลเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมา ประการที่ ๑ ของกระผมที่มีอยู่.

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมมีจิตเลื่อมใสแล้ว ได้เข้าไปนั่งใกล้ พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถา โปรดกระผม คือ ทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษของกามอันต่ำทรามเศร้าหมอง และอานิสงส์ในเนกขัมมะ ในคราวที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทราบกระผมว่า มีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ บันเทิง ผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศสามุกังสิกาธรรมเทศนาแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เปรียบเหมือนผ้าที่บริสุทธิ์ ไม่หมองดำ จะพึงรับน้ำย้อมได้ดี แม้ฉันใด ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแล้ว แก่กระผม ณ ที่นั่งนั้นแลว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งซึ้งถึงธรรมแล้ว ข้ามพ้นความสงสัยได้แล้ว ปราศจากความเคลือบแคลงแล้ว ถึงความแกล้วกล้าแล้ว ไม่ต้อง เชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะแล้ว และสมาทานสิกขาบทอันมีพรหมจรรย์ เป็นที่ ๕ แล้ว ณ ที่นั่งนั้น นี้แลเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ข้อที่ ๒ ของกระผมที่มีอยู่.

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมมีปชาบดีรุ่นสาวอยู่ ๔ คน กระผม ได้เข้าไปหาปชาบดีเหล่านั้นแล้ว ได้กล่าวกะเธอเหล่านั้นว่า ดูก่อน น้องหญิงทั้งหลาย ฉันสมาทานสิกขาบทอันพรหมจรรย์เป็นที่ ๕ ผู้ใดปรารถนา นั้นจงใช้โภคะเหล่านี้และทำบุญได้ หรือจะกลับไป สู่ตระกูลญาติของตัวก็ได้ หรือประสงค์ชายอื่น ฉันก็จะมอบให้แก่เขา เมื่อกระผมกล่าวอย่างนี้แล้ว ปชาบดีคนแรกได้พูดกะกระผมว่า ขอท่านได้กรุณามอบดิฉันให้แก่ชายชื่อนี้เจ้าค่ะ กระผมก็ให้เชิญ ชายผู้นั้นมา เอามือซ้ายจับปชาบดี มือขวาจับเต้าน้ำ หลั่งน้ำ มอบให้ชายคนนั้น ก็เมื่อบริจาคปชาบดีสาวเป็นทาน กระผมไม่รูสึก ว่าจิตแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเลย นี้แลเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมา ข้อที่ ๓ ของกระผมที่มีอยู่.

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ในตระกูลของกระผมมีโภคทรัพย์อยู่มาก และ ทรัพย์เหล่านั้นกระผมแจกจ่ายทั่วไปถึงผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม นี้แลเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ข้อที่ ๔ ของกระผมที่มีอยู่

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมเข้าไปหาภิกษุรูปใด กระผมก็ เข้าไปหาด้วยความเคารพทีเดียว ไม่ใช่เข้าไปหาด้วยความไม่เคารพ นี้แลเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ข้อที่ ๕ ของกระผมที่มีอยู่

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ หากท่านผู้มีอายุนั้นแสดงธรรมแก่กระผม กระผมก็ฟังโดยความเคารพแท้ๆ ไม่ใช่ฟังโดยความไม่เคารพ หากท่านผู้มีอายุนั้นไม่แสดงธรรมแก่กระผม กระผมก็แสดงธรรม แก่ท่านนั้น นี้แลเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ข้อที่ ๖ ของกระผมที่มีอยู่

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ไม่น่าอัศจรรย์ที่เทวดาฟังหลายเข้าไปหากระผม แล้วบอกว่า ดูก่อนคฤหบดี ธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสดีแล้ว เมื่อเทวดาทั้งหลายกล่าวอย่างนี้แล้ว กระผมจึงพูดกะ เทวดาเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายพึงบอกอย่างนี้หรือไม่พึงบอก อย่างนี้ก็ตาม แท้ที่จริง ธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว แต่กระผมก็ไม่รู้สึกเลยว่า ความฟูใจจะมีมาแต่เหตุนั้น ข้อที่เทวดา ทั้งหลายมาหากระผม หรือกระผมได้ปราศรัยกับเทวดาทั้งหลาย นี้ เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ข้อที่ ๗ ของกระผมที่มีอยู่

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมไม่พิจารณาเห็นสังโยชน์ไรๆ ในโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วนั้นว่า ยังละไม่ได้ในตน นี้แลเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ข้อที่ ๘ ของกระผมที่มีอยู่

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคย มีมา ๘ ประการ ของกระผมที่ที่มีอยู่นี้แล กระผมก็ไม่รู้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์กระผมว่า เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่า อัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๘ ประการเป็นไฉน.

ลำดับนั้น ภิกษุนั้นรับบิณฑบาตในนิเวศน์ของอุคคคฤหบดี ชาวเมืองเวสาลีแล้ว ลุกจากที่นั่งหลีกไป ภายหลังภัต กลับจากบิณฑบาตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวาย บังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูล คำสนทนาปราศรัยกับอุคคคฤหบดีชาวเมืองเวสาลีทั้งหมดแด่ พระผู้มีพระภาคเจ้า

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ถูกแล้วๆ อุคคคฤหบดี ชาวเมืองเวสาลี เมื่อจะพยากรณ์ พึงพยากรณ์ตามนั้นโดยชอบ ดูก่อนภิกษุ เราพยากรณ์อุคคคฤหบดีว่า เป็นผู้ประกอบด้วยธรรม ที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๘ ประการนี้ และเธอทั้งหลายจง ทรงจำอุคคคฤหบดีชาวเมืองเวสาลีว่า เป็นผู้ประกอบด้วยธรรม ที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๘ ประการนี้

จบ ปฐมอุคคสูตรที่ ๑

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 ม.ค. 2550

คหหดีวรรคที่ ๓

อรรถกถาปฐมอุคคสูตรที่ ๑

วรรคที่ ๓

ปฐมอุคคสูตรที่ ๑

มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า ปญฺตฺเต เอสเน นีสีทิ ความว่า ได้ยินว่า ในเรือน ของอุคคะคฤหบดีนั้น เขาตกแต่งอาสนะ ๕๐๐ ที่ ไว้สำหรับภิกษุ ๕๐๐ รูป เป็นประจำทีเดียว ภิกษุนั่งเหนืออาสนะเหล่านั้น อาสนะหนึ่ง

บทว่า เต สุณาหิ ความว่า ท่านจงฟังธรรมเหล่านั้น หรือว่า จงฟังธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๘ ประการนั้น.

บทว่า จิตฺต ปสีทติ ความว่า แม้เพียงความตรึกว่าท่านเป็นพระพุทธเจ้า หรือไม่หนอ ดังนี้ ก็ไม่เกิดขึ้น จิตตุปบาท ว่าผู้นี้แหละเป็นพระพุทธเจ้า เป็นอาการผ่องใส ไม่ขุ่นมัว.

บทว่า สกานิ วา ญาติกุลานิ ความว่า จงถือเอาทรัพย์พอยังอัตภาพ ให้เป็นไปสำหรับตนแล้วไปเรือน ของพวกญาติ.

บทว่า กสฺส โว ทมฺมิ ความว่า เราจะยกท่าน ทั้งหลายให้แก่บุรุษคนไหน พวกท่านจงบอกความประสงค์ของตนๆ แก่เรา.

บทว่า อปฺปฏิวิภตฺตา ความว่า ก็ขึ้นชื่อว่าคนผู้เกิดจิตคิดว่า เราจักให้เท่านี้ จักไม่ให้เท่านี้ จักให้สิ่งนี้ จักไม่ให้สิ่งนี้ ดังนี้ แล้วแจกจ่ายไป ย่อมมี แต่สำหรับข้าพเจ้าย่อมไม่เป็นอย่างนั้น. โดยที่แม้แล โภคทรัพย์เหล่านั้น เป็นของสาธารณะกับผู้มีศีลทั้งหลาย ดุจของสงฆ์และดุจของหมู่คณะ

บทว่า สกฺกจฺจเยว ปยิรุปาสามิ ความว่า ข้าพเจ้าอุปฐากด้วยมือของตนคือเข้าไปหาด้วยอาการ ยำเกรง.

ด้วยคำว่า อนจฺฉริย โข ปน ม ภนฺเต นี้ คฤหบดีกล่าว่า ท่านผู้เจริญ ข้อที่เทวดาเข้าไปหาข้าพเจ้าแล้วบอกอย่างนั้น นั่น ไม่น่าอัศจรรย์ แต่ข้อที่ข้าพเจ้าไม่รู้สึกภูมิใจ อันมีการที่เทวดา เข้าไปบอกเรื่องนั้นเป็นเหตุ นั้นน่าอัศจรรย์

ในคำว่า สาธุ สาธุ ภิกฺขุ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุก็จริง แต่ถึงกระนั้น พึงทราบว่า นี้เป็นการประทานสาธุการในความร่าเริงอันเกิดจากความขวนขวาย ของอุบาสกเท่านั้น

จบ อรรถกถาปฐมอุคคสูตรที่ ๑

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 4 ม.ค. 2550

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 4 ม.ค. 2550

ขออนุญาติ แสดงประวัติของท่าน อุคคฤหบดี ชาวเมืองเวสาลี ท่านเป็นอุบาสกผู้เลิศกว่าพวกอุบาสก ผู้ถวายโภชนะที่ชื่นชอบใจ ลองอ่านดูนะครับ

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 71

๖. ประวัติอุคคคฤบดีชาวเมืองเวสาลี

ในสูตรที่ ๖ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

ด้วยบทว่า มนาปทายกาน ท่านแสดงว่า อุคคคฤหบดี ชาวกรุงเวสาลี เป็นเลิศกว่าพวกอุบาสกผู้ถวายโภชนะที่ชื่นชอบใจ. ดังได้สดับมา อุคคคฤหบดีนั้น ครั้นพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ บังเกิดในเรือนสกุล กรุงหังสวดี กำลังฟังธรรมกถาของ พระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาอุบาสกผู้หนึ่งไว้ในตำแหน่ง เอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสกผู้ถวายโภชนะที่ชื่นชอบใจ ทำกุศลให้ ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น. ท่านเวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ ถึงแสนกัป ในพุทธุปบาทกาลนี้บังเกิดในสกุลเศรษฐี เมืองเวสาลี. เวลาท่านเกิดมีซึ่งไม่แน่นอน แต่ต่อมา ร่างกายของท่านสูงขึ้น สง่างาม เหมือนเสาระเนียดที่ตกแต่งแล้ว เหมือนแผ่นผ้าที่วิจิตรด้วยลวดลายที่เขา ยกขึ้น ทั้งคุณทั้งหลายของท่านก็ฟุ้งขจรไป ท่านจึงชื่อว่า อุคคเศรษฐี เพราะเรือนร่างและคุณทั้งสองนี้ฟุ้งขจรไป ก็ท่านอุคคคฤหบดีนี้นั้น ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ด้วยการเฝ้าพระทศพลครั้งแรกเท่านั้น ต่อมา ก็กระทำให้แจ้งมรรคและผล ๓ เวลาที่ตัวแก่เฒ่า ท่านไปในที่ลับนั่งคิดว่า สิ่งใดๆ เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของเรา เราจักถวายสิ่งนั้นๆ นั่นแหละ แด่พระทศพล เราได้ฟังคำนี้ในที่เฉพาะพระพักตร์พระศาสดาว่า บุคคล ผู้ถวายของที่ชอบใจ ย่อมได้ของที่ชอบใจ ดังนี้

ครั้งนั้น ท่านดำริ อย่างนี้ว่า พระศาสดาทรงทราบจิตใจของเราบ้างหรือหนอ พึงเสด็จมายัง ประตูนิเวศน์ แม้พระศาสดาก็ทรงทราบจิตใจของท่าน มีภิกษุสงฆ์ แวดล้อมเสด็จมาปรากฏ ณ ประตูนิเวศน์ทันที ท่านทราบว่าพระศาสดา เสด็จมาแล้ว ก็ขะมักเขม้นอย่างเหลือเกิน เดินไปสู่สำนักพระทศพล กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้วรับบาตรของพระศาสดา อาราธนาให้ เสด็จเข้าไปยังเรือนแล้ว ให้พระศาสดาประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์อันดี ที่จัดไว้แล้ว ให้ภิกษุสงฆ์นั่งเหนืออาสนะที่เหลือ แล้วเลี้ยงดูภิกษุสงฆ์มี พระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยอาหารรสเลิศต่างๆ

ครั้นเสร็จภัตกิจ นั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง กราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์ ชื่อว่ารับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า บุคคลผู้ถวายของที่ชอบใจ ย่อมได้ของที่ชอบใจ ดังนี้ ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ สิ่งใดๆ ที่ชอบใจของข้าพระองค์ สิ่งนั้นๆ ข้าพระองค์ถวายแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข. ทำพระศาสดาให้ทรง ทราบแล้ว นับตั้งแต่นั้นไป ก็ถวายสิ่งที่ชอบใจเขา แก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข. ก็เรื่องนั้นทั้งหมดจักมาในอุคคสูตร ปัญจกนิบาตแล เรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างนี้ ต่อมาภายหลังพระศาสดาประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร จึงทรงสถาปนาอุบาสกผู้นั้นไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศ กว่าพวกอุบาสก ผู้ถวายโภชนะที่ชื่นชอบใจ แล.

จบอรรถกถาสูตรที่ ๖

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 ม.ค. 2550

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pla
วันที่ 8 ม.ค. 2550

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านนะคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 13 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
สิริพรรณ
วันที่ 20 มี.ค. 2566

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณในกุศลเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ