สงสัยเรื่องของพระโปฐิละ (พระใบลานเปล่า)

 
ponchario
วันที่  8 ธ.ค. 2557
หมายเลข  25882
อ่าน  8,919

ขอเรียนถามปัญหาดังนี้ครับ เท่าที่ฟังบรรยายของอ.สุจินต์ มาพอสมควร พอเข้าใจระดับหนึ่งว่า การฟังธรรมบ่อยๆ และพิจารณาจนเข้าใจ จะเป็นสังขารขันธ์ หรือเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้สติเกิด โดยไม่ต้องไปทำอะไรเพื่อให้สติเกิดด้วยวิธีการอื่น แต่พอนึกถึงพระสูตรเรื่องราวเกี่ยวกับพระโปฐิละ ซึ่งเป็นผู้ทรงพระไตรปิฏก (ซึ่งก็หมายความว่า ต้องเป็นพหูสูตร คือ ต้องได้ฟังมามาก และจำได้มากด้วย) แต่พระผู้มีพระภาคก็เรียกท่านว่า ท่านใบลานเปล่า และตามเนื้อความในพระสูตร พระโปฐิละก็คิดในใจว่า “เราย่อมทรงไว้ ซึ่งพระไตรปิฏกพร้อมทั้งอรรถกถา, บอกธรรมแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ถึง ๑๘ คณะใหญ่ ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น พระศาสดายังตรัสเรียกเราเนืองๆ ว่า “คุณใบลานเปล่า” พระศาสดาตรัสเรียกเราอย่างนี้ เพราะความไม่มีคุณวิเศษ มีฌานเป็นต้นแน่แท้.” ท่านมีความสังเวชเกิดขึ้นแล้ว จึงคิดว่า “บัดนี้ เราจักเข้าไปสู่ป่าแล้วทำสมณธรรม” ฯลฯ

คำถามคือ

1. ทำไม ความรู้จากการฟัง และ การจำได้ของท่าน ไม่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สติของท่านเกิด หรือ สติปัฎฐานเจริญ จนบรรลุมรรคผลได้ จนต้องมาอาศัยสามเณร (ซึ่งเป็นพระอรหันต์) สอนการปฏิบัติให้อีก (ราวกับว่า ภาคปริยัติและภาคปฏิบัติแยกจากกันคนละส่วนไม่เกื้อกูลกัน)

2. ทำไมท่านโปฐิละ จึงคิดว่า เพราะท่านไม่ได้ฌาน พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกท่านว่า ท่านใบลานเปล่า ราวกับว่า ฌาน เป็นส่วนสำคัญในการบรรลุมรรคผล

3. ทำไมท่านโปฐิละจึงคิดว่า ท่านควรเข้าไปสู่ป่าแล้วทำสมณธรรม การเจริญสติปัฏฐานของท่านปกติในชีวิตประจำวัน ไม่เพียงพอหรอกหรือ และในข้อปฏิบัติที่สามเณรแนะแก่พระโปฏิละก็กล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ ในจอมปลวกแห่งหนึ่ง มีช่องอยู่ ๖ ช่อง ในช่องเหล่านั้น เหี้ยเข้าไปภายในโดยช่องๆ หนึ่ง บุคคลประสงค์จะจับมัน จึงอุดช่องทั้ง ๕ นอกนี้ ทำลายช่องที่ ๖ แล้ว จึงจับเอาโดยช่องที่มันเข้าไปนั่นเอง บรรดาทวารทั้งหก แม้ท่านจงปิดทวารทั้ง ๕ อย่างนั้นแล้ว จงเริ่มตั้งกรรม * นี้ไว้ในมโนทวาร” ด้วยนัยมีประมาณเท่านี้ ความแจ่มแจ้งได้มีแก่ภิกษุผู้เป็นพหูสูตร ดุจการลุกโพลงขึ้นแห่งดวงประทีป ฉะนั้น อยากเรียนสอบถามว่า

4. คำแนะนำดังกล่าว มีนัยสอดคล้องกับ การเจริญสติปัฏฐาน ที่อ.สุจินต์บรรยาย อย่างไร

ขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 8 ธ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. ทำไม ความรู้จากการฟัง และ การจำได้ของท่าน ไม่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สติของท่านเกิด หรือ สติปัฎฐานเจริญ จนบรรลุมรรคผลได้ จนต้องมาอาศัยสามเณร (ซึ่งเป็นพระอรหันต์) สอนการปฏิบัติให้อีก (ราวกับว่า ภาคปริยัติและภาคปฏิบัติแยกจากกันคนละส่วน ไม่เกื้อกูลกัน)

@ ธรรมอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น แม้แต่การปฏิบัติที่เป็นสติระลึกรู้ลักษณะจนถึงการดับกิเลสที่เป็นวิปัสสนา ก็ต้องอาศัยกาลเวลาตามสมควร หากปัจจัยไม่พร้อม สติก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้น ปริยัติย่อมเกื้อกูล แต่เหตุยังไม่พร้อม ต่อเมื่อได้รับคำที่เตือนถึงการปฏิบัติที่เป็นเรื่องสภาพธรรม ก็ทำให้บรรลุ ก็อาศัยปริยัติที่เรียนมา เกื้อกูลด้วยนั่นเองครับ

2. ทำไมท่านโปฐิละ จึงคิดว่าเพราะท่านไม่ได้ฌาน พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกท่านว่าท่านใบลานเปล่า ราวกับว่า ฌาน เป็นส่วนสำคัญในการบรรลุมรรคผล

@ การบรรลุคุณ มี ฌาน กับ วิปัสสนา ฌานเป็นเครื่องอยู่อันผาสุข และฌานไม่ได้หมายถึงเฉพาะ สมถภาวนา เท่านั้น ฌานที่เป็น อารัมณูปณิชฌาน ที่เป็นวิปัสสนาก็มี ครับ

3. ทำไมท่านโปฐิละจึงคิดว่า ท่านควรเข้าไปสู่ป่าแล้วทำสมณธรรม การเจริญสติปัฏฐานของท่านปกติในชีวิตประจำวัน ไม่เพียงพอหรอกหรือ

@ เพราะอัธยาศัยในการบรรลุน้อมไปที่จะทำให้ท่านคิดอย่างนั้นและทำให้ท่านหลีกเร้น ซึ่งก็แล้วแต่ว่าใครจะไปหรือไม่ไป ไปแล้วไม่บรรลุก็มี หรือไม่ไปแล้วบรรลุก็มี ตามเหตุปัจจัยครับ แต่สำคัญ ต้องมีความเข้าใจขั้นการฟังในเรื่องสภาพธรรม สติปัฏฐานเป็นสำคัญเสมอ

4. และในข้อปฏิบัติที่สามเณรแนะแก่พระโปฏิละก็กล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ ในจอมปลวกแห่งหนึ่ง มีช่องอยู่ ๖ ช่อง, ในช่องเหล่านั้น เหี้ยเข้าไปภายในโดยช่องๆ หนึ่ง บุคคลประสงค์จะจับมัน จึงอุดช่องทั้ง ๕ นอกนี้ ทำลายช่องที่ ๖ แล้วจึงจับเอาโดยช่องที่มันเข้าไปนั่นเอง; บรรดาทวารทั้งหก แม้ท่านจงปิดทวารทั้ง ๕ อย่างนั้นแล้ว จงเริ่มตั้งกรรม * นี้ไว้ในมโนทวาร” ด้วยนัยมีประมาณเท่านี้ ความแจ่มแจ้งได้มีแก่ภิกษุผู้เป็นพหูสูตร ดุจการลุกโพลงขึ้นแห่งดวงประทีปฉะนั้น อยากเรียนสอบถามว่า

คำแนะนำดังกล่าว มีนัยสอดคล้องกับ การเจริญสติปัฏฐาน ที่อ.สุจินต์บรรยาย อย่างไร

@ สำหรับพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงมีความละเอียดลึกซึ้ง สำหรับในเรื่องของพระโปฐิละนั้น สามเณรได้สอนธรรมในเรื่องการเจริญอบรมปัญญาไว้ครับว่า หนทางการดับกิเลส ไม่ใช่ด้วยการเจริญสมาธิ หรือ สมถภาวนา ซึ่งในพระธรรมหมวดอื่นก็แสดงไว้ ครับ คือ การเจริญวิปัสสนา หรือ การเจริญสติปัฏฐาน เท่านั้นที่เป็นหนทางดับกิเลสได้ ครับ ซึ่งสำหรับข้อความในพระสูตรนี้ที่แสดงไว้ครับว่า ให้ปิดทวารทั้ง ๕ เสีย จงเริ่มตั้งกรรมนี้ไว้ในมโนทวาร ซึ่งทวารมีทั้งหมด ๖ ทวาร คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ซึ่งพระธรรมที่แสดงหมวดนี้ แสดงโดยนัยการอบรมปัญญาขั้นสูงที่เป็นการเจริญวิปัสสนาที่ถึงวิปัสสนาญาณครับ แต่ก่อนที่จะวิปัสสนาญาณ ก็ต้องมีการอบรมสติปัฏฐาน ระลึกลักษณะของสภาพธรรมทั้ง ๖ ทวารก่อน คือ รู้ทั่วในสภาพธรรม ทั้งทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ หากรู้ไม่ทั่วแล้วว่าสภาพธรรมทั้ง 6 ทวาร ไม่ใช่เราเป็นแต่เพียงธรรม ก็ไม่สามารถละความยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคลได้เลยครับ

ดังนั้น ต้องเริ่มจากความเข้าใจขั้นการฟังเบื้องต้น และก็จนถึงสติปัฏฐานเกิดระลึกทั่วทั้ง ๖ ทวาร เมื่อระลึกทั่วทั้ง ๖ ทวาร ปัญญามีกำลัง ก็ถึงระดับวิปัสสนาญาณ แทงตลอดสภาพธรรม ซึ่งวิปัสสนาญาณ คือ ปัญญาขั้นสูงที่ประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมที่แยกนามธรรมและรูปธรรมเด็ดขาด รวมทั้งเห็นความไม่เที่ยง และปัญญาระดับสูงในวิปัสสนาญาณ ๑๖ ขั้นนั้น จะเกิดทางปัญจทวารหรือทวารทั้ง ๕ ไม่ได้ แต่ต้องเกิดทางมโนทวารเท่านั้น เพราะฉะนั้น จากพระธรรมที่สามเณรสอนท่านพระโปฐิละ จึงแสดงให้ท่านพระโปฐิละประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมโดยการแทงตลอดด้วยปัญญาระดับสูง (วิปัสสนาญาณ) ว่าจะต้องรู้ทางใจ ไม่ใช่รู้ทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย จึงมีข้อความที่ว่า จงปิดทวารทั้ง 5 และเจริญ กรรมทางมโนทวาร ซึ่งคำว่า กรรม หมายถึง การเจริญวิปัสสนาที่เป็นระดับวิปัสสนาญาณทางมโนทวารนั่นเอง ครับ

ดังนั้น หากอ่านไม่ละเอียดก็จะพยายามหลับตา พยายามไม่ได้ยิน พยายามดูจิตเท่านั้น นั่นก็เท่ากับเป็นการไม่รู้ทั่วในสภาพธรรม และที่สำคัญ เป็นตัวตน ที่เป็นโลภะ ที่ต้องการจะทำ คือ ปิดทวาร ๕ ซึ่งไม่มีใครที่จะปิด บังคับได้ แต่ปัญญาจะทำหน้าที่เอง คือเมื่อวิปัสสนาญาณเกิด ก็จะไม่รู้ทางทวาร ๕ คือ ปิดทวาร ๕ เอง และวิปัสสนาญาณเกิดทางมโนทวาร นั่นคือรู้ทางใจด้วยปัญญาระดับสูง แต่กว่าจะถึงตรงนั้น จะต้องอบรมปัญญาขั้นต้นด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่นั่งสมาธิ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่รู้ทั่วทั้ง ๖ ทวารมาก่อนแล้วครับ ดังนั้นโดยนัยนี้ จึงแสดงระดับปัญญาที่สูงมากที่เป็นวิปัสสนาญาณที่รู้ทางมโนทวารเท่านั้น ซึ่งการจะถึงตรงนั้นได้ ไม่ใช่ด้วยการนั่งสมาธิ แต่ด้วยการอบรมวิปัสสนาที่เริ่มจากการฟังพระธรรมให้เข้าใจครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 8 ธ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระโปฐิละ ท่านเป็นผู้เรียนมาก ศึกษามาก ซึ่งรู้ชื่อเรื่องราวต่างๆ ของคำสอน แต่ยังไม่บรรลุมรรคผล เพราะไม่ได้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ได้น้อมไปเพื่อระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรียกท่านว่าเป็นผู้มีใบลานเปล่า เป็นการเตือนให้สำนึกตนเอง ภายหลังท่านเกิดความละอาย มีการปรารภความเพียรอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ ซึ่งเมื่อได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลแล้ว ย่อมไม่ได้ชื่อว่า ใบลานเปล่า อีกต่อไป

การที่ท่านพระโปฐิละได้บรรลุธรรม หรือใครก็ตามที่ได้บรรลุธรรม ล้วนมีเหตุคือ ได้เป็นผู้อบรมเจริญปัญญา แม้ว่าก่อนที่จะได้บรรลุ จะมีความประพฤติเป็นไปต่างๆ ตามอำนาจของกิเลส แต่เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ได้รับการเตือน คือ พระธรรม ย่อมรู้ตัวเองตามความเป็นจริง และสามารถบรรลุผลอันสูงสุด คือ การดับกิเลสได้

ถ้าเป็นผู้มีความจริงใจในการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ ย่อมจะเป็นรากฐานสำคัญในการเกื้อกูลให้ความเข้าใจถูกเห็นถูกเจริญยิ่งขึ้นจนถึงความบริบูรณ์ได้ในที่สุด

-เป็นการตรัสเรียกรวมถึงคุณวิเศษ เพราะคุณวิเศษไม่ได้มีเพียง ฌาน เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการบรรลุ มรรค ผล นิพพาน ด้วย

-แต่ละบุคคลก็เป็นแต่ละหนึ่ง ไม่ใช่ว่าทุกคนจะไปสู่ป่า จะให้ท่านพระโปฐิละไปเหมือนกับคนอื่นไม่ได้ เพราะเป็นแต่ละหนึ่งจริงๆ แต่สำคัญที่ว่ามีความเข้าใจถูกเห็นถูกหรือไม่เพราะเหตุว่าจะอยู่ที่ไหน ปัญญาก็สามารถเข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้

-การรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงต้องเริ่มที่การฟังพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ และที่สำคัญ การรู้สภาพธรรม ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ต้องรู้ทีละอย่าง ทีละทาง ไม่สามารถรู้พร้อมๆ กันได้หลายอารมณ์หรือหลายทางได้ การที่จะรู้สภาพธรรมโดยทั่วนั้นจึงไ่ม่ใช่เพียงทวารหนึ่งทวารใด ต้องรู้ทั่วทั้ง ๖ ทวาร เพราะถ้ารู้เพียงทวารหนึ่งทวารใด ก็ยังไม่รู้ในทวารอื่น ยังมีความสงสัยในทวารอื่น จึงไม่ชื่อว่ารู้ทั่ว การที่วิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ จะเกิดขึ้นซึ่งเป็นการประจักษ์แจ้งทางมโนทวารซึ่งเป็นทวารที่ ๖ ได้นั้น เป็นผลมาจากการอบรมเจริญสติปัฏฐานระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ทั้งหมดเป็นธรรมที่มีจริงที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

-สิ่งที่มีจริงในขณะนี้นั่นเองที่จะเป็นที่ตั้งให้สติเกิดขึ้นระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และปัญญารู้ตามความเป็นจริง (สติปัฏฐาน) เป็นไปตามเหตุตามปัจจัpจริงๆ ไม่ใช่เรื่องหวัง ไม่ใช่เรื่องต้องการ ไม่ใช่เรื่องของความจดจ้อง ไม่ใช่เรื่องของการไปกระทำอะไรด้วยความเป็นตัวตน ด้วยความเห็นผิดและด้วยความไม่รู้ แต่เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาไปตามลำดับ

เรื่องเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องของปัญญา ที่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง สติเกิดขึ้นระลึกและปัญญารู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยการฟังในสิ่งที่มีจริงเนืองๆ บ่อยๆ พิจารณาเหตุ ผล แล้วก็เจริญเหตุให้สมควรแก่ผลด้วย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 8 ธ.ค. 2557

ความรู้ความทรงจำยังไม่ใช่ขั้นปฏิบัติ แม้ปัญญาก็มีหลายระดับด้วย กว่าจะบรรลุก็ต้องอาศัยฟัง การสะสม และความเข้าใจ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมก็บรรลุ ตามการสะสม ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
tanrat
วันที่ 9 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
faar01
วันที่ 9 ธ.ค. 2557

ขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
j.jim
วันที่ 9 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pdharma
วันที่ 6 มี.ค. 2558

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 13 ต.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
mahabaramee
วันที่ 6 ก.ย. 2560

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ม.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร

ขอเชิญศึกษาพระธรรม...

รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์

พระไตรปิฎก

ฟังธรรม

วีดีโอ

ซีดี

หนังสือ

กระดานสนทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ