ขันติ

 
harji
วันที่  13 ธ.ค. 2557
หมายเลข  25892
อ่าน  6,504

อยากทราบว่าขันติ คือสภาพ ของ อโทสะ หรือ วิริยเจตสิก


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 13 ธ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขันติ คือ ความอดทน อดกลั้น ซึ่ง เจตสิก คือ อโทสเจตสิก ซึ่งขณะที่มีขันติความอดทน ไม่โกรธ ขณะนั้นเป็นจิตที่ดีงาม คือ เป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์ หรือ กุศลจิตก็ได้ ที่เกิดกับอโทสเจตสิก และ เจตสิกที่ดี ประการอื่นๆ มีศรัทธา เป็นต้น ขันติ ไม่ใช่ วิริยเจตสิก แต่เป็นอโทสเจตสิก ครับ

ขันติธรรม คือ สภาพธรรมที่อดทน อดกลั้น ด้วยกุศล ด้วยสภาพธรรมฝ่ายดี แต่ไม่ใช่ความอดทนด้วยอกุศลจิตครับ ขันติธรรมเป็นสภาพธรรม คือ อโทสเจตสิก ขันติธรรมมีหลายระดับ ทั้งความอดทน อดกลั้นด้วยกุศลจิต อดทนต่อความหนาว ความร้อน อดทนต่อความประทุษร้ายของผู้อื่น หรืออดทนต่อสิ่งต่างๆ ด้วยกุศลจิต และขันติโดยนัยสูงสุด ยังหมายถึง ปัญญา ที่เป็นวิปัสสนาญาณ ที่เป็นขันติญาณ อันเป็นการเห็นการเกิดดับของสภาพธรรม ที่เป็นแต่ละกลุ่มกลาปของสภาพธรรม ดังนั้น ทั้งความอดทน อดกลั้นด้วยกุศลจิต รวมทั้งปัญญาย่อมเป็นขันติธรรมทั้งสิ้น ขันติธรรมจึงมีหลายระดับตามที่กล่าวมาครับ

ดังนั้น ขณะใดที่จิตกระสับกระส่าย ดิ้นรนต่อสู้ ขณะนั้นไม่ชื่อว่าอดทน เพราะเป็นอกุศล จึงชื่อว่า กระสับกระส่าย มี โทสะ เป็นต้น แต่เมื่อขันติเกิด มีโสภณเจตสิก เกิดร่วมด้วย ขณะนั้นต้องเบา เพราะเบาด้วยเจตสิกที่ดีเกิดร่วมด้วย และเป็นกุศลจิต ขณะนั้นจะไม่กระสับกระส่ายเลย ครับ

ขันติธรรมจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการศึกษาพระธรรม อบรมปัญญา เพราะเมื่อปัญญาเจริญขึ้น ขันติ ความอดทนด้วยกุศลจิตก็เพิ่มขึ้น และเมื่อปัญญาเจริญถึงระดับวิปัสสนาญาณ ก็ทำให้ถึงขันติธรรมที่เป็นปัญญาระดับสูงที่เป็น ขันติญาณ ได้ครับ

ดังนั้น เพราะปัญญาความเห็นถูกเจริญ เกิดขึ้น ก็ทำให้กุศลธรรมประการต่างๆ มีขันติ เป็นต้นเจริญ เกิดขึ้นตามไปด้วยครับ เพราะฉะนั้น อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา ขันติก็เจริญ เกิดขึ้นครับ เพราะปัญญา วิชชา เป็นหัวหน้าของกุศลธรรมทั้งหลายครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 13 ธ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขันติธรรม (ความอดทน) ต้องเป็นไปในทางฝ่ายที่ดีงามเท่านั้น ความเป็นจริงของสภาพธรรมนี้แสดงไว้ว่า กุศลขันธ์ ที่มีอโทสะ เป็นประธาน ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง และที่สำคัญ ธรรม เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก่อนอื่นต้องเริ่มที่ความเข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรม ทุกขณะของชีวิตเป็นธรรม แต่ดูเหมือนจะไปหาว่าขณะไหนเป็นความอดทน ขณะไหนมีความอดทน แต่ความอดทนมีแล้ว เกิดแล้ว เป็นไปแล้วซึ่งก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม (เพราะรูปธรรมอดทนไม่ได้) เช่น อดทนที่จะไม่ว่าร้ายผู้อื่น อดทนที่จะไม่ทำร้ายผู้อื่น อดทนที่จะไม่กระทำทุจริตกรรมประการต่างๆ อดทนในการที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาไปตามลำดับเพราะพระธรรมเป็นเรื่องยาก ต้องมีความอดทนในการฟัง ในการศึกษาต่อไป เป็นต้น

ทั้งหมดนี้คือ ความอดทนในชีวิตประจำวัน ละเอียดยิ่งไปกว่านั้น คือ อดทนทั้งต่ออกุศล อดทนต่อผลของอกุศล นอกจากนั้นยังอดทนต่อผลของกุศลด้วย กล่าวคือ เมื่อได้รับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ อันเป็นผลของอกุศล และได้รับสิ่งที่น่าพอใจ อันเป็นผลของกุศล ก็อดทนที่จะไม่เป็นไปด้วยอำนาจของอกุศล ทั้งโทสะ และ โลภะ ซึ่งจะเห็นได้ว่าความอดทนเป็นธรรมเครื่องเผาบาปธรรม พร้อมทั้งเป็นธรรมที่ทำให้ถึงซึ่งฝั่ง คือ การดับกิเลส (บารมี) ที่ควรเจริญในชีวิตประจำวันเพื่อเกื้อกูลต่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมด้วย ซึ่งควรอย่างยิ่งที่จะได้เห็นคุณประโยชน์ของความอดทนในชีวิตประจำวัน พระธรรมควรค่าแก่การศึกษาและน้อมประพฤติปฏิบัติตามเป็นอย่างยิ่ง และพระธรรมจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลสำหรับผู้ศึกษาและน้อมประพฤติปฏิบัติตามเท่านั้นจริงๆ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 13 ธ.ค. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
tanrat
วันที่ 14 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
peem
วันที่ 14 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Chalee
วันที่ 15 ธ.ค. 2557

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 27 พ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
captpok
วันที่ 22 พ.ค. 2567

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ