ความอยากมี อยากเป็น อยากได้ ทำให้ไม่รู้จักพอ
สิ่งที่ต้องระมัดระวังสำหรับคฤหัสถ์ คือ ความอยากมี อยากเป็น อยากได้ทำให้ไม่รู้จักพอ เช่น อยากได้ของที่เกินฐานะ ทำให้ต้องไปกู้ยืมจนเป็นหนี้เกินตัว ทำให้ต้องดิ้นรน เป็นทุกข์หรือเกิดการทุจริตได้ ควรเตือนตนไว้เสมอในความพอดี มีเศรษฐกิจพอเพียง คือ เพียงพอในการดำรงชีวิตด้วยสุจริตเลี้ยงสังขารนี้เพื่อศึกษาธรรม เจริญปัญญา สะสมความเห็นถูก มากขึ้นๆ เพื่อละกิเลส และเพื่อถึงที่สุด คือ ความหลุดพ้น ไม่ต้องเกิดอีก
คนที่ไม่มีทรัพย์แต่มีปัญญาประเสริฐกว่าคนที่มีทรัพย์แต่ไม่มีปัญญา อริยทรัพย์ ๗ มีแก่หญิงหรือชาย คนนั้นชื่อว่าไม่จน ทรัพย์ คือ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา หิริ โอปตัปปะ
ยังไงก็ตาม ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนก็ยังไม่รู้จักพอ เพราะยังหนาด้วยกิเลส และยังไม่ใช่พระอนาคามี แต่ไม่ใชว่าจะไม่ละคลายเลย เพราะเมื่อปัญญาเจริญมากขึ้นความละคลายก็จะเพิ่มมากขึ้นถึงแม้จะไม่ดับหมด แต่ก็น้อยลงตามระดับปัญญา ดังนั้น การอบรมบารมีในชีวิตประจำวันจึงเป็นสิ่งสำคัญ ควบคู่กับการเจริญสติปัฏฐานครับซึ่งเราจะต้องพิจารณาก่อนว่ากิเลสอะไรที่จะละเป็นอันดับแรก นั่นก็คือ ความเห็นผิดครับ แต่ข้อความพระธรรมจากพระไตรปิฎกก็ช่วยขัดเกลากิเลสทุกทาง ดังเช่นตัวอย่างที่จะยกมา แสดงให้เห็นว่า กาม หรือ รูป เสียง ... หรือ แม้ทรัพย์ กับ ปัญญาสิ่งใดประเสริฐกว่ากันครับ ลองอ่านดูนะ ไม่ยาว ครับ
ข้อความบางตอนจาก ...
กามชาดก
[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้าที่ 145
[๑๖๔๒] เมื่อยังระลึกถึงกามอยู่ตราบใด ก็ไม่ได้ ความอิ่มด้วยใจตราบนั้น ชนเหล่าใดบริบูรณ์ด้วย ปัญญา มีกายและใจหลีกเว้นจากกามทั้งหลาย เห็น โทษด้วยญาณ ชนเหล่านั้นแลชื่อว่าเป็นผู้อิ่ม
[๑๖๔๓] บรรดาความอิ่มทั้งหลาย ความอิ่มด้วย ปัญญาประเสริฐ เพราะผู้อิ่มด้วยปัญญานั้น ย่อมไม่ เดือดร้อนด้วยกามทั้งหลาย คนผู้อิ่มด้วยปัญญา ตัณหา ย่อมกระทำให้อยู่ในอำนาจไม่ได้
[๑๖๔๔] ไม่พึงสั่งสมกามทั้งหลาย พึงเป็นผู้มี ความปรารถนาน้อย ไม่มีความละโมบ บุรุษผู้มีปัญญา เปรียบด้วยมหาสมุทร ย่อมไม่เดือดร้อนด้วยกาม ทั้งหลาย
[๑๖๔๕] ช่างทำรองเท้าหนังเลี้ยงชีพ เมื่อประกอบรองเท้า ส่วนใดควรเว้นก็เว้น เลือกเอาแต่ส่วนที่ดีๆ มาทำรองเท้า ขายได้ราคาแล้ว ย่อมมีความสุข ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาด้วยปัญญาแล้ว ละทิ้งส่วนแห่งกามเสีย ย่อมถึงความสุข ถ้าพึงปรารถนาความสุขทั้งปวง ก็พึงละกามทั้งปวงเสีย
ส่วนข้อความที่ปุถุชนนั้นไม่รู้จักพอจะแสดงตัวอย่างในพระไตรปิฎกครับ
[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 53
ข้อความบางตอนจาก ...
รัชชสูตร
[๔๗๗] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะมารด้วยพระคาถาว่า ภูเขาทองคำล้วนมีสีสุกปลั่ง ถึง สองเท่าก็ยังไม่พอแก่บุคคลหนึ่ง บุคคล ทราบดังนี้แล้ว พึงประพฤติสงบ ผู้ใดได้ เห็นทุกข์มีกามเป็นเหตุแล้ว ไฉนผู้นั้นจะ พึงน้อมใจไปในกามเล่า บุคคลทราบอุปธิ ว่าเป็นเครื่องข้องในโลกแล้ว พึงศึกษา เพื่อกำจัดอุปธินั้นเสีย.
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรง รู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นนั่นเอง
อนุโมทนาค่ะ ขอบพระคุณมาก
เดี๋ยวนี้มีคำสอนลัดๆ ให้อยากไปนิพพาน รักพระนิพพาน จินตนาการว่าอยู่บนนิพพานอยากปฏิบัติเร็วๆ ไม่ต้องศึกษา อยากทำบุญเพื่อได้บุญเยอะๆ จะได้มีใช้ในอนาคต แก้กรรมไปวันๆ ดิฉันว่า ก็คงจะเป็นตัวตนตลอดไป ยืดเวลาสังสารวัฏฏ์ไปอีกยาวนาน