ความซื่อสัตย์ ความสัจ ความจริงใจ ความสุจริต
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
@ แต่ละคำ มาจากภาษามคธี บาลี สันสกฤต ว่าอะไร
@ แต่ละคำ มีลักษณะ อาการ โดยสภาพธรรมะ เป็นประการใด
@ แต่ละคำ มีความต่างกันอย่างไร
@ กรุณายกตัวอย่าง ในพระไตรปิฎกที่ใช้คำเหล่านี้
@ กรุณายกตัวอย่าง ที่ท่านอาจารย์สุจินต์อธิบายถึงคำเหล่านี้
สาธุ อนุโมทนา และขอบพระคุณ เป็นอย่างยิ่ง สำหรับคำตอบค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ความซื่อสัตย์ ความจริงใจ ความสุจริต ก็มาจากภาษาบาลี ที่ว่า อุชุ ความตรงนั่นเองครับ ความจริงใจ มาจากภาษาบาลีว่า สจฺจ (สัจจะ) เป็นธรรมประการหนึ่งที่ส่งเสริมเกื้อหนุนให้กุศลธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นและเจริญขึ้น เพราะว่าบุคคลผู้ประกอบด้วยสัจจะย่อมเป็นผู้ที่จริงใจต่อการที่จะขัดเกลากิเลสของตนเอง ขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด แล้วเกิดระลึกขึ้นได้ว่า "เราพึงเป็นผู้มีความจริงใจต่อการเจริญกุศล" ก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้กุศลเกิดขึ้นได้
ฉะนั้น การที่จะละอกุศลทั้งหลายได้ ก็จะต้องเป็นผู้ที่มีความจริงใจพร้อมด้วยสติและสัมปชัญญะ ที่ระลึกรู้ลักษณะของอกุศลในขณะนั้น แล้วละ ซึ่งจะเป็นเหตุทำให้กุศลเจริญขึ้นได้
สัจจะ ซึ่งเป็นความจริงใจต่อการที่จะขัดเกลากิเลสนั้น เป็นบารมี (ธรรมที่ทำให้ถึงฝั่งแห่งพระนิพพาน) ประการหนึ่ง ตามความเป็นจริงแล้วจะเห็นได้ว่า ถ้าไม่มีความจริงใจต่อการที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย สิ่งนั้นก็จะสำเร็จไม่ได้ แม้แต่ในเรื่องของกุศลทั้งหลาย ก็เช่นเดียวกัน ทั้งในเรื่องของทานการให้ การสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น เรื่องของศีล ความประพฤติที่ดีงาม ทางกาย ทางวาจา ที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน การวิรัติ งดเว้น จากทุจริตประการต่างๆ เรื่องของภาวนา การอบรมความสงบของจิต และการอบรมเจริญปัญญา ก็จะต้องเป็นผู้ที่มีสัจจะ มีความจริงใจ มีความไม่คลาดเคลื่อนต่อการเจริญกุศลทุกๆ ขั้น ทุกๆ ประการ กุศลประการนั้นๆ จึงจะเกิดขึ้นและเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนั้นก็เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ครับ
[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 340
ข้อความบางตอนจาก
เมตตสูตร
ชื่อว่า ตรง (อุชุ) เพราะทำด้วยความไม่อวดดี ชื่อว่า ตรงดี (สุหุชู) เพราะไม่มีมายา หรือว่า ชื่อว่า ตรง เพราะละความคดทางกายและวาจา ชื่อว่าตรงดี เพราะละความคดทางใจ. หรือชื่อว่า ตรง เพราะไม่อวดคุณที่ไม่มีจริง ชื่อว่า ตรงดี เพราะไม่อดกลั้นต่อลาภที่เกิดเพราะคุณที่ไม่มีจริง. พึงชื่อว่าเป็นผู้ตรงและตรงดี ด้วยอารัมมณูปนิชฌาน (สมถภาวนา) และลักขณูปนิชฌาน (วิปัสสนาภาวนา)
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ประโยชน์ของการศึกษาพระธรรมคือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกและเข้าใจในภาษาของตนๆ ด้วย แม้ไม่สามารถทราบได้ว่าคำดังกล่าวนั้นมาจากภาษาบาลี ภาษาสันสกฤตว่าอย่างไร ก็ไม่ใช่อุปสรรคในการศึกษาพระธรรม เพราะนั่นไม่ใช่ภาษาของคนไทย จึงสำคัญที่ความเข้าใจจริงๆ ในคำที่กล่าวถึง
ความซื่อสัตย์ ความสัจจ์ ความจริงใจ ความสุจริต ล้วนแล้วเป็นคำที่แสดงถึงความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมฝ่ายดี คือ กุศลธรรมทั้งหลายนั่นเอง เพราะมีความซื่อสัตย์คือตรงต่อความถูกต้อง จึงไม่กระทำในสิ่งที่ผิด ไม่กระทำทุจริตกรรมประการต่างๆ ความสัจจ์ หรือ ความเป็นผู้จริงใจ ก็จริงใจต่อการที่จะสะสมความดี เพื่อขัดเกลากิเลส แม้การฟังพระธรรม ก็จริงใจที่จะฟังด้วยความตั้งใจ เพราะพระธรรมเป็นสิ่งที่ยาก ฟังเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น สำหรับ สุจริต นั้น คือ ความประพฤติที่ดีงามก็ครอบคลุมความดีทั้งหลายที่เกิดขึ้นเป็นไป ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...